ประเทศไทยกับคอร์รัปชัน (2)

ประเทศไทยกับคอร์รัปชัน (2)

ในคราวที่แล้ว เราคุยกันถึงการจัดลำดับภาพลักษณ์ของประเทศที่ทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุด

นอกจากดัชนี CPI ที่อ้างถึงแล้ว ยังมีดัชนีผู้จ่ายสินบน (TheBribePayers’Index-BPI) ซึ่งเป็นการสำรวจทุก 2 ปี จากทางด้านผู้ให้สินบน โดยการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา

ในปี ค.ศ. 2011 มีการสำรวจผู้บริหารระดับสูงในภาคเอกชนจำนวน 3,016 คนใน 30 ประเทศทั่วโลกถึงความโน้มเอียง (ความถี่) ที่บริษัทข้ามชาติจะกระทำการทุจริตด้วยการจ่ายสินบนในการดำเนินธุรกิจ การจัดอันดับจะใช้คะแนนระหว่าง 0-10 คะแนนสูงสุด 10 แสดงถึงคำตอบว่าบริษัทจากประเทศดังกล่าว ไม่เคย กระทำการทุจริตด้วยการจ่ายสินบนในต่างประเทศเลย และคะแนน 0 แสดงว่า บริษัทจากประเทศ ดังกล่าวจะกระทำอยู่ เสมอ

การจ่ายสินบนของบริษัทมีหลายวิธี เช่น การให้สินบนเพื่อให้ชนะการแข่งขันในการประมูลโครงการรัฐ การให้ละเลยกฎระเบียบ การให้กระบวนการทำงานของรัฐบาลรวดเร็วขึ้น หรือการใช้อิทธิพลต่อนโยบาย (ดูรายละเอียดใน http://bpi.transparency.org/bpi2011/) ซึ่งคะแนน เฉลี่ยจะอยู่ที่ 7.8 บริษัทจากประเทศจีน และรัสเซียจะมีคะแนนอยู่ในระดับต่ำสุด คือ 6.5 และ 6.1 ตามลำดับ แสดงถึงแนวโน้มในการกระทำทุจริตด้วยการจ่ายสินบนในต่างประเทศสูงกว่าคู่แข่ง ประเทศที่ได้รับคะแนนในระดับสูงสุด คือ 8.8 จากประเทศเนเธอร์แลนด์และสวิตเซอร์แลนด์ โครงการใหญ่ๆ ด้านสาธารณูปโภคของเรา ในอนาคตหากเรามีกรรมการจากภาคประชาชนไปตรวจสอบก็ต้องคอยระวังบริษัทจากประเทศเหล่านี้ ส่วนไทยไม่อยู่ในขอบเขตการสำรวจของรายงาน เพราะบริษัทไทยไม่ใช่ผู้เล่นรายใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีดัชนีความเสี่ยงที่คำนวณโดยองค์กรอื่น เช่น PERC เป็นองค์กรที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในฮ่องกง มีวัตถุประสงค์ที่จะประเมินแนวโน้มทางการเมืองและเศรษฐกิจในเอเชีย และวิเคราะห์โอกาสและพัฒนากลยุทธ์ในการลงทุน ในภูมิภาคนี้ในรายงานประจำปี 2012 ของ PERC ผลการสำรวจภาพลักษณ์ของการทุจริตคอร์รัปชันจากกลุ่มตัวอย่างนักธุรกิจและผู้บริหารที่เป็นชาวต่างชาติใน 16 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย จำนวน 1,763 คน โดยคะแนนอยู่ระหว่าง 0-10 แต่วิธีการประเมินค่าคะแนนจะต่างไปจากของ TIPERC จะพิจารณาค่าคะแนนในลักษณะของระดับความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งคะแนนต่ำสุด 0 แสดงถึง ความเสี่ยงน้อยที่สุดหรือไม่มี คะแนนสูงสุด 10 แสดงถึง ความเสี่ยงมากที่สุด

จากผลการประเมินความเสี่ยงในการทุจริตคอร์รัปชัน (ตารางประกอบ) ในระหว่าง ปีค.ศ. 2011 และ 2012 จะพบว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงอยู่ในอันดับที่ 9 จาก 16 ประเทศที่สำรวจ โดยมีคะแนนเท่ากับ 6.57 ในปี ค.ศ. 2014 นี้ เทียบกับสิงคโปร์ที่เป็นอันดับหนึ่งแล้วก็น่าตกใจอยู่ปรากฏการณ์เป่านกหวีดน่าจะทำให้ไทยมีคะแนนถดถอยลงไปอีก หวังว่าเมื่อเราก้าวข้ามวิกฤติคราวนี้ไปได้ นักการเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิม!

ล่าสุดนี้มีผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย โดยสำรวจตัวอย่างประชาชนผู้ประกอบการและข้าราชการ 2,400 ตัวอย่าง เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าประเทศไทยมีการจ่ายใต้โต๊ะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในประเด็นความรุนแรงของปัญหาพบว่า ผู้ตอบร้อยละ 63 เห็นว่ามีแนวโน้มมากขึ้น ประเด็นที่ 2 เป็นการสำรวจถามทัศนคติของคนไทยว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องไกลตัว ร้อยละ 77 ไม่เห็นด้วยต่อคำถามที่ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการให้สินน้ำใจ (เงินพิเศษ) เล็กๆ น้อยๆ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเรื่องไม่เสียหาย ร้อยละ 70 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 70 เท่ากัน ไม่เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า แม้รัฐบาลจะทุจริตก็ยอมรับได้ถ้ามีผลงาน สำหรับร้อยละของการจ่ายเงินใต้โต๊ะแก่ข้ารายการและนักการเมืองที่ทุจริต ผู้ประกอบการ ร้อยละ 75 ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราส่วนร้อยละ 20-30 ของงบประมาณในปี 2556 และแนวโน้มในปี 2557 อาจจะเพิ่มถึงร้อยละ 50 จากข้อสันนิษฐานของอัตราคอร์รัปชัน ร้อยละ 25-53 เฉพาะในปี 2556 มีมูลค่าคอร์รัปชันถึง 2.35-3.29 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับร้อยละ 1.88-2.63 ของจีดีพีทีเดียว

ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ถูกสำรวจร้อยละ 42 เห็นว่านักการเมืองเป็นผู้ทุจริต อีกร้อยละ 33 เห็นว่าเป็นเพราะข้าราชการก่อให้เกิดปัญหาส่วนอีกร้อยละ 18.3 เห็นว่านักธุรกิจเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาคอร์รัปชัน สาเหตุสำคัญของปัญหาการทุจริตในเมืองไทย ในความเห็นของผู้สำรวจ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย คือความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย รองลงมาคือ กฎหมาย เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจที่เอื้อต่อการทุจริตกระบวนการทางการเมืองที่ขาดความโปร่งใสและตรวจสอบยาก และความยุ่งยากและซับซ้อนของระบบราชการ

วิธีการปฏิรูปก็คงต้องไปแก้ตรงที่ที่ว่านี่ค่ะ หวังว่านักการเมืองทั้งหลายคงจะจำบทเรียนคราวนี้และเข้าใจเสียทีว่าเดี๋ยวนี้ชาวบ้านเขาไม่ยอมกันแล้ว