หมอวันชัย : ทหารต้องออกมา! (เพื่อจัดเจรจา ไม่ใช่ปฏิวัติ)

หมอวันชัย : ทหารต้องออกมา! (เพื่อจัดเจรจา ไม่ใช่ปฏิวัติ)

ช่วงนี้เป็นช่วงการเมืองฝุ่นตลบ ไม่มีใครฟังใคร ข่าวลือแพร่กระจายตามแก้กันไม่หวาดไหว

ความคิดเห็นที่หวังว่าจะเป็น "ทางออก" ก็ถูกละเลย เมินเฉย มองข้าม ยิ่งถ้าเป็นความเห็นจากบุคคลใน "แวดวงสื่อ" ซึ่งถูกแต้มสีกันไปหมดแล้ว ก็จะยิ่งถูกวิจารณ์จากฟากฝ่ายที่เสียประโยชน์อย่างยับเยิน

วันนี้จึงขอนำความเห็นแปลกๆ ที่สวนกระแสบางกลุ่ม แต่อาจจะโดนใจบางพวก มาถ่ายทอดให้ฟัง คือความเห็นของ นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ นักเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางชื่อดัง

หมอวันชัย เริ่มต้นด้วยการบอกตรงๆ ว่า "ถึงเวลานี้ทหารต้องออกมา!" ก่อนจะขยายความว่าเป็นการ "ออกมา" ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่ใช่แค่เอาคู่ขัดแย้งมาเผชิญหน้ากันออกทีวีเหมือนอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับแกนนำ นปช.เมื่อปี 53 หรือการพบปะกันระหว่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กับนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ช่วงก่อนหน้านี้

"ทหารมีอำนาจดึงคนหลายๆ กลุ่มออกมา เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือคุณสุเทพ ล้วนอยากให้ทหารอยู่ข้างตน ฉะนั้นทหารจึงมีอำนาจแฝงในลักษณะที่ทุกกลุ่มไว้วางใจ จึงควรใช้อำนาจชักชวนให้ทุกฝ่ายมานั่งโต๊ะพูดคุยเจรจา"

อย่างไรก็ดี หมอวันชัย บอกว่า ทหารต้องไม่ทำหน้าที่ "คนกลาง" เพียงแต่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กระบวนการเจรจาเปิดขึ้น แล้วให้คู่ขัดแย้งแต่ละฝ่ายหาคนที่ไว้วางใจและมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง เพื่อสร้างทีมขึ้นมา

นักสันติวิธีชื่อดัง อธิบายว่า หลักการของอำนาจและการก่อเกิดอำนาจมีอยู่ 3 ประการ คือ 1.การใช้กำลัง ไม่ว่าจะเป็นอาวุธ หรือแม้แต่ไม้เรียว ทำให้มีอำนาจ บังคับบัญชาคนอื่นๆ ได้ แต่ก็จะได้ผลเพียงชั่วคราว 2.การใช้เงิน แม้จะได้ผลเหมือนหรือดีกว่าการใช้อาวุธ แต่ก็ไม่ยั่งยืน 3.การใช้ความรู้ เหมือนที่มีคนเคยบอกว่า "ความรู้คืออำนาจ" หรือ knowledge is power

"ผมคิดว่าทหารควรทำบทบาทให้ความรู้กับคู่ขัดแย้งว่า ถ้าไม่ยอมถอยให้กันเลย ถ้ายื้อกันไปแบบนี้แล้วเกิดความรุนแรง อะไรจะเกิดตามมา ถ้าทั้งสองฝ่ายรับฟัง และมีกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยที่ดี น่าจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้"

หมอวันชัย กล่าวต่อว่า โต๊ะเจรจาที่ประสบความสำเร็จ ต้องไม่นำ "จุดยืน" ของแต่ละฝ่ายมาเถียงกัน เพราะจุดยืนนั้นคือคำตอบที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ล่วงหน้า เช่น ไปเถียงกันเรื่องจะมีเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.หรือไม่ อย่างนี้เถียงกันไม่มีวันจบ ทางออกจึงต้องนำ "จุดสนใจ" ของแต่ละฝ่ายขึ้นมาพูด แล้วก็จะพบว่าทั้งสองฝ่ายมีจุดสนใจร่วมกันบางเรื่องหรือหลายเรื่อง แล้วจึงพัฒนาการทำงานร่วมกันจากจุดสนใจนั้น

"ผมคิดว่าทหารอาจใช้อำนาจในแนวทางที่ 1 ก็ได้ คือใช้กำลัง แต่มันไม่ควรเกิด เพราะจะก่อความเสียหายตามมาใหญ่หลวง ฉะนั้นทหารจึงควรทำหน้าที่ตามแนวทางที่ 3 คือให้ความรู้กับคู่ขัดแย้ง วางบทบาท convener (ผู้ที่เรียกคนอื่นมาประชุม) เพื่อให้เกิด convening (การรวมตัวหรือประชุมร่วมกัน) โดยไม่ต้องเป็น mediator (คนกลาง) เอง แต่หากลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยมาหาจุดสนใจร่วมของคู่ขัดแย้ง ไม่ใช่ให้มานั่งชี้หน้าด่ากัน"

"ที่สำคัญการพูดคุยเจรจาต้องมีกติกา เช่น เมื่อฝ่ายหนึ่งพูด อีกฝ่ายหนึ่งต้องฟัง ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้ในภาวะขัดแย้งแตกแยกไม่มีใครฟังใครนั้น ต้องใช้คนหรือองค์กรที่มีอำนาจแฝงแบบทหารมาทำให้เกิดกระบวนการ"

ส่วนที่หลายฝ่ายทักท้วงว่าการเจรจาไม่สามารถนำไปสู่ทางออกได้ โดยยกตัวอย่างการเจรจาระหว่างนายกฯอภิสิทธิ์ กับคนเสื้อแดง หรือแกนนำ นปช.เมื่อปี 53 นั้น หมอวันชัย บอกว่า สาเหตุที่การเจรจาครั้งนั้นไม่สำเร็จ เพราะไม่ได้ทำตามหลักวิชาการ ไม่เป็นไปตามทฤษฎีของการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลาง ทางออกในแบบสันติวิธีจึงถูกปิดไปอย่างน่าเสียดาย

ปัจจัยที่ทำให้การเจรจาครั้งนั้นไม่สำเร็จ คือ 1.เป็นการเจรจาที่ไม่มีคนกลาง มีแต่คู่ขัดแย้งเผชิญหน้ากันตรงๆ 2.ทั้งสองฝ่ายนั่งเผชิญหน้ากันเลย ทั้งๆ ที่โดยหลักการต้องนั่งโต๊ะกลม เพื่อให้ทุกคนรู้สึกเท่าเทียมกัน ไม่เผชิญหน้ากันมากเกินไป และ 3.โจทย์ในการพูดคุยต้องชัดเจน ไม่ใช่เอาคำตอบหรือจุดยืนของแต่ละฝ่ายมาพูด ซึ่งตอนนั้นคือ "ยุบสภาหรือไม่ยุบสภา" มานั่งเถียงกัน

"ถ้าการเจรจาครั้งนั้นกระทำโดยคณะที่มีความรู้ ผลที่ออกมาน่าจะดีกว่าที่ปรากฏ โดยเฉพาะการเปลี่ยนโจทย์การพูดคุยใหม่ แทนที่จะเป็นเรื่องยุบหรือไม่ยุบสภา เป็นทางออกของประเทศคืออะไร ครั้งนี้ก็เช่นกัน หากปล่อยให้นั่งเถียงกันเรื่องจะเลือกตั้ง 2 ก.พ.หรือไม่ ก็เถียงกันได้ทั้งวัน จึงต้องเปลี่ยนโจทย์ใหม่เพื่อหาจุดสนใจ แล้วพัฒนาจากตรงนั้นเพื่อแสวงหาจุดร่วมของคู่ขัดแย้งให้ได้ในที่สุด"

ถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลแบบ "พบกันครึ่งทาง" คือให้ "ทหารออกมา" แต่เน้นไปที่การ "จัดเจรจา" ไม่ใช่ "จัดรัฐประหาร"