ความต้องการพลังงานของอาเซียนกับแผนการจัดหาพลังงานของประเทศไทย (5)

ความต้องการพลังงานของอาเซียนกับแผนการจัดหาพลังงานของประเทศไทย (5)

จากที่ผมได้พูดถึงเรื่องของการจัดทำแผนด้านพลังงานมาในหลายๆ ตอนที่ผ่านมาจนมาถึงตอนที่แล้วซึ่งก็คือแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาว

ซึ่งในแผนนี้เราก็จะเห็นว่าที่มาของก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทยนี้มาจากสามแหล่งหลักๆ คือ ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากสหภาพพม่า และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่เรานำเข้าทางเรือ

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วเมื่อตอนที่แล้วว่าก๊าซธรรมชาติในประเทศนั้นก็จะมีทั้งก๊าซที่ได้จากบนบกและก๊าซที่ได้จากอ่าวไทย โดยในส่วนของก๊าซธรรมชาติบนบกนั้น ที่ใช้กันอยู่มากก็จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก็คือก๊าซธรรมชาติที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยปัจจุบันก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าน้ำพองนั้นมาจากสองแหล่งคือแหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำพอง และแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งจะถูกขนส่งผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติมายังโรงไฟฟ้าน้ำพอง

สำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพองนี้ในอดีตนั้นถูกก่อสร้างขึ้นโดยมีแผนว่าจะใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งน้ำพองซึ่งในตอนนั้นมีการสำรวจและพบว่าน่าจะมีก๊าซธรรมชาติเพียงพอสำหรับรองรับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขนาดประมาณ 700 เมกะวัตต์ได้ (โดยปกติโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์จะใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 140 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) ต่อมาปริมาณสำรองของแหล่งน้ำพองนั้นกลับลดลงอย่างรวดเร็วจนทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากน้ำพองเฉลี่ยต่อวันนั้นลดลงจนเหลือเพียงประมาณ 15-20 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันซึ่งไม่เพียงพอที่จะใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าน้ำพอง แต่ก็โชคดีที่เราสามารถสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสินภูฮ่อมซึ่งมีปริมาณก๊าซเฉลี่ยประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จึงสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าน้ำพองได้

การลดลงอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดของปริมาณก๊าซแหล่งน้ำพองนั้นถือเป็นสิ่งที่จะต้องพึงระวังในการวางแผนการใช้ก๊าซธรรมชาติด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจากถึงแม้ว่าจะมีการสำรวจปริมาณสำรองเบื้องต้นแล้ว แต่เมื่อถึงเวลานำมาใช้จริง ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ออกมาอาจจะไม่เหมือนกับที่เราคาดไว้ทั้งนี้ก็อาจจะมีสาเหตุจากเรื่องของความดันที่อยู่ภายในหลุมก๊าซธรรมชาติด้วย เป็นต้น

สำหรับแหล่งปิโตรเลียมอื่นๆ ที่อยู่บนบกนั้นมีการพบก๊าซธรรมชาติเพียงเล็กน้อยเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอสำหรับที่จะนำไปใช้สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้

ก๊าซธรรมชาติในประเทศที่สำคัญของเราจึงเป็นก๊าซธรรมชาติที่มาจากอ่าวไทยเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันนั้นก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทยนั้นมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งปริมาณการผลิตในระดับนี้ก็ขึ้นมาในระดับที่สูงสุดแล้ว และจากนี้ไปอีกสองสามปีปริมาณการผลิตนี้ก็จะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็จะเป็นผลทำให้ระยะเวลาของการใช้ก๊าซธรรมชาติของเรานั้นสั้นลง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้มีการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะได้เพิ่มเติมนั้นก็คงจะมีปริมาณที่ไม่มากนัก

สำหรับก๊าซธรรมชาตินั้นจะถูกส่งผ่านมาทางระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยจะเป็นการขนส่งตั้งแต่แหล่งผลิตไปจนถึงผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาตินี้ก็จะต้องมีการวางแผนการก่อสร้างด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถรองรับกับปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นได้ด้วย

โดยแผนที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่จะใช้ในการรองรับปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาตินั้น (ในอดีตที่เราเรียกกันว่าแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ แต่ปัจจุบันนั้นจะไปรวมถึงเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เข่น โรงงานปรับสภาพก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG Regasification Plant) ซึ่งแผนนี้จะต้องสอดคล้องกันกับแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาวด้วย ทั้งนี้ ก็เนื่องจากระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาตินั้นสามารถรองรับกำลังการขนส่งก๊าซธรรมชาติได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นก็จึงต้องมีการก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อที่จะสามารถใช้ในการขนส่งก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ หากแผนการสร้างระบบท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติเกิดการล่าช้าไปกว่าที่ได้กำหนดไว้ ก็จะไปส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติโดยตรงเนื่องจากไม่สามารถขนส่งก๊าซธรรมชาติได้ รวมถึงปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เราจัดหาเพิ่มเติมก็จะไม่มีช่องทางที่จะใช้ในการขนส่งด้วยเช่นกัน

ซึ่งในตอนหน้านี้ ผมก็จะมาพูดถึงแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับกับปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นทุกวันต่อไปครับ