อนาคตบ้านเมืองในมือประชาชน

อนาคตบ้านเมืองในมือประชาชน

บ้านเมืองของเรากำลังอยู่ในยุค "ความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา" โดยเฉพาะช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง จะยิ่งเห็นชัด

พวกที่ทุบตีกันก็ทุบตีไป ที่ยิงกันก็ยิงไป ปาระเบิดกันก็ปาไป พวกที่พลั้งพลาดจนตายก็ตายไป แทบไม่มีใครสนใจ แทบไม่มีใครรับผิดชอบ

ฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุมก็เดินหน้าชุมนุมต่อ ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ได้แสดงท่าทีจะแก้ไขป้องกันอะไร มีแต่คำแถลงว่าได้ทุ่มกำลังตำรวจไปตรงนี้ตรงนั้น ตั้งด่านอย่างนั้นอย่างนี้ แต่วันรุ่งขึ้นก็มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำอีก

หลายกรณีตำรวจยังไม่ได้เริ่มตั้งเป็นคดีเสียด้วยซ้ำ!

ย้อนไปดูคดียิง สุทิน ธราทิน แกนนำ กปท. (กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ) จนเสียชีวิตเมื่อวันเลือกตั้งล่วงหน้า 24 ม.ค. หลังจัดกิจกรรมคัดค้านการเลือกตั้งที่วัดศรีเอี่ยม เขตบางนา พิจารณาจากคลิปวีดีโอที่บันทึกภาพกันจะพบว่า ฝ่ายที่มาฆ่าคือจงใจมาฆ่า เพราะไม่ได้มีการทะเลาะวิวาท ไม่ใช่กลุ่มที่จะไปเลือกตั้ง หรือไม่พึงพอใจที่ไปจัดกิจกรรมคัดค้านการเลือกตั้ง

ทั้งๆ ที่สถานการณ์ตึงเครียดแบบนี้ แต่ก็ดูเหมือนตำรวจจะไม่ได้เร่งทำคดีเป็นกรณีพิเศษ ล่าสุดทราบว่าไปติดต่อนิติบุคคลอาคารชุดแห่งหนึ่งใกล้ๆ จุดเกิดเหตุ เพื่อตามหาคนถ่ายคลิปวีดีโอจากบนตึกนั้นขณะเกิดเหตุการณ์

มีการนำป้ายข้อความแจ้งให้ผู้ถ่ายคลิปไปพบตำรวจ ติดไว้เต็มคอนโดฯ...ผ่านมา 1 สัปดาห์คดีคืบหน้าไปแค่นี้

คดียิงสุทิน คงไม่ต่างอะไรกับเหตุรุนแรงเมื่อวานนี้ (1 ก.พ.) ที่หลักสี่ เพราะเพียง 1 วันก่อนหน้านั้นได้มีการแจ้งเตือนในที่ประชุมศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ว่าน่าจะมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้น แต่ทั้ง ศรส. และฝ่ายตำรวจก็ดูจะไม่ได้เตรียมการรับมืออะไร สุดท้ายก็เกิดเหตุปะทะที่มีผู้คนบาดเจ็บหลายราย เป็นความรุนแรงก่อนถึงวันเลือกตั้งเพียง 1 วัน

สมัยก่อนมีคืนหมาหอน แต่สมัยนี้กลายเป็นเสียงหอนของหวอรถพยาบาล...

รัฐบาลก็ยังเดินหน้าเลือกตั้ง แกนนำ กปปส.ก็ยังเดินหน้าชุมนุม พวกจุดเทียนสนับสนุนเลือกตั้ง ไม่เอาความรุนแรงก็จุดกันต่อไป ทั้งๆ ที่ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นในวันเลือกตั้งล่วงหน้า และก่อนวันเลือกตั้งใหญ่ ไม่มีใครมีทางออกอะไร เหมือนประเทศนี้ไร้ทางออก

สำรวจอารมณ์ของผู้คนที่อยู่กลางๆ ไม่ได้เป็นมวลชนสนับสนุนฝ่ายใด มีแต่ความเบื่อหน่ายที่คู่ขัดแย้งหลักไม่ยอมลดราวาศอกให้กันและกันเลย แม้แต่ "เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป" ที่ประกอบไปด้วยผู้คนจากหลายภาคส่วน ก็ยังประกาศจุดยืน "ปฏิรูปทันที" ไม่รอให้คู่ขัดแย้งมาเป็นตัวกำหนดทิศทางหรือสถานการณ์กันอีกต่อไปแล้ว

และสิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือ ต้องหยุดความรุนแรงเฉพาะหน้าให้ได้ด้วย มิฉะนั้นความขัดแย้งบาดหมางจะร้าวลึกเกินไป

ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม หนึ่งในเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป บอกว่า ขณะนี้มีการสร้างกระแสเกลียดชัง แบ่งเป็นพวกเขาพวกเราจนอาจนำไปสู่ความรุนแรงในวงกว้างได้ง่าย ซึ่งไม่เอื้อประโยชน์กับใครเลย ฉะนั้นเราจะไม่รอให้คู่ขัดแย้งเป็นผู้กำหนดวาระประเทศว่าจะต้องปฏิรูปอะไร อย่างไรอีกต่อไปแล้ว แต่จะทำเรื่องปฏิรูปให้เป็นวาระประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

เป็นคำประกาศปลดแอกจากอำนาจรัฐที่ควบคุมสถานการณ์อะไรไม่ได้ ท่ามกลางความขัดแย้งแบ่งฝ่ายที่มีคนตายเป็นใบไม้ร่วงอย่างน่าสนใจ

เมื่อรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ ประชาชนก็จะขอทำเอง ดังเช่นที่ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปบอกเอาไว้

"กระบวนการนำเสนอแนวทางแก้ปัญหารุนแรงอย่างหนึ่ง คือการสร้างความหวัง และไม่ทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าบ้านเมืองนี้ไม่มีหวังแล้ว ต้องฆ่ากัน ต้องตาต่อตาฟันต่อฟันเท่านั้น ซึ่งเกรงว่าจะตาบอดกันหมด ฟันหลอกันหมด จุดเริ่มต้นจึงต้องหยุดความรุนแรงให้ได้ สถานการณ์ ณ ขณะนี้ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งยังไม่หยุด แม้ผ่านวันที่ 2 ก.พ.ไปแล้วก็ตาม การเจรจาต่อรองเป็นเรื่องสำคัญว่าระยะยาวเราจะทำกันอย่างไร"

ขณะที่ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ บอกว่า ทุกคนห่วงใยเรื่องความรุนแรง เพราะจะทำให้ความขัดแย้งยิ่งร้าวลึก สร้างกระแสเกลียดชังมากขึ้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือหยุดความรุนแรง

ส่วน นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ บอกว่า การจะแก้วิกฤติครั้งนี้ให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและพลังของประชาชนอย่างสำคัญ ฉะนั้นต้องไม่ใช่รอให้รัฐบาลรับไปทำ เนื่องจากถ้าประชาชนไม่เข้มแข็งจริง เสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร ก็ไม่มีรัฐบาลชุดไหนรับไปทำ

ข้อคิดจาก นพ.สมศักดิ์ นับว่าเห็นจริง เพราะแนวทางการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง โดยเฉพาะการปฏิรูปด้านต่างๆ ก็ได้มีเครือข่ายมากมายทั้งทำอยู่และเคยทำไปแล้ว เพียงแต่ผู้มีอำนาจรัฐไม่ได้หยิบไปสานต่อ เอาแค่ในรอบ 5-10 ปีมานี้ ก็เคยมีการศึกษาและสรุปรายงานการปฏิรูปหลักๆ ออกมาหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบงานตำรวจ ที่นำโดย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือพิมพ์เขียวปฏิรูป ของคณะกรรมการปฏิรูป ชุด นายอานันท์ ปันยารชน อดีตนายกรัฐมนตรี และสมัชชาปฏิรูป ของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส

จากตัวอย่างเล็กๆ เหล่านี้ คงพอเห็นแล้วว่าใครคือตัวปัญหาที่แท้จริงของบ้านเมือง บางประเทศในยุโรปเคยไม่มีรัฐบาลนานหลายเดือน จนถึงเป็นปีๆ แต่ประเทศก็ยังขับเคลื่อนไปได้โดยพลังของเอกชนและภาคประชาชน

ได้เวลาแล้วที่ประชาชนไม่ว่าจะสนับสนุนเลือกตั้งก่อนปฏิรูป หรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จะก้าวข้ามความขัดแย้งทั้งมวล และมายาคติที่นักการเมืองสร้างขึ้น แล้วมุ่งหน้าสู่การสร้างวาระประเทศไทยร่วมกันอย่างแท้จริงต่อไป