กสทช.ปลดเกียร์ว่างหรือรอความหวังจากทีวีดิจิทัล?

กสทช.ปลดเกียร์ว่างหรือรอความหวังจากทีวีดิจิทัล?

ปกติบทความในคอลัมน์นี้จะเขียนออกแนววิชาการ แต่วันนี้ผู้เขียนขออนุญาตเปลี่ยนแนวเป็นศิราณีตอบข้อข้องใจของลูกศิษย์คนหนึ่งซึ่งเขียนมาถามใน inbox

ของเฟซบุ๊คผู้เขียนเกี่ยวกับสถานการณ์การสื่อสารในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในปัจจุบันดูบ้าง

ลูกศิษย์คนนี้มีตัวตนจริงๆ เธอเรียนจบไปจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว พื้นเพมาจากจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศ เนื้อหาคำถามของเธอได้ผ่านการบรรณาธิกรณ์เล็กน้อยเพื่อความเหมาะสมในการตีพิมพ์ ดังนี้

คำถามที่ 1 : “อาจารย์คะ หนูมีเรื่องสงสัยอยากถามค่ะ กสทช. มีหน้าที่ต้องกำกับดูแลพวกเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชนใช่ไหมคะ หนูกลับต่างจังหวัดเห็นชัดเลยว่าสื่อพวกนี้มีอิทธิพลกับชาวบ้านมาก มอมเมาล้างสมองกันไปหมด หนูหมายถึงทุกสีเลยนะคะ ทั้งแดง เหลือง ฟ้า แต่ละช่องเสนอข่าวเอาอารมณ์ เสนอแต่เรื่องดีตัวเอง ด่าสีอื่น ช่อง… (เซนเซอร์โดยผู้เขียน) หนักหน่อยตรงที่บิดเบือนความจริงทุกอย่าง คนแถวบ้านหนูยังพูดอยู่เลยว่าอภิสิทธิ์สั่งเผาเมืองและเต้นกับตู่บริสุทธิ์ กับรัฐบาลไม่ได้โกงข้าวน่ะค่ะ หลักการของการเปิดให้มีเคเบิลทีวีกับทีวีดาวเทียมอย่างเสรี นี่รวมถึงการกำกับดูแลเรื่อง ความถูกต้องเท็จจริงของเนื้อหามั้ยคะ หรือว่าจริงๆ แล้วใครจะเสนออะไรก็ได้แล้วให้เป็นวิจารณญาณของผู้ชมเอง”

ตอบคำถาม : “ใช่ค่ะ เป็นหน้าที่กสทช. โดยบอร์ดเล็กที่ชื่อว่ากสท.หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 5 คน ในส่วนของเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมจัดอยู่ในกิจการประเภทไม่ใช่คลื่นความถี่ซึ่งจะแตกต่างจากโทรทัศน์ภาคพื้นดินที่ต้องออกอากาศโดยอาศัยการจัดสรรคลื่นความถี่จาก กสทช. อย่างช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ ไทยพีบีเอสซึ่งเป็นช่องหลักหรือฟรีทีวีค่ะ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือขอบเขตการกำกับดูแลของกสท.ค่ะ อย่างเรื่องของการกำกับดูแลเนื้อหา กสท.ก็มีหน้าที่กำกับดูแลตามอำนาจในมาตรา 37 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกรอบห้ามไม่ให้ผู้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ที่ออกโดยกสทช.ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ กสท.มีอำนาจสั่งด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือให้รับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้สอบสวนข้อเท็จจริงได้

เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นนะคะว่า หากกสท.หรือกสทช.ตีความว่า “ความถูกต้องเท็จจริงของเนื้อหา” ซึ่งเป็นประเด็นที่หนูถามมาเข้าข่ายที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่ใกล้เคียงและชัดเจนที่สุดแล้ว ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มีการปลุกระดมสร้างความเกลียดชังด้วยข้อมูลที่บิดเบือน และมุ่งทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างในปัจจุบันนี้ กสท.ก็คงมีการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งกับสถานีที่มีการออกอากาศในรูปแบบนี้ไปแล้ว เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีการวินิจฉัยและตัดสินลงโทษผู้ประกอบการโดยอาศัยความตามมาตรา 37 ไปแล้วสองสามราย ซึ่งทั้งหมดถูกลงโทษในฐานความผิดในเรื่องลามกอนาจารกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีค่ะ ไม่ว่าจะเป็นกรณีรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ทางไทยทีวีสีช่อง 3 รายการปากโป้งทางช่อง 8 ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมของอาร์เอสทีวี และ การ์ตูนเคนจิโร่ ของช่องรายการ “Gang cartoon” ของบริษัทโรสมีเดีย

เท่าที่ทราบนะคะ ก็มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโทรทัศน์ดาวเทียมใส่เสื้อสีซึ่งเป็นสื่อการเมืองในทำนองที่หนูถามเข้ามานี้เข้าสู่การพิจารณาอยู่เนืองๆ เข้าใจว่ากสทช.ก็เหมือนกับทุกองค์กรของรัฐตอนนี้ที่อยู่ในสถานะลำบาก เพราะโดนบีบจากทั้งสองขั้วอำนาจทางการเมืองซึ่งกำลังปะทะกันอยู่ ยิ่งมีกรณีของทีวีดาวเทียมอย่างบลูสกายซึ่งเป็นฝั่งต่อต้านรัฐบาล กับ บริษัทชินแซทเทิลไลท์ผู้ประกอบการดาวเทียมไทยคมซึ่งผูกพันกับครอบครัวของนายกรัฐมนตรีมาเป็นคู่ขัดแย้งกัน กลทช.ก็คงเห็นว่าเข้าเกียร์ว่างไว้ก่อนน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพราะในประเด็นเนื้อหาทางการเมือง หากวินิจฉัยไม่ถูกใจฝ่ายไหน ก็อาจจะนำภัยมาสู่สำนักงานกสทช.ได้ค่ะ เพราะฉะนั้นตอนนี้ ผู้บริโภคสื่อก็ต้องอาศัยวิจารณญาณส่วนบุคคลเป็นแสงนำทางล่ะค่ะ ซึ่งปัญหาก็คือ แต่ละคนก็มีต้นทุนตรงนี้ไม่เท่ากัน เพราะสังคมไทยไม่เคยส่งเสริมและให้การศึกษาเรื่องการรู้เท่าทันสื่อเพื่อเป็นพื้นฐานให้เกิดการคิดเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับสื่อ แต่ตามกฎหมาย ก็มีการระบุให้เรื่องการสร้างการรู้เท่าทันสื่อเป็นภารกิจหนึ่งในอำนาจหน้าที่นะคะ จริงๆ ระหว่างใส่เกียร์ว่างด้านเนื้อหาการเมือง ก็อาจจะจัดสรรทรัพยากรมาทางด้านนี้ได้บ้างนะคะ”

คำถามที่สองมาจากลูกศิษย์คนเดิม (เธอเป็นคนเจ้าปัญหาค่ะ)

คำถามที่ 2 : “ปัญหาคือชาวบ้านอยากติดตามข่าวการเมืองค่ะ แต่ฟรีทีวีมีแต่รายการเกมโชว์กับละคร ช่องสามช่องเจ็ดเข้าถึงคนมากกว่า แต่ไม่มีเนื้อหาที่เค้าอยากเสพ สุดท้ายก็ไปจบที่ช่องสีต่างๆ แล้วก็รับข้อมูลจริงบ้างไม่จริงบ้าง ปลุกปั่นอารมณ์กันไป อีกเรื่องคือ ผู้คนที่เค้าไม่ได้เข้าถึงข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ก็ต้องรับข้อมูลจากทีวีอย่างเดียว ทีนี้พวกข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์เค้าก็เลยไม่มีโอกาสได้รู้ อย่าง infographics เรื่องโกงจำนำข้าวล่าสุด ที่หนูไม่เห็นมีทีวีช่องไหนนำเสนอเลย คำถามคือ ถ้ามีข้อมูลชัดๆ เกี่ยวกับการโกงแบบนี้ ทำไมถึงไม่ได้ออกอากาศคะ จริงๆ สื่อต้องเป็นคนตรวจสอบนักการเมืองใช่มั้ยคะ หนูว่าถ้ามีคนทำคลิปสรุปการโกงของทักษิณ ของสุเทพ หรือของนักการเมืองคนอื่นๆ มันก็ควรจะได้ออกฟรีทีวีนะคะ”

คำตอบ : “ในปัจจุบัน ฟรีทีวีโดยโครงสร้างยังผูกพันอยู่กับอำนาจรัฐอย่างแนบแน่นค่ะ ทั้งในแง่ของกรรมสิทธิ์คลื่น การอุดหนุนและการควบคุมเนื้อหา เพราะฉะนั้นบทบาทสื่อที่จะตรวจสอบแบบ "หมาเฝ้าบ้าน" ที่เราเคยเรียนกันในตำรามันจึงไม่อาจเกิดได้ เพราะหมาย่อมไม่ได้ถูกฝึกมาให้เห่าหรือจิกกัดเจ้าของบ้านหรือผู้ที่ให้พื้นที่ให้มันอาศัยหากินได้ แม้แต่โทรทัศน์ที่ประกอบการโดยเอกชนอย่างช่อง 3 หรือช่อง 7 ต่างก็ได้สัมปทานระยะยาวจากองค์กรในภาครัฐ คือ อสมท.ซึ่งอดีตเป็นรัฐวิสาหกิจ และ กองทัพบกตามลำดับ ทำให้ไม่อยากสร้างความเสี่ยงทางธุรกิจด้วยการไปนำเสนอเนื้อหาที่อาจไม่เป็นผลดีกับผู้ที่อยู่ในอำนาจรัฐ เราก็เลยได้แต่เห็นการนำเสนอเนื้อหาประเภทข่าวสารแบบระมัดระวังและเนื้อหาประเภทบันเทิงไร้นัยทางการเมืองใดๆ เพราะเป็นแนวทางที่พิสูจน์แล้วตลอดมาว่าปลอดภัยที่สุดค่ะ

ครูก็ขอสรุปว่า ถ้าหนูอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ไทยตามประเด็นที่หนูถามมาก็คงต้องรอจนกว่า กสทช.จะปลดเกียร์ว่างได้และอาจต้องรอดูทีวีดิจิทัลช่องใหม่ๆ ว่าจะสร้างความแตกต่างอะไรได้บ้าง เท่าที่เห็นรายชื่อที่ผ่านประมูลทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจตอนนี้ ก็ต้องบอกว่าหนูคงหวังอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากมีผู้ประกอบการฟรีทีวีรายเดิมๆ อยู่หลายราย มีหลายรายที่ย้ายฐานจากแพลทฟอร์มดาวเทียมมา และบางรายที่มาจากแพลทฟอร์มสิ่งพิมพ์และข้ามห้วยมาจากโทรคมนาคมเลยก็มี ก็คงต้องรอดว่าจะเป็นความหวังใหม่ของคนดูทีวี หรือเป็นเพียง “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ค่ะ”