ความชอบธรรมของผู้นำกับพลังเงียบของ "ไทยเฉย"

ความชอบธรรมของผู้นำกับพลังเงียบของ "ไทยเฉย"

แม้การเลือกตั้งจะปิดฉากไปอย่างไม่เป็นทางการ พร้อมกับการนับคะแนนหน้าคูหาของการทำหน้าที่ที่พอจะเป็นไปได้ของกกต.ในแต่ละพื้นที่

แต่พี่น้องประชาชนคนตาดำๆ ยังคงไม่สามารถมองเห็นความชัดเจนของสิ่งที่บรรดาท่านผู้นำและแกนนำทั้งหลายจะนำพาเราไป เส้นทางนี้ยังคงขรุขระ เต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงและไร้ความแน่นอน ประหนึ่งการเดินบนท้องถนน กทม. ที่ไม่รู้ว่าเราจะตกท่อ สะดุดพื้น ชนเสา หรือโดนประทัดยักษ์ตายกันไปเมื่อไหร่

สภาพสุญญากาศของฝ่ายบริหารที่ค้างเติ่งอยู่ตามคูหาเลือกตั้งในแบบนี้ ท้ายสุดกลายเป็นสิ่งที่แต่ละขั้วทางการเมืองต่างโทษกันไปมาว่าฝั่งตรงข้ามเป็นต้นเหตุของปัญหา พร้อมกับเอาผลจากตัวเลขของการโหวตเลือก โหวตโน หรือโนโหวต มาตีขลุมเพื่อประกาศให้รู้ว่าพี่น้องประชาชนได้เลือกที่จะอยู่ฝ่ายตนมากกว่ายึดมั่นแนวทางของฝ่ายตรงข้าม

จากการแถลงผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของเลขาธิการ กกต. ระบุให้เห็นว่าจากประชาชนทั่วประเทศกว่า 44 ล้านคนที่มีสิทธิในการลงคะแนนเสียง ปรากฏว่ามีผู้ออกไปใช้สิทธิประมาณ 20 ล้านคน โดยคิดเป็น 45.84% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลของอาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ได้ระบุว่า 23.68% ของ 44 ล้านคนที่ไม่ยอมออกมาโหวต ก็เนื่องด้วยเหตุแรงจูงใจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการยึดมั่นในแนวทางของ กปปส. การห่วงสวัสดิภาพความปลอดภัยของตน รวมไปถึงกลุ่มที่ออกมาแล้วแต่ไม่สามารถเข้าไปใช้สิทธิได้ ซึ่งเมื่อมาผนวกกับกลุ่มที่ออกมาใช้สิทธิแต่เลือกที่จะโหวตโนและทำบัตรเสียอีก 28.66% ของคนมาโหวตทั้งหมด ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะแม้คนบางกลุ่มจะเห็นด้วยกับการรักษากลไกการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่ในใจลึกๆ ก็ยังไม่เห็นถึงความเหมาะสมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในการได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศ

การประกาศเคลมชัยชนะของแต่ละฝ่ายอย่างกึกก้องตามหน้าสื่อต่างพบเห็นได้ถึงอาการหวั่นๆ จากผลตัวเลขการโหวตที่ออกมา เพราะในขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ได้พบว่าการโหวตโนและโนโหวตมีจำนวนมากอย่างก้าวกระโดด ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลแล้ว ในทางกลับกันฝ่ายของลุงกำนันที่รณรงค์ให้งดการใช้สิทธิเลือกตั้งเองก็ต้องหงายเงิบไปกับผลของผู้ออกไปใช้สิทธิซึ่งยังคงมีอยู่มากพอควร ทั้งนี้ด้วยผลแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่เด็ดขาดว่าประชาชนคนไทยเลือกที่จะยืนอยู่ข้างฝ่ายใดนี้เองทำให้เกิดอาการ "ปากกล้าขาสั่น" ของบรรดาแกนนำในการที่จะใช้เสียงพี่น้องประชาชนเป็นตัวการันตีชัยชนะของตน

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งเป็นเพียงต้นทางอันได้มาซึ่งความชอบธรรมทางการเมืองในการเข้าสู่อำนาจตามรูปแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งมีกลไกการนับคะแนนแปลงเสียงสนับสนุนของประชาชนให้ออกมาเป็นเชิงปริมาณ เพื่อชี้วัดสรรพกำลังของคนสนับสนุนฝ่ายตน ในขณะที่ความชอบธรรมทางการเมืองเพื่อการดำรงอยู่ในอำนาจอย่างมั่นคงยังต้องประกอบด้วยผลงานและพฤติกรรมที่สอดคล้องกับกฎหมาย ศีลธรรม วัฒนธรรมและประเพณี โดยในส่วนนี้อาจต้องวัดกันด้วยข้อมูลเชิงคุณภาพ อันมาจากการตรวจสอบของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงประชาชนคนเดินถนนด้วย

ปรากฏการณ์ของการคัดง้างทางอำนาจระหว่างขั้วการเมืองที่ไม่มีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยฝั่งหนึ่งอ้างประชาธิปไตยเชิงปริมาณ ในขณะที่อีกฝั่งอ้างประชาธิปไตยเชิงคุณภาพ ชนิดที่ต่างคนต่างมีเหตุผลที่กินกันไม่ลง มันก็เลยเป็นสองนคราประชาธิปไตยที่นับวันยิ่งเลยเถิดไปสู่การใช้เทคโนโลยีสื่อเป็นฐานในการเข้าถึงมวลชน ทั้งนี้หลักๆ ก็เพื่อที่จะปลุกอารมณ์ของคนให้ยอมกันไม่ได้ หากขัดกันก็มีแต่ตายกับตายเท่านั้น

ดังนั้น ท่ามกลางการเมืองแยกขั้วที่ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ คนหมู่มากที่เป็น "ไทยเฉย" จึงกลายเป็นพลังเงียบของกลุ่มคนกลางๆ ที่มวลชนของแต่ละฝ่ายต่างผลัดกันยื้อยุดฉุดมาอ้าง เพื่อสร้างความชอบธรรมในฝั่งของตน โดยในบรรดาไทยเฉยเหล่านี้ หลายคนคือคนที่ไม่เลือกข้าง หลายคนคือคนที่มีสองสีในคนเดียวกัน หลายคนคือคนที่ไปชุมนุมทางการเมืองแต่ก็ยังเลือกที่จะไปเลือกตั้ง หลายคนได้ตายด้านทางการเมืองไปแล้ว ในขณะที่หลายคนคือคนที่แม้จะศรัทธาในประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้มองว่าการพลีชีพทางการเมืองคือทางออกที่จะได้ประชาธิปไตยในวันนี้ พรุ่งนี้

แม้กลุ่มไทยเฉยจะถูกประณามหยามเหยียดว่าไม่รักชาติ ไม่อินังขังขอบกับการเมือง แต่คนกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ ที่ชี้ชะตาของประเทศ เป็นกลุ่มที่ฟังมากกว่าพูด และใช้ความเงียบสร้างความชอบธรรมให้กับตนในการตรวจสอบและถ่วงดุลผู้นำและแกนนำเมื่อมีโอกาส โดยคนเหล่านี้รู้ดีว่า ด้วยพลังของความเงียบมันสามารถสยบความเคลื่อนไหว ความคลุ้มคลั่ง และความรุนแรงได้

การเลือกตั้งที่ผ่านมา พลังเงียบ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสะท้อนเสียงตนเองให้ผู้นำและแกนนำได้รู้ว่า ชัยชนะที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยการเร้าอารมณ์ทางการเมืองคือสิ่งที่ไม่ยั่งยืน และหลายเสียงต่างเห็นพ้องกันว่า ระบอบประชาธิปไตยจะอยู่ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการยืนหยัดของพลเมืองทุกคนที่พร้อมจะเชื่อมั่นในขื่อแปของบ้านเมืองที่ไม่เลือกปฏิบัติในแบบหลายมาตรฐานตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

พลังเงียบของคนกลุ่มนี้เอง คือตัวตัดสินความชอบธรรมทางการเมืองของแกนนำและผู้นำ