เลือกตั้งที่เลื่อนไม่ได้ กับ"ซูเปอร์องค์กร" ที่ไม่ใช่ศาลรธน.

เลือกตั้งที่เลื่อนไม่ได้ กับ"ซูเปอร์องค์กร" ที่ไม่ใช่ศาลรธน.

จริงๆ สถานการณ์การเมืองและบ้านเมืองไทยจะไม่วิกฤติขนาดนี้ หากคู่ขัดแย้งรู้จักถอยบ้าง

ยอมแพ้วันนี้เพื่อชนะในวันข้างหน้า หรือยอมแพ้ศึกเพื่อชนะสงครามกันบ้าง

ที่เกริ่นขึ้นมาแบบนี้ไม่ใช่มุ่งจะต่อว่าเฉพาะรัฐบาล คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น เพราะอดีตก็คือแรงขับดันที่ทำให้เกิดผลในปัจจุบัน หากในปี 2553 คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยอมยุบสภาแทนกระชับพื้นที่ การเมืองในปัจจุบันนี้อาจไม่แบ่งฝ่าย แยกขั้ว เป็นศัตรูทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนจริงจนแทบจะฆ่ากันอยู่แล้วในปัจจุบัน

สถานการณ์ ณ ปี 2557 ก็คล้ายๆ กัน ถ้าเราคิดในมุมอื่่นบ้าง โดยเฉพาะจากฝ่ายที่ครองอำนาจรัฐและผู้สนับสนุน อาจทำให้บรรยากาศคลี่คลาย และไม่ต้องมีคนตาย (ฝ่ายรัฐบาลและผู้สนับสนุนเองก็เคยแสดงท่าทียอมรับไม่ได้ เมื่อครั้งมีคนตายปี 2553)

สถานการณ์ ณ วันนี้ รัฐบาลกับนักวิชาการกลุ่มหนึ่งกำลังกอดการเลือกตั้ง เลื่อนหย่อนบัตรไม่ได้แม้เพียงวันเดียว ยึดติดถ้อยคำในกฎหมาย โดยไม่ดูเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าที่เขากำหนดกรอบเวลาเอาไว้ทำไม หรือดูเข้าใจแต่แกล้งไม่เข้าใจ แล้วก็ยึดอยู่หลักเดียว ทั้งๆ ที่แต่ละเรื่องแต่ละราวมันมีหลายหลักประกอบกันอยู่

เหมือนเรากำลังเดินทางไปไหนสักแห่ง แต่ข้างหน้ามีคนกำลังชกต่อยกัน แล้วมีใครสักคนแนะให้เราเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น จะได้เจอผลกระทบจากคนที่กำลังชกกัน ถามว่าจำเป็นไหมที่เราจะต้องเสี่ยงเดินไปแล้วถูกเก้าอี้ฟาดหัว ถูกคู่ขัดแย้งเอาของเขวี้ยงใส่ หรือถูกมองว่ากำลังเข้าไปช่วยข้างใดข้างหนึ่งที่กำลังชกกัน

"ปลายทาง" ก็ยังเหมือนเดิม มุ่งสู่จุดหมายเดิม เพียงแต่เปลี่ยนเส้นทางให้อ้อมไปหน่อย ไม่มีใครไปยึดรถคุณ ตัดขาคุณ ยังเดินหรือขับรถไปได้ แต่ถ้าตรงไปทื่อๆ มันอันตราย เขาก็เลยแนะให้เปลี่ยนเส้นทาง...ก็เท่านั้น

เห็นด้วยกับ อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ที่ถามกลับคนที่รณรงค์ให้เคารพการโหวต หรือ respect my vote ว่าแล้วคุณเคารพการโหวตของตัวคุณเองหรือไม่ เพราะโหวตแล้วคุณแทบไม่เคยแสดงบทบาทตรวจสอบอะไรผู้ที่ใช้อำนาจแทนคุณเลย ทั้งๆ ที่มันไม่ได้น่าชื่นชมยินดี และเป็นบ่อเกิดหนึ่งของความขัดแย้งในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการจำนำข้าวที่เจ๊งยับจนสร้างภาระให้ชาวนาและประเทศ การใช้อำนาจออกกฎหมายที่ละเมิดทุกอย่าง แม้แต่หลักนิติธรรมและหลักการปราบทุจริตคอร์รัปชัน

อีกเรื่องที่พูดกันและรณรงค์กันมาก คือ บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญ แต่พูดอยู่ด้านเดียวว่าศาลใช้อำนาจเกินขอบเขต อยู่เหนือองค์กรทุกองค์กร บางคนบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญทำตัวเป็น "ซูเปอร์องค์กร"

ผมกล้าพูดเรื่องนี้ เพราะเคยเขียนวิจารณ์การใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง และไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยหลายๆ กรณี แต่การวิจารณ์ศาลเพียงด้านเดียวดูจะไม่เป็นธรรม หากเราไม่วิจารณ์ต้นตอที่ทำให้เกิดคดีด้วย นั่นคือรัฐสภา (นิติบัญญัติ) และรัฐบาล (ฝ่ายบริหาร)

ผมเห็นด้วยว่าต้องปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องปฏิรูปรัฐสภาและฝ่ายบริหารไปพร้อมกัน ไม่ใช่เลือกด่าศาลข้างเดียว แล้วปกป้อง ส.ส. กับคณะรัฐบาล เพราะอ้างว่าได้รับเลือกตั้งมา และยึดโยงกับประชาชน

ถ้าบอกว่าศาลตีความเกินอำนาจ ทำตัวเป็น "ซูเปอร์องค์กร" แล้วรัฐสภากับรัฐบาลไม่เป็นซูเปอร์ของซูเปอร์หรือ เพราะอ้างเสียงข้างมากทำได้ทุกอย่าง ออกกฎหมายล้างผิดทุกประเภทรวมทั้งทุจริต ฆ่าคนกลางกรุง ฆ่าคนภาคใต้ ย้อนหลังเป็นสิบปีก็ได้ แก้รัฐธรรมนูญตัดอำนาจการตรวจสอบได้ทุกอย่างเพราะชนะเลือกตั้งมา หากจะเปลี่ยนรัฐบาลหรือสภาต้องรอครบ 4 ปี จะเอากันอย่างนั้นหรือ?

หลายคนอาจไม่ทราบว่าการตราพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.นั้น เรามี 2 แบบ คือ พ.ร.บ.ทั่วไป และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ โดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 141 บังคับให้ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อประกาศใช้ แต่การแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.ซึ่งผลของมันต้องไปแก้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งด้วย เขาเขียนยกเว้นไว้ว่าไม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เท่ากับเป็นการยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรานั่นเอง

เสียงข้างมากทำกันขนาดนี้เรียกว่าประกาศอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญหรือเปล่า?

นี่ยังไม่นับการปลอมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือร่างที่เสนอประธาน กับร่างที่ให้สมาชิกพิจารณาจริงๆ มีเนื้อหาต่างกันในสาระสำคัญ และการกดบัตรแทนกัน ถามว่าผู้ชนะเลือกตั้งทำแบบนี้ได้หรือ แล้วจะให้ใครตรวจสอบ คณะกรรมการจริยธรรมของสภาหรือ เพราะยังไม่เห็นเคยตรวจสอบใครได้ โดดถีบกันกลางสภายังทำอะไรไม่ได้เลย

นี่คือตัวอย่างของการ "มองมุมอื่นบ้าง" ถ้ารัฐสภาประเสริฐ รัฐบาลดี ก็คงไม่ต้องมีองค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญ...

การอ้างแค่ "การเลือกตั้ง" ว่าเป็นประชาธิปไตย มันง่ายที่สุด และมันทำให้สับสนกันได้ง่ายๆ สำหรับชาติตะวันตกนั้นไม่ต้องไปอ้างถึงมาก ผมเองก็เคยไปศึกษาดูงานที่อเมริกา ไปในช่วงที่มีการเลือกตั้งพอดี ได้พบได้เห็นการเมืองที่สกปรกและเป็นแหล่งหาผลประโยชน์มหาศาลไม่แพ้บ้านเรา จะว่าไปหลายๆ เรื่องแย่กว่าไทยเสียอีก

ที่สำคัญระบบการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ได้คัดกรองคนดีที่สุดเสมอไป หลายรัฐในอเมริกาอยู่ในภาวะล้มละลาย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการใช้จ่ายเกินตัว ประชานิยมและสวัสดิการมโหฬาร ซึ่งเป็นผลจากการบริหารของ "ผู้ที่ชนะเลือกตั้ง" เพื่อหวังคะแนนจากผู้โหวตคือประชาชนทั้งนั้น ไม่มีรัฐไหนปฏิวัติมา