ข้อสังเกตกรณีการรับจำนำ (ข้าว) กับสัญญาจำนำตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ข้อสังเกตกรณีการรับจำนำ (ข้าว) กับสัญญาจำนำตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ในช่วงเวลานี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า สิ่งที่เพิ่มอุณหภูมิหรือระดับความร้อนแรงทางการเมืองของประเทศไทยโดยเฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

คือ การที่บรรดาเกษตรกร (ชาวนา) ได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลชำระเงินค่าข้าว และคำที่ผู้อ่านคงต่างคุ้นเคยและได้ยินกันบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ คำว่า “การรับจำนำข้าว” และ “ใบประทวน” ดังนั้น ในวันนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอมุมมองหรือลักษณะสำคัญของ การรับจำนำ และใบประทวนสินค้าตามลักษณะทั่วไปที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.)

ตาม ปพพ. ลักษณะ 13 มาตรา 747 ได้วางหลักเกณฑ์ของการจำนำว่า เป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าลักษณะสำคัญของการจำนำ จะต้องประกอบด้วยมูลหนี้หลัก (หนี้ประธาน) และ สัญญาจำนำ (หนี้อุปกรณ์) และผู้จำนำตกลงนำสังหาริมทรัพย์ไปมอบให้แก่ผู้รับจำนำ (เจ้าหนี้) ยึดถือไว้เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ประธานดังกล่าว

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ คือ เมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งหากในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น มีปริมาณข้าวล้นตลาดซึ่งย่อมส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำ ดังนั้น หากเกษตรกรเกรงว่าเมื่อขายข้าว ณ ขณะนั้น อาจจะได้ราคาต่ำซึ่งอาจไม่คุ้มต้นทุน แต่หากไม่ขายข้าวก็อาจจะประสบกับสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้น กลไกที่จะช่วยเกษตรกรดังกล่าวคือ การที่เกษตรกร (ลูกหนี้) ไปกู้เงิน จากผู้ประกอบการกิจการโรงสี (เจ้าหนี้) โดยการนำข้าวไปจำนำไว้กับเจ้าหนี้เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าวนั้น

ท่านผู้อ่านคงเกิดคำถามว่า แล้วเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินแล้วเกษตรกรจะดำเนินการอย่างไร วิธีการโดยปกติคือ เกษตรกรจะต้องนำเงินตามสัญญากู้ไปคืนให้แก่โรงสี (ผู้ให้กู้/ผู้รับจำนำ) พร้อมกับรับคืนข้าวซึ่งเป็นหลักประกันในการชำระหนี้เพื่อไปดำเนินขายเองต่อไป ซึ่งหาก ณ ช่วงเวลาดังกล่าวราคาข้าวในท้องตลาดมีราคาสูงเกษตรกรก็จะมีรายได้มากขึ้นและไม่ขาดทุน

แต่ท่านผู้อ่านบางท่านอาจมีข้อสงสัยเพิ่มเติมว่า หากเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแล้ว เกษตรกรไม่มีเงินมาชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินแล้วผลจะเป็นอย่างไร กรณีนี้ ตาม ปพพ. มาตรา 764 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้รับจำนำ (โรงสี) ดำเนินการบังคับจำนำได้โดยการแจ้งเป็นหนังสือให้ลูกหนี้ (เกษตรกร) ให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ (เช่น ดอกเบี้ย หรือค่ารักษาทรัพย์ เป็นต้น) ภายในเวลาอันควร ซึ่งหากเกษตรกรไม่ปฏิบัติตาม ผู้รับจำนำก็สามารถที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายในการเอาข้าวออกขายโดยวิธีการขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ซึ่งหากข้าวที่ขายทอดตลาดนั้นได้เงินสุทธิเท่าใดก็นำมาจัดสรรชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมด หากมีเงินเหลือก็ให้คืนให้แก่เกษตรกร แต่หากไม่พอ ผู้รับจำนำก็ยังเรียกร้องให้เกษตรกรรับผิดชอบชำระส่วนที่ขาดได้ (มาตรา 767) กรณีดังกล่าวนี้เป็นขั้นตอนการปฏิบัติตามเรื่องการรับจำนำตาม ปพพ. โดยทั่วไป ซึ่งผู้เขียนเพียงหยิบยกเรื่องของเกษตรกรขึ้นมาเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย

ท่านผู้อ่านบางท่านคงมีข้อสงสัยเพิ่มเติมว่า ใบประทวน ที่มีการพูดถึงกันในขณะนี้คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรกับการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ในประเด็นนี้ตาม ปพพ. ลักษณะ 14 ได้มีบทบัญญัติให้บุคคลหนึ่งมีอาชีพในการเก็บรักษาสินค้า (โดยได้รับค่าตอบแทน) ต้องออกใบรับของคลังสินค้า และใบประทวนสินค้า (มาตรา 770, 775 และ 778) ให้แก่ผู้ฝาก ซึ่งเอกสารทั้งสองฉบับจะต้องมีลักษณะสำคัญหลายประการ ซึ่งสิ่งที่สำคัญประการหนึ่งคือ ต้องระบุสภาพของสินค้าที่เก็บรักษาและน้ำหนักหรือขนาดของสินค้า (มาตรา 778)

จากบทบัญญัติของ ปพพ. ตามที่ผู้เขียนได้หยิบยกมาดังกล่าวข้างต้น จึงอาจอธิบายได้ง่ายๆ ว่า เมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วมีการนำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคือ ข้าวไปฝากในคลังสินค้า เกษตรกรจะได้รับใบรับของคลังสินค้า และใบประทวนสินค้า เพื่อแสดงว่าเกษตรกรได้มีการนำข้าวเข้าไปฝากในคลังสินค้าตามที่กำหนด ซึ่งใบรับของคลังสินค้านั้นให้สิทธิแก่ผู้ฝากที่จะสลักหลังโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าไปเป็นของผู้อื่นได้ (มาตรา 776) และใบประทวนสินค้าถือว่าเป็นตราสารที่สามารถนำไปจำนำได้ (มาตรา 752) โดยการสลักหลังจำนำสินค้าไว้ในใบประทวนได้โดยไม่ต้องส่งมอบสินค้านั้นแก่ผู้รับสลักหลัง (มาตรา 777) ดังนั้น เกษตรกรสามารถที่จะใช้ใบประทวนสินค้าในการจำนำ โดยไม่จำเป็นต้องส่งมอบข้าวให้แก่ผู้รับจำนำ

จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายรับจำนำข้าวจากบรรดาเกษตรกรโดยให้ธนาคารที่กำหนดจ่ายเงินกู้ให้แก่เกษตรกรภายในระยะเวลาที่กำหนดนับแต่วันที่เกษตรกรนำใบประทวนไปจำนำนั้น ผู้เขียนมีข้อสังเกต 2 ประการ คือ (ก) กรณีกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับเงินกู้และจำนำใบประทวนครบถ้วนตามขั้นตอนแล้ว หากเกษตรกรไม่ชำระหนี้เงินกู้คืน หากพิจารณาตาม ปพพ. จะต้องมีการบังคับจำนำ คือรัฐบาลต้องนำข้าวไปจำหน่าย และหากได้รับเงินต่ำกว่าจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่เกษตรกรในตอนแรก เกษตรกรจะต้องรับผิดชอบชำระในส่วนที่ต่ำกว่าตาม มาตรา 767 ตามที่กล่าวมาข้างต้นหรือไม่ และ (ข) กรณีกลุ่มเกษตรกรที่มีการยื่นขอจำนำใบประทวนแต่ยังไม่ได้รับเงินจากธนาคารที่รัฐบาลกำหนด เกษตรกรมีสิทธิตามกฎหมายอย่างไร จะถือว่าใบประทวนสินค้าเป็นหลักฐานที่แสดงว่า เกษตรกรได้มีการจำนำข้าวเพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องจ่ายเงินกู้ให้แก่เกษตรกร หรือจะถือว่าใบประทวนเป็นหลักฐานที่แสดงว่า เกษตรกรได้มีการขายข้าวให้แก่รัฐบาลแต่ยังไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้า

สิ่งหนึ่งผู้เขียนมีความมั่นใจคือ ไม่ว่าจะมีการตีความว่า นิติกรรมที่ทำขึ้นระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเกษตรกรจะเข้าลักษณะสัญญาทางกฎหมายประเภทใดก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลไม่อาจปฏิเสธได้คือ การที่จะต้องตอบแทนหรือเยียวยาความเสียหายและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรที่ออกมาเรียกร้องในขณะนี้ค่ะ

พบกันใหม่ในโอกาสหน้านะคะ

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่