ทางออกจากวิกฤติการเมืองเพื่อปฏิรูปการเมือง

ทางออกจากวิกฤติการเมืองเพื่อปฏิรูปการเมือง

ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน มีจุดร่วมที่ไปด้วยกันได้ นั่นก็คือ “ความต้องการปฏิรูปประเทศไทย โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง”

แต่มีจุดต่างที่ไปด้วยกันไม่ได้และยังมีความขัดแย้งกัน ซึ่งถือเป็นวิกฤติการเมืองไทย ได้แก่ ข้อเสนอของกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และกลุ่มภาคีเครือข่ายที่ประสงค์จะให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และกลุ่มสนับสนุนการเลือกตั้ง บอกว่าจะต้องเดินหน้าเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ให้เสร็จก่อนจึงจะทำการปฏิรูป

โดยกลุ่มที่ต้องการผลักดันให้มีการเลือกตั้ง มองว่าจะเป็นทางออกของประเทศและจะสามารถลดความขัดแย้งลงได้ แต่กลุ่ม กปปส. และภาคีเครือข่าย เห็นว่ายิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งและจะเกิดปัญหาทางตันในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการก่อเหตุขัดขวางการเลือกตั้ง การได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่ครบตามที่จำนวนที่รัฐธรรมนูญฯกำหนด และเปิดสภาไม่ได้ รวมทั้งกระบวนการเลือกตั้งไม่มีความปลอดภัย กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะมีปัญหาไม่ครบตามจำนวน หรืออาจจะเกิดเหตุอื่นๆ ที่ไม่คาดฝันได้ ซึ่งปัญหาในประเด็นต่างๆ นี้ ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ 25 องค์กร ภาคองค์กรธุรกิจ 7 แห่ง และภาคประชาสังคม 18 องค์กร เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งเช่นกัน

ผมเข้าใจว่า ข้อเสนอเรื่องเลื่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลก็ยังคงยืนยันอย่างแข็งขันว่าต้องเดินหน้าเลือกตั้ง จึงทำให้เห็นว่าทางออกจากความขัดแย้งยิ่งตีบตันและนำไปสู่ความขัดแย้งมากยิ่งขึ้นๆ จนอาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงได้ทุกขณะ โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลที่มักจะละเลยการให้ความคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ชุมนุมอยู่บ่อยๆ แต่อาจจะกลับเป็นฝ่ายสร้างเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการให้ท้ายตำรวจ กลุ่ม นปช. หรือกลุ่มก่อกวนอื่นๆ เพื่อเข้ามาสร้างเงื่อนไขความรุนแรงก็ตาม

ผมเข้าใจว่า สถานการณ์ความตึงเครียดในปัจจุบัน เงื่อนไขสำคัญที่จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศและปฏิรูปการเมืองได้นั้น “รัฐบาลรักษาการและนายกรัฐมนตรีจะต้องยอมพิจารณาตนเองและต้องเสียสละ” เพื่อทำให้บ้านเมืองลดความรุนแรงทางการเมืองและอาจจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ นั่นก็คือ การยอมรับความผิดพลาดในการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย และยอมรับหรือเคารพผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯมาตรา 190 ซึ่งถูกมองว่าเป็นการกระทำของการใช้เสียงข้างมากตัดสินใจเพื่อให้ได้มาซึ่งการรวมอำนาจของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลมากยิ่งขึ้น ส่อเจตนาหลีกเลี่ยงการตรวจสอบถ่วงดุล

การยอมรับในสิ่งที่มีการกระทำผิดพลาดโดยการขอโทษประชาชนถือว่าเป็นหลักการทางจริยธรรม คุณธรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีของผู้นำประเทศ รวมทั้งการยอมรับความผิดพลาดในโครงการรับจำนำข้าวซึ่ง ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาว่าส่อไปในทางทุจริต และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่ศาลปกครองสูงสุดบอกให้ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้นำมาสู่การขาดความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาล และการเดินหน้าเพื่อการปฏิรูปการเมืองหรือปฏิรูปประเทศของรัฐบาลรักษาการก็จะก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น จึงเห็นว่ารัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้อง “ประกาศแสดงความบริสุทธิ์ใจเพื่อให้คนกลางเข้ามาปฏิรูปการเมือง” และหาแนวทางลดความขัดแย้งในทางการเมืองและสังคมไทย ใน 2 แนวทาง ดังนี้

แนวทางที่หนึ่ง “เลื่อนการเลือกตั้ง” โดยเชิญทุกฝ่ายปรึกษาหารือ ซึ่งอาจจะขอความเห็นจากนักกฎหมายหลายฝ่ายที่มองว่าเลื่อนการเลือกตั้งได้ หรือจะให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งในเวลานี้รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่า การดึงดันให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนภายหลังการเลือกตั้งก็คือ ความขัดแย้งในสังคมไทยจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม กปปส.ที่ประกาศว่าจะชุมนุมไม่เลิก แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศนโยบายว่าภายหลังการเลือกตั้งจะเข้ามาปฏิรูปการเมือง ก็จะไม่ได้รับการยอมรับ

ดังนั้น ในแนวทางนี้ หากรัฐบาลจะยอมเสียสละและมีความกล้าที่จะประกาศให้ กกต.เลื่อนการเลือกตั้ง และทางพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี จะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยจะไม่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยจะยอมให้พรรคอื่นเป็นแกนนำและเป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้งซึ่งรัฐบาลใหม่ต้องมีนโยบายชัดเจนเพื่อบอกกับสังคมว่าจะเข้ามาเพื่อปฏิรูปการเมืองในระยะเวลาเพียง 10 เดือน โดยเป็นผู้ประสานให้มีการปฏิรูปการเมือง และจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองแต่จะให้กลุ่ม กปปส. และกลุ่มพลังทางสังคมต่างๆ เข้าร่วมเป็น “คณะกรรมการสภาปฏิรูปการเมือง” ในจำนวนไม่เกิน 2,000 คน เมื่อปฏิรูปการเมืองเสร็จรัฐบาลใหม่จะทำการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน

แนวทางที่สอง ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี แสดงความกล้าที่จะ "ประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรีรักษาการ" โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต กราบบังคมทูลลาออก ไม่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการ อันจะนำไปสู่สุญญากาศทางการเมืองและหาทางออกโดยการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 7 มาใช้โดยมีผู้ลงนามรับรองพระบรมราชโองการเสนอนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีใหม่มีวาระอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 12 เดือน โดยมีภารกิจ เช่น

1) สรรหาประชาชนจากทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพต่างๆ จากทั่วประเทศในจำนวนที่เหมาะสมประมาณ 2,000 คน เพื่อเป็น “คณะกรรมการสภาปฏิรูปการเมือง” และให้บุคคลเหล่านี้คัดเลิกกันเองให้เหลือ 300 คนเพื่อทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางปฏิรูปการเมืองและยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นภายใน 10 เดือน

2) ให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน ภายหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และปฏิรูปการเมืองเสร็จเรียบร้อย ส่วนรัฐบาลใหม่ต้องถือเป็นนโยบายในการเข้ามาปฏิรูปประเทศให้สมบูรณ์ต่อไป

3) ให้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมบุคคลที่ชุมนุมทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์ พ.ศ.2553 และ พ.ศ.2556-2557 แต่ทั้งนี้ไม่ครอบคลุมถึงความผิดทางอาญาที่แกนนำกลุ่มต่างๆ และเจ้าหน้าที่รัฐกระทำขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

ข้อเสนอแนวทางดังกล่าว ให้รัฐบาลรักษาการยอมเสียสละเพื่อหาทางออกให้ประเทศพ้นจากภาวะวิกฤติการเมืองร่วมกัน และอาจจะทำให้คู่ขัดแย้งระหว่างรัฐบาลรักษาการและ กปปส. รวมทั้งกลุ่มพลังทางสังคมจะต้องตกลงร่วมกัน เพื่อจะให้การปฏิรูปประเทศไทยโดยเฉพาะการปฏิรูปการเมืองเป็นไปได้ตามที่ทุกฝ่ายพึงประสงค์