ความต้องการพลังงานของอาเซียนกับแผนการจัดหาพลังงานของประเทศไทย (6)

ความต้องการพลังงานของอาเซียนกับแผนการจัดหาพลังงานของประเทศไทย (6)

ผ่านมา 5 ตอนผมก็ได้พูดถึงแผนด้านพลังงานของประเทศไทยไปแล้ว ซึ่งเป็นแผนที่ทางภาครัฐนั้นจะต้องเตรียมการในการจัดหาพลังงานให้เพียงพอ

กับการใช้ภายในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ รวมถึงการวางแผนที่จะต้องมีความสอดคล้องกันในแต่ละแผนด้วย

แต่ในตอนนี้ ผมจะขอมาพูดถึงเรื่องของแผนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จะต้องรองรับกับการใช้พลังงานของประเทศที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะหากเราเพิ่มการจัดหาพลังงานแล้วแต่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ เราก็จะไม่สามารถนำพลังงานเหล่านั้นมาใช้ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และระบบสายส่งไฟฟ้า เป็นต้น

ในส่วนของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาตินั้น ปัจจุบันเราใช้สำหรับขนส่งก๊าซธรรมชาติไปยังผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติต่างๆ ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงกลุ่มภาคการขนส่งที่เราเรียกกันติดปากว่า NGV ซึ่งท่อที่เรามีอยู่นั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง โดยปลายท่อนั้นไปไกลสุดอยู่ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทาง ปตท. เองก็ได้อยู่ระหว่างการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่จะขยายไปยังจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดนครราชสีมาเพิ่มเติมซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2559

แต่ก่อนที่เราจะไปดูถึงระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาตินั้น เราก็จะต้องมาพิจารณาถึงที่มาของก๊าซธรรมชาติที่เราจัดหาได้ก่อนนั้นว่ามาจาก 3 แหล่งหลักๆ คือจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จากการนำเข้าผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากประเทศสหภาพพม่า และจากการนำเข้าในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ซึ่งเมื่อเราทราบถึงแหล่งที่มาของก๊าซธรรมชาติแล้ว เราก็จะมาดูกันถึงเรื่องของการที่จะนำก๊าซธรรมชาติเหล่านั้นมาใช้งานอย่างไร

สำหรับก๊าซธรรมชาติที่มาจากอ่าวไทยและจากสหภาพพม่านั้นจะถูกขนส่งมายังผู้ใช้ก๊าซผ่านทางระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติโดยก๊าซธรรมชาติที่มาจากอ่าวไทยนั้นจะถูกขนส่งมาจากแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติมายังชายฝั่งของจังหวัดระยองซึ่งเป็นจุดที่มีโรงแยกก๊าซธรรมชาติตั้งอยู่ โรงแยกก๊าซธรรมชาตินั้นก็จะทำหน้าที่ในการแยกก๊าซที่มีความชื้นสูงออกให้เหลือแต่เพียงก๊าซมีเทนที่มีสถานะเป็นไอ และก๊าซมีเทนนี้ก็จะถูกส่งกลับเข้าไปในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติอีกครั้งเพื่อส่งต่อไปยังผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติกลุ่มต่างๆ ต่อไป สำหรับก๊าซธรรมชาติจากประเทศสหภาพพม่านั้นก็เช่นเดียวกัน ก๊าซธรรมชาติจะถูกขนส่งผ่านทางท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตก๊าซในประเทศสหภาพพม่ามายังชุดเชื่อมต่อกับท่อก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ที่ชายแดนไทยในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีซึ่งก็จะถูกส่งไปยังผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติต่อไป

ในส่วนของก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG นั้นเป็นการนำเข้าโดยทางเรือซึ่งก็จะต้องมีสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) เพื่อที่จะรับก๊าซ LNG ที่ขนมาทางเรือมาเก็บไว้ในถังเก็บก่อนที่จะถูกนำไปปรับสภาพจากสถานะของเหลวให้เป็นสถานะก๊าซ เพื่อที่จะส่งเข้าระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติต่อไป

ทั้งระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ สถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติ รวมถึงสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาตินั้นจะต้องมีการวางแผนการก่อสร้างให้สอดคล้องกับปริมาณของก๊าซธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะหากเรามีความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้น มีการจัดหาก๊าซธรรมชาติได้อย่างเพียงพอ แต่โครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ในการส่งก๊าซไม่มี ก็ไม่สามารถนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ได้ ขณะเดียวกัน การวางแผนการก่อสร้างนั้นยังจะต้องคำนึงถึงพื้นที่และแนวเส้นทางของสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ด้วย โดยเฉพาะท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะต้องมีความสอดคล้องกันกับพื้นที่ที่คาดว่าจะมีผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ๆ เช่น โรงไฟฟ้า หรือนิคมอุตสาหกรรมอยู่ด้วย เนื่องจากการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาตินั้นมีการใช้เงินลงทุนที่สูงมาก จึงต้องมีการพิจารณาเรื่องของความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ และความเป็นไปได้ของโครงการด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ การก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานีรับจ่ายก๊าซ LNG นั้นต้องใช้เวลาในการก่อสร้างที่ค่อนข้างนาน ซึ่งจะมีตั้งแต่กระบวนการในการขออนุมัติจากภาครัฐในการก่อสร้าง การดำเนินการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การประกาศเขตระบบที่ใช้ในการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การเปิดรับฟังความคิดเห็นกับภาคประชาชน การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อหาผู้ดำเนินการก่อสร้าง และการดำเนินการในส่วนของการก่อสร้างเอง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 6-7 ปีจึงจะแล้วเสร็จ ดังนั้นหากเราจะวางแผนเพื่อขยายโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาตินั้น จึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความต้องการก๊าซธรรมชาติในอนาคตที่ไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป รวมถึงเส้นทางที่เหมาะสมที่จะก่อสร้างด้วย

ดังนั้น แผนการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติจึงมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ