ทรราชในทุกหนแห่ง

ทรราชในทุกหนแห่ง

Desttut de Tracy นักคิดฝรั่งเศสในช่วงการปฏิวัติสร้างชาติสร้างประชาธิปไตย ผู้เขียนหนังสือ “A Commentary of Montesquieu’s Spirit of Laws”

อธิบายไว้ว่า "การปกครองแบบทรราชไม่ได้ปรากฏตัวเฉพาะในการปกครองโดยทหารหรือการปกครองที่ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจเท่านั้น เพราะการปกครองแบบทรราชมิได้เป็นการปกครองที่มีรูปแบบเฉพาะตัว เช่น ต้องเป็นการปกครองโดยคนคนเดียวหรือเป็นการปกครองโดยกลุ่มคน แต่การปกครองโดยมหาชนก็เป็นได้ด้วย เพราะการปกครองแบบทรราชคือระบอบที่มีการฉ้อฉลของการใช้อำนาจทั้งหลายที่สามารถเกิดขึ้นในรูปแบบการปกครองใดก็ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า สถาบันการเมืองหรือรูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้นมาด้วยน้ำมือมนุษย์ ย่อมไม่ต่างจากตัวมนุษย์ผู้สถาปนามันขึ้นมา นั่นคือ ย่อมไม่มีทางจะสมบูรณ์แบบได้ โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดและความฉ้อฉลในการใช้อำนาจย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ในระบอบการปกครองทุกรูปแบบและทุกหนแห่ง"

เขากล่าวด้วยว่า “ประสบการณ์การเมืองกรีกโบราณสอนให้เรารู้ว่า การต่อสู้กับผู้ที่เป็นทรราชแท้ๆ นั้นมิใช่เรื่องง่าย เพราะทรราชที่แท้ย่อมมีภาพสองภาพปรากฏต่อสาธารณะในเวลาเดียวกัน ภาพแรกคือภาพของผู้นำอันประเสริฐเลิศแท้ อัศวินม้าขาวขวัญใจประชาชน อีกภาพหนึ่งคือ ภาพแห่งความชั่วร้ายฉ้อฉล” ข้อความท้ายสุดของบทความของเขาคือ “การมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะทำให้เรารอดพ้นจากการเกิดทรราชได้ และถ้าเราเข้าใจระบอบทรราชแล้ว เราย่อมตระหนักดีว่า พันธกิจในการต่อสู้กับระบอบทรราชนั้นต้องอาศัยปัญญา ความสุขุมรอบคอบ ความอดทนและ..เวลา !”

ขณะเดียวกัน ถ้าจะกล่าวถึงข้อสรุปของอวสานทรราชในประวัติศาสตร์นั้น เราสามารถกล่าวได้ดังนี้ คือ ประการแรก ทรราชตายไปเอง ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วย แก่ตาย หรือถูกธรรมชาติลงโทษ เช่น ฟ้าผ่า เป็นต้น สอง ถูกทรยศ หรือยึดอำนาจหรือถูกสังหารจากคนใกล้ตัว สาม ถูกยึดอำนาจจากศัตรูต่างชาติ

จากข้อสรุปดังกล่าว สังเกตได้ว่า อายุขัยของการครองอำนาจของทรราชนั้นจะสั้นหากทรราชเกิดเจ็บป่วยตายไปเอง ดังเช่นในกรณีของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ส่วนในกรณีที่สอง ที่กล่าวถึงการถูกทรยศ-ถูกสังหารจากคนใกล้ตัว อายุการครองอำนาจอาจจะสั้นหรือยาวก็ได้ ได้แก่ ความพยายามในการลอบสังหารฮิตเลอร์ในสมัยนาซี สงครามโลกครั้งที่สอง แต่ไม่สำเร็จ ฮิตเลอร์อยู่ต่อไปได้ แต่เมื่อก่อนจะถูกยึดอำนาจจากฝ่ายพันธมิตร ฮิตเลอร์ตัดสินใจฆ่าตัวตายไปเอง รวมความได้ว่าฮิตเลอร์มีอำนาจอยู่ราวๆ กว่า 10 ปี

ส่วนอีกกรณีของการถูกทรยศจากคนใกล้ตัวที่ทำสำเร็จ คือ กรณีที่จูเลียส ซีซาร์ถูกรุมสังหาร ซึ่งมีคนสนิทอย่างบรูทุสรวมอยู่ด้วย และในที่สุดก็ส่งภาพให้ซีซาร์เป็น “มหาราช” มากกว่าจะเป็น “ทรราช” ในเวลาต่อมา

เห็นได้ว่า ถ้าไม่นับสาเหตุปรกติ จุดจบของทรราชย่อมไม่ใช่กระบวนการปรกติ นั่นคือ ลงจากอำนาจเอง ! เพราะอย่างที่กล่าวไว้ในตอนนั้นว่า “ทรราชที่แท้ย่อมมีภาพสองภาพปรากฏต่อสาธารณะในเวลาเดียวกัน ภาพแรกคือภาพของผู้นำอันประเสริฐเลิศแท้ อัศวินม้าขาวขวัญใจประชาชน อีกภาพหนึ่งคือ ภาพแห่งความชั่วร้ายฉ้อฉล” และคำว่า “ขวัญใจประชาชน” นั้นย่อมหมายถึงประชาชนคนส่วนใหญ่

ดังนั้น “…พันธกิจในการต่อสู้กับระบอบทรราชนั้นต้องอาศัยปัญญา ความสุขุมรอบคอบ ความอดทนและ..เวลา !”

ขณะเดียวกัน ในหนังสือ “Our Posthuman Future : Consequences of the Biotechnology Revolution” นักรัฐศาสตร์สมัยใหม่อย่าง ฟรานซิส ฟูกูยามา กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า วิทยาการการสื่อสารสมัยใหม่มิได้นำมาซึ่งระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จของการปกครองสมัยใหม่ อย่างที่ George Orwell เขียนไว้ในนวนิยายการเมืองเรื่อง “1984” ด้วย Orwell คาดการณ์ว่า หลังจากจุดจบของเผด็จการฟาสซิสม์-นาซี ระบบเผด็จการทรราชหาได้สิ้นสุดลงไม่ แต่โลกจะต้องเผชิญกับเผด็จการยุคใหม่ภายใต้วิทยาการการสื่อสารสมัยใหม่

ฟูกูยามาไม่เห็นด้วย เขาชี้ว่า การสื่อสารสมัยใหม่จะนำมาซึ่งสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาต่างๆ อันจะทำให้เผด็จการไม่สามารถคงอยู่ได้ แต่จะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วยซ้ำ

ประสบการณ์การเมืองไทยที่ผ่านมาอาจจะสนับสนุนสิ่งที่ฟูกูยามาเชื่อก็ได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็อาจจะสวนทางได้ด้วย เพราะฟูกูยามาลืมนึกถึงเงื่อนไขสองข้อ นั่นคือ การครอบงำสื่อของทุน และ คุณภาพและพื้นฐานความรู้ความเข้าใจของผู้บริโภคสื่อ ฟูกูยามาเชื่อว่า ความก้าวหน้าของวิทยาการการสื่อสารในระบบดาวเทียมมีส่วนช่วยให้ระบบการเมืองปลอดจากอำนาจเผด็จการทรราช เขากล่าวว่า “ในปี ค.ศ. 1989 มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นติดต่อกันที่ในตอนแรกๆ มันดูเหมือนจะเป็นนิยายหรือจินตนาการทางการเมืองเสียมากกว่า นั่นคือ การล่มสลายของความเป็นจักรวรรดิของสหภาพโซเวียต แต่ต่อมา ประชาชนทั่วไปก็รับรู้อย่างรวดเร็วว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของอวสานระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นเกิดจากปัจจัยอิทธิพลของการมีคอมพิวเตอร์ และระบบวิทยาการการสื่อสารที่ผู้คนธรรมดาทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งวิทยุ โทรทัศน์ แฟกซ์และอีเมล ด้วยการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จดำรงอยู่ได้ด้วยการที่ตัวระบอบสามารถที่จะดำรงรักษาการผูกขาดในเรื่องข้อมูลข่าวสาร แต่วิทยาการการสื่อสารสมัยใหม่ได้ทำลายการผูกขาดนั้นลง ทำให้อำนาจระบอบเผด็จการต้องพังทลายลงในที่สุด”

แม้ว่า สิ่งที่ฟูกูยามาเสนอมานั้นจะมีความจริงอยู่ แต่ในมุมกลับกัน ผู้ครอบครองและครอบงำสื่อก็ย่อมสามารถครอบครองและครอบงำการเมืองได้เช่นกัน !