หน้าต่างแห่งโอกาส

หน้าต่างแห่งโอกาส

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. ได้ทำการสำรวจการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาประจำปีของภาคเอกชนไทย

เพื่อการค้นคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ประกอบกับการพัฒนาสินค้าและบริการที่จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากๆ ทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ พบว่ามีสัญญาณความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมากและเป็นความหวังว่าประเทศไทยจะมีโอกาสพัฒนาตนเอง โดยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น

สัญญาณดังกล่าวแวบขึ้นมาจากตัวเลขการสำรวจล่าสุดของ สวทน. แต่เดิมมาภาคเอกชนไทยมีการลงทุนเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการโดยยกระดับการผลิตด้วยเทคโนโลยีและระบบการผลิตให้ทันสมัยไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเทคโนโลยี พูดง่ายๆ คือซื้อความรู้จากต่างประเทศเข้ามาเฉยๆ ตกปีละกว่าแสนห้าหมื่นล้านบาท ทำให้เม็ดเงินการพัฒนาเทคโนโลยีเองมีไม่มากเพียงพอที่จะเป็นผู้ผลิตหรือผู้ค้าระดับแนวหน้าของโลกได้ ที่แล้วมาสถิติการใช้จ่ายในการวิจัยของภาคเอกชนตกปีละประมาณแปดพันถึงหนึ่งหมื่นล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 45 ของวงเงินใช้จ่ายในการวิจัยของทั้งประเทศ

ในการสำรวจล่าสุดพบว่าเอกชนมีความตื่นตัวในการสร้างความรู้เพื่อพัฒนาตนเองมากยิ่งขึ้น ในวงเงินใช้จ่ายที่ประมาณ 21,200 ล้านบาท เกือบเท่าตัวของการลงทุนที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกที่มีการลงทุนในการวิจัยสูงกว่าภาครัฐ จุดเปลี่ยนดังกล่าวหมายถึงการที่เราจะต้องฉกฉวยโอกาสนี้ในการสนับสนุนเอกชนแรงๆ ให้ทำการวิจัยนวัตกรรมมากยิ่งขึ้นอีก โดยมีเป้าหมายว่าท้ายที่สุด เอกชนจะลงทุนมากกว่าภาครัฐในการวิจัยในอัตรา 70 ต่อ 30 นำไปสู่การลงทุนวิจัยทั้งประเทศที่ 1% ของมวลรวมประชาชาติ หรือ GDP นั่นเอง ในเชิงเม็ดเงินหมายถึงประมาณ 90,000 ล้านบาทที่เอกชนจะต้องพยายามไปให้ถึง ในขณะที่ภาครัฐสามารถลงทุนวิจัยสร้างความรู้โดยใช้เม็ดเงินราว 40,000 ล้านบาท หากใช้ฐาน GDP ของประเทศที่ 13 ล้านล้านบาท

ในวงเงินสองหมื่นกว่าล้านบาทที่ภาคเอกชนไทยใช้จ่ายในการวิจัยนั้น เมื่อรวมกับประมาณการการใช้จ่ายในการวิจัยของภาครัฐที่สภาวิจัยแห่งชาติกำลังสรุปตัวเลขอยู่นั้น สถิติล่าสุดของการลงทุนในการวิจัยของทั้งประเทศอาจจะตกอยู่ในราว 0.37% ของ GDP ซึ่งแม้จะยังเป็นตัวเลขที่ห่างไกลจาก 1% แต่เป็นการขยับขึ้นจากตัวเลขเดิมที่นิ่งอยู่แถว 0.2% หรือ 0.25% ของ GDP มาตลอดหลายทศวรรษ แต่เป็นกำลังใจที่สำคัญว่าประเทศกำลังวิ่งไปในแนวทางที่ก้าวหน้า พัฒนาและพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น นำไปสู่เป้าหมายของการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่เป็นรูปธรรม

ในบรรดาการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี และการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาสู่การประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์นั้น สวทน.ได้แยกแยะตามสาขาอุตสาหกรรม นำโดย อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร ปิโตรเลียม เครื่องจักรกล ยางพลาสติก ยานยนต์ และไฟฟ้า ในมูลค่าตั้งแต่ 3,630 ล้านบาทของเคมี ไปจนถึง 722 ล้านบาทของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการกระจายตัวในการวิจัยของภาคเอกชนนั้นยังไม่ดีนัก โดย สวทน. พบว่าการลงทุนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในส่วนกลาง คือร้อยละ 55 และร้อยละ 42 เป็นการใช้จ่ายวิจัยในกรุงเทพฯปริมณฑล และกลุ่มจังหวัดในภาคกลาง ที่เหลือแบ่งกันไปคนละเล็กคนละน้อยในภาคเหนือ ใต้ อีสาน เป็นสถิติที่บ่งบอกเราอย่างชัดเจนว่า การกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคยังต้องพัฒนาอีกมาก

ในประเด็นหลังนี้ โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคจะเป็นหลักที่ดีในการกระจายความเจริญทางเทคโนโลยี ปัจจุบันอุทยานดังกล่าวมีอยู่ทั้งสามภาค โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพหลัก ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น ที่สำคัญคือเป้าหมายในระดับภูมิภาคไม่จำเป็นต้องเหมือนกับส่วนกลาง ทางภาคเหนือตั้งใจจะส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการเกษตร หัตถกรรม การแพทย์ ในขณะที่อีสานจะเน้นที่อาหารแปรรูป อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานทางเลือก และภาคใต้เน้นอาหารทะเล เครื่องสำอางจากพืชและสมุนไพร และยางพารา เป็นต้น

การส่งเสริมเอกชนให้เก่งขึ้นทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้นมีหลายวิธี เท่าที่ได้สัมผัสกับความต้องการของผู้ประกอบการ พบว่ามีความต้องการให้รัฐช่วยเหลือทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นปกติวิสัยของรัฐบาลทั่วโลกมากบ้างน้อยบ้าง นับตั้งแต่การหักลดหย่อนทางภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ หากแจกแจงการใช้จ่ายวิจัยในบัญชีของบริษัทให้ชัดเจน ซึ่งปัจจุบัน สวทน. ร่วมกับ สวทช. กำลังทำรายละเอียดปรับการสนับสนุนเพิ่มเป็นร้อยละ 300 จากที่ให้อยู่ที่ร้อยละ 200 ในปัจจุบัน นอกจากนี้ก็ยังสามารถรับการสนับสนุนด้านนวัตกรรม การพัฒนาทักษะแรงงาน และการพัฒนาเทคโนโลยีได้จากบีโอไอ โดยสามารถขยายสิทธิประโยชน์ได้ตั้งแต่ 1 ถึง 3 ปีหากเข้าเกณฑ์ที่บีโอไอได้ตั้งไว้

เอกชนยังต้องการกำลังคนระดับสูงจำนวนมากเพื่อสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยในรูปแบบต่างๆ ซึ่ง ณ วันนี้ยังไม่สามารถหาได้ ส่วนหนึ่งเพราะประเทศเราขาดแคลนนักวิจัยในบางสาขา แต่ที่น่าเสียดายคือเรามีนักวิจัยแต่อยู่คนละที่คนละทาง หากันไม่เจอ ซึ่งในกรณีนี้ ทาง สวทน. ก็กำลังจะสนับสนุนผ่านโครงการใหม่เอี่ยมที่เรียกว่า Talent Mobility ที่จะเอื้อให้อาจารย์มหาวิทยาลัยหรือนักวิจัยของภาครัฐสามารถไปทำงานกับเอกชนได้อย่างเต็มที่ ถือเป็นการปฏิบัติราชการเต็มเวลา และเป็นการชดใช้ทุนในกรณีเป็นนักเรียนทุน บางมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยได้เริ่มเดินเครื่องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ สวทช. หน่วยงานอื่นที่สนใจสามารถติดต่อ สวทน. ได้ตั้งแต่บัดนี้ เพื่อทราบถึงแนวทาง เกณฑ์ที่อ้างอิงได้ และวิธีการปฏิบัติครับ