ภาคต่อเจรจา...รัฐบาลคนกลาง กับเงื่อนไขที่ไม่ลงตัว

ภาคต่อเจรจา...รัฐบาลคนกลาง กับเงื่อนไขที่ไม่ลงตัว

คำประกาศกร้าว "ไม่เจรจา" ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. บนเวทีปราศรัยเมื่อวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.

ทำให้หลายคนเชื่อว่า "การเจรจา" ที่มีกระแสข่าวการปลุกปั้นและพยายามกันมา (ตามที่ลงตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ หน้า 2 เมื่อวันก่อน) ถึงวันนี้ได้ล้ม (ไม่เป็นท่า) ไปเสียแล้ว

แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ความพยายามในการขอเป็น "คนกลางเจรจา" ของบุคคลกลุ่มหนึ่งมีอยู่จริง และข้อเสนอก็ถูกนำไปเสนอต่อคู่ขัดแย้งหลักทั้งสองฝ่ายจริง โดยเฉพาะกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายยังยอมรับไม่ได้

การจะเรียกปรากฏการณ์ลักษณะนี้ว่า "เจรจาล่ม" ก็คงไม่ผิด แต่สำหรับ "คนวงใน" ที่รับรู้และเกี่ยวข้องกับโต๊ะเจรจาในบางมิติยังคงเชื่อมั่นว่า ถึงอย่างไรก็หนีการเจรจาไปไม่พ้น และการพูดคุยเจรจาครั้งใหม่น่าจะต้องเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เพราะ

1.ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เดินไปถึงจุดที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีจำนำข้าว จะเดินย้อนกลับมายาก

2.ทางเดินของทั้งสองฝ่ายจะแคบยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้นำรัฐบาลมีชะนักติดหลัง แต่ผู้สนับสนุนรัฐบาลจำนวนมากก็เชื่อว่าถูกองค์กรอิสระกลั่นแกล้ง ขณะที่ฝ่าย กปปส.ก็เอาชนะไม่ได้ เพราะฝ่ายรัฐบาลยืนอยู่บนหลักการที่เป็นทางการ ต่างประเทศให้การสนับสนุน และมีมวลชนพร้อมชน

3.สมมติฝ่าย กปปส.ได้รับชัยชนะ ก็จะชนะแค่เพียงระยะสั้น เนื่องจากไม่ได้เป็นกระบวนการประชาธิปไตยโดยแท้ และไม่ได้ยอมรับจากอีกฝ่ายหนึ่ง

4.ปัญหาเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่ากำลังเข้าสู่ภาวะลำบาก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อดังยอดตก ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ลดต่ำเป็นครั้งแรกในรอบไม่รู้กี่ปีของประเทศไทย หากไม่มีรัฐบาลบริหารประเทศอีกครึ่งปีหรือ 1 ปี บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร

ถามว่าข้อเสนอที่้ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ (อาจรวมถึงสุเทพด้วย) ไม่ยอมคืออะไร?

คำตอบต้องย้อนไปดู "ฉากทัศน์" ที่คณะเจรจาส่งสารไปนำเสนอ นั่นก็คือแม้จะมีความชอบธรรมเรื่องการเลือกตั้งและกระบวนการประชาธิปไตย แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีคดีรอชี้ขาดอยู่ในองค์กรอิสระ ซึ่งผลของคำชี้ขาดอาจส่งกระทบถึงขั้นอยู่ในประเทศได้หรือไม่

การมี "รัฐบาลคนกลาง" เป็นทางออกที่น่าสนใจ และเป็นหลักประกันหนึ่งว่าจะไม่ "โดนเช็คบิล"

ขณะที่ฝ่าย กปปส.ถ้าไม่ยอมลดข้อเรียกร้องลงเลย แล้วจุดจบของการชุมนุมจะอยู่ตรงไหน โอกาสชนะมีให้เห็นริบหรี่ ยังไม่นับรวมคดีความที่ถูกแจ้งข้อหาเอาไว้มากมายอีก

บทบาทสำคัญของผู้เกี่ยวข้องในวงเจรจาคือการชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์เหล่านี้ พร้อมๆ กับเสนอ "ซีนารีโอ" หรือ "ฉากทัศน์" ที่เป็นไปได้...

ภาพที่ดีที่สุด คือ ทุกฝ่ายยอมร่วมโต๊ะเจรจา โดยเฉพาะตัวแทนของคู่ขัดแย้งหลักอย่างรัฐบาลกับ กปปส. จากนั้นก็งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราโดยความเห็นชอบร่วมกัน เพื่อล้างไพ่ใหม่ทั้งหมด เรียกว่ายอมปรองดองกันแบบไทยๆ การหยุดใช้รัฐธรรมนูญบางหมวด หมายถึงการไม่ใช้กลไกปกติ แล้วให้ตัวแทนของทุกฝ่ายร่วมกันเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ไม่ใช่คนๆ เดียว หรือกลุ่มเดียว

ขั้นต่อไปของแนวทางนี้ ก็คือจะมี "รัฐบาลคนกลาง" หรือ "รัฐบาลเฉพาะกาล" ที่แต่ละฝ่ายยอมรับได้ องค์กรอิสระที่ถูกกล่าวหาจากฝ่ายหนึ่งว่าไม่ให้ความเป็นธรรมก็ต้องยุติบทบาท ซึ่งจริงๆ ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญปี 50 กรรมการบางองค์กรก็ควรจะต้องลาออก (เพราะดำรงตำแหน่งมาก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ) เพื่อเปิดทางให้มีการคัดสรรใหม่ตามรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ก็ยังอยู่ในตำแหน่งต่อมา ฉะนั้นก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะยุติบทบาท

ส่วนคดีที่คั่งค้างก็ต้องเขียนบทเฉพาะกาลให้มาเริ่มกระบวนการใหม่เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ เคยแสดงจุดยืนต่อสาธารณะหลายครั้งว่ายอมรับได้กับกระบวนการปกติ ไม่ใช่กระบวนการพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อเล่นงานตัวเขา

แต่ปัญหาของ "ฉากทัศน์" นี้ก็คือ

1.คู่ขัดแย้งหลักยังกังวลว่าถ้ายอม เกรงจะแพ้ทั้งกระดาน

2.ความขัดแย้งแบ่งขั้วในสังคมไทยมีมากเกินไป และแต่ละฝ่ายมีกองเชียร์ มีมวลชนจำนวนมาก คำถามคือ "ฉากทัศน์" แบบนี้ มวลชนยอมหรือเปล่า เพราะแต่ละฝ่ายจะต้องยอมทำในสิ่งที่สวนทางกับจุดยืนที่ตนเองเคยประกาศไว้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี "คนวงใน" ยืนยันว่าการเจรจายังไม่เรียกว่าล้ม เพราะเชื่อว่าถึงที่สุดก็ต้องกลับมาคุยกัน ด้วยแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจและเรื่องคดีความ

แต่ปัญหาคือ ถ้าช้าเกินไป หรือคุยผิดจังหวะ การเผชิญหน้าของแต่ละฝ่ายจะสูงขึ้น และอาจเกิดความรุนแรงที่ทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดแล้วก็ย่อมนำมาสู่การเจรจาตามสูตรแก้ปัญหาขัดแย้งเหมือนกับหลายๆ ประเทศทั่วโลกเขาทำกัน

แต่ผลก็คือ ความเสียหายที่ต้องใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะฟื้นคืน เพราะกว่าจะตกลงกันได้ต้องรอให้มีการฆ่ากันตายหรือมีสงครามกลางเมืองเสียก่อน!