แฮมเบอร์เกอร์ที่แพงที่สุดในโลก กับอนาคตที่เป็นไปได้ ?

แฮมเบอร์เกอร์ที่แพงที่สุดในโลก กับอนาคตที่เป็นไปได้ ?

ท่านผู้อ่านอยากทราบไหมครับว่าแฮมเบอร์เกอร์ที่มีราคาแพงที่สุดในโลกที่เคยมีการปรุงและเสิร์ฟ ราคาเท่าไหร่ และมีอะไรเป็นส่วนประกอบ

แฮมเบอร์เกอร์ที่ผมพูดถึงนี้มิใช่แฮมเบอร์เกอร์ที่ปรุงโดยเชฟระดับโลก หรือใช้องค์ประกอบอื่นๆ เช่นทองคำเปลว หรือเนื้อ Wagyu ชั้นดีเลิศมาเป็นส่วนประกอบแต่อย่างใด แต่เป็นแฮมเบอร์เกอร์ที่มาจากห้องแล็บวิทยาศาสตร์ครับ

เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ณ กรุงลอนดอน ทีมนักวิทยาศาสตร์ นำโดยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Maastricht ชื่อว่า Mark Post ได้นำเอาชิ้นเนื้อที่เกิดจากกระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์ของวัวในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเซลล์ดังกล่าวมาประกอบอาหารทำเป็นแฮมเบอร์เกอร์ทานให้สื่อมวลชนดู สนนราคาของชิ้นเนื้อดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนประมาณกว่า 330,000 ดอลลาร์เลยทีเดียว โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนโครงการจากหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง google อย่างนาย Sergey Brin ซึ่ง ณ ขณะนี้ต้องถือว่าแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นดังกล่าวมีราคาสูงที่สุดในโลก

แน่นอนครับ สิ่งที่คนสนใจมากและสร้างความฮือฮา ตื่นเต้นก็คือประเด็นที่ว่ารสชาติของเนื้อที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเซลล์ดังกล่าวจะมีรสชาติอร่อยเหมือนเนื้อจริงหรือไม่ ซึ่งคนที่ได้ทานก็บอกว่าไม่เหมือนเสียทีเดียว บ้างก็ว่าขาดกลิ่น บ้างก็ว่าความยืดหยุ่นไม่เหมือนเนื้อที่มาจากสัตว์จริงๆ แต่ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญกว่า คือนัยของความสำเร็จในการเพาะเซลล์เนื้อดังกล่าวกับประเด็นอื่นๆ ที่มิใช่เรื่องของ culinary ต่างหาก

ถ้าหากมีการลงทุนเรื่องนี้ต่อ มีการศึกษาและวิเคราะห์ให้กระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เนื้อที่ได้มีความใกล้เคียงของจริงมากขึ้น และด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่อาจส่งผลให้เป็นต้นทุนงบประมาณที่เป็นได้ในเชิงพาณิชย์ ผลกระทบจะมีมากมายมหาศาลเลยครับ ถ้าเราคิดดูกันดีๆ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมปศุสัตว์เท่านั้น แต่ผลกระทบในเชิงลูกโซ่จะมีมากอย่างที่เราคาดไม่ถึง ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูครับ

ลองมองประเด็นเรื่องของการปศุสัตว์ก่อนนะครับ ตอนนี้เราเลี้ยงสัตว์เพื่อนำเนื้อมาเป็นอาหารทั้งอย่างแบบดั้งเดิม คือกักขังในบริเวณเล็กๆ อย่างไม่มีมนุษยธรรมนัก ไปจนถึงการปล่อยแบบ free-range ซึ่งอาจจะดูมีมนุษยธรรมขึ้นมาหน่อย แต่การเลี้ยงทั้งสองอย่างไม่ได้ต่างกันในแง่ของการเพาะเลี้ยงเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่ตามมาคือสถานที่เพาะเลี้ยงเหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งของเชื้อโรคต่างๆ การป้องกันโรคติดต่อจำเป็นต้องพึ่งพายาและสารเคมีต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งถ้าหากเราทดแทนการทำปศุสัตว์ด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์แทน ทำให้เราไม่จำเป็นจะต้องทำปศุสัตว์ขนาดใหญ่อีกต่อไป เป็นเพียงการเพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ชั้นดีเพื่อเก็บเนื้อเยื่อมาเป็น sample ในการเพาะเซลล์ก็เพียงพอ

ยิ่งกว่านั้น การเพาะพันธุ์ปศุสัตว์เป็นอะไรที่ใช้ทรัพยากรเป็นปริมาณมาก ซึ่งส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของโลกเราอย่างมหาศาล ลองนึกภาพถึงห่วงโซ่อาหารขั้นต้นของบรรดาสัตว์เหล่านี้ ท่านผู้อ่านลองคิดดูครับว่าเราใช้พื้นที่เท่าไหร่ในการปลูกหญ้าและพันธุ์พืชที่นำมาเป็นอาหารเลี้ยงปศุสัตว์เหล่านี้ และต้องใช้น้ำเป็นปริมาณเท่าไหร่ในการรดน้ำ และต้องใช้แรงงานพร้อมทั้งค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ นี่ยังไม่นับพลังงานและทรัพยากรต่างๆ ในการแปรรูปอาหารสัตว์อีกนะครับ

ยิ่งกว่านั้น เราลองคิดดูสิครับว่า เราใช้พื้นที่ในการปศุสัตว์และปลูกพันธุ์พืชต่างๆ เหล่านี้เป็นอาณาบริเวณมากมายขนาดไหน จะดีกว่าไหมถ้าหากเราสามารถ reclaim พื้นที่เหล่านี้เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมเสียใหม่ คืนสภาพธรรมชาติให้กับพื้นที่เหล่านั้น และสร้างสมดุลให้กับสภาพแวดล้อมในทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

Waste ที่เกิดจากการปศุสัตว์และนำส่วนต่างๆ ของสัตว์มาใช้ไม่หมดก็จะน้อยลงไป ไม่ทำให้เกิดการนำส่วนเหลือกลับไปใช้ในทางที่ผิดอย่างเช่น การนำเอาส่วนเหลือของวัวไปผสมเป็นอาหารวัวและเป็นแหล่งกำเนิดของเชื้อ mad cow disease ที่เคยเกิดขึ้น ถ้าเราต้องการเนื้อเพื่อการบริโภคเราก็เพาะเซลล์เนื้อในปริมาณที่เพียงพอต่อการบริโภค ถ้าเราต้องการหนังไปทำกระเป๋า เราก็เพาะเซลล์หนังในปริมาณที่เพียงพอ efficiency ก็จะเกิดขึ้น

และที่ผมลองคิดดูอีกอย่างนะครับ การลักลอบฆ่าสัตว์สงวนเพื่อนำเอาชิ้นส่วนเช่นงาช้าง หรือ หูฉลาม ก็จะหมดไปเมื่อเราสามารถทำฟาร์มเพาะเซลล์ของงาช้างและหูฉลามได้ สร้างกลไกตลาดแบบใหม่ที่ไม่เบียดเบียนสัตว์และลดการสูญเสียชีวิตโดยไม่จำเป็นได้

นี่อาจเป็นแนวคิดที่สุดโต่งนะครับ แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเราเปลี่ยนได้นั่นหมายถึง การสร้างสมดุลทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อมขึ้นมาใหม่ ในทางที่ดีขึ้นและแน่นอนว่าส่งผลต่อสภาพชีวิตของมนุษยชาติและสัตว์ร่วมโลกที่จะเป็นการ co-exist อย่างยั่งยืนมากขึ้นแน่นอนครับ