เวลาของการเปลี่ยนแปลง

เวลาของการเปลี่ยนแปลง

กลิ่นอายของการก้าวย่างข้ามปียังไม่หนีเราไปไหน ถือว่ายังเป็นช่วงเวลาของการตั้งเป้าหมายใหม่ให้ตัวเอง

ปีใหม่นี้ต้องทำให้ชีวิตเราดีขึ้น

ชาวตะวันตกมีธรรมเนียมตั้งแต่ยุคโรมัน ที่จะใช้ช่วงรอยต่อของปีเป็นเวลาตั้งสติ รวบรวมสมาธิ เพื่อกำหนดว่าปีหน้าฟ้าใหม่ ฉันตั้งใจจะทำอะไรในชีวิตให้ดีขึ้น หรือที่เรียกว่าการกำหนด New Year’s Resolution

วาระพิเศษเช่นปีใหม่ มีความสำคัญในการตั้งหลักตั้งใจอยากทำอะไรดีๆ เพราะในเชิงจิตวิทยา ปีใหม่ให้มุมมองว่า อดีตที่ผ่านมาแล้ว ให้ผ่านไป เรากำลังก้าวเข้าสู่ห้วงเวลาใหม่ ที่เป็นพื้นที่ว่างใส เป็นโอกาส เป็นความเป็นไปได้ ไม่มีข้อจำกัด

เหมือนเล่นเกม ปีที่ผ่านมา ถือว่า Game Over จะแพ้ จะผิด ไม่ต้องคิดมาก เพราะเราจะเริ่มเล่นตาใหม่ เอาความเชี่ยวชาญที่สั่งสมเป็นฐาน ใช้ความพลาดเป็นประสบการณ์ เริ่มใหม่ได้ โลกให้โอกาส

อนึ่ง หลายท่านเห็นว่า อยากเริ่มอะไรใหม่ๆที่ดี ไม่จำเป็นต้องรีรอ ต้องขอเป็นปีใหม่ เริ่มเมื่อไหร่ๆก็ได้ ไม่ต่างกัน

เมื่อสิ้นธันวาคม เดือนเลื่อน เคลื่อนเปลี่ยนชื่อเป็นมกรา ถือว่าเป็นเรื่องสมมุติทั้งสิ้น

นักจิตวิทยาเสริมว่า สิ่งที่พูดมาไม่ผิด อย่างไรก็ดี มนุษย์ธรรมดาๆแบบเดินดินกินข้าวแกง มีพลังใจยังไม่แรงพอ ที่จะสะกดให้ตัวเองเริ่มทำสิ่งนี่โน่นได้ดั่งใจในทุกขณะจิต

ดังนั้น เมื่อมีวาระสำคัญเช่นวันข้ามปี จึงถือเป็นกุศโลบายที่แยบยล ให้คนมีกำลังใจ เพื่อลุกขึ้นมาหมายมั่น ว่าฉันจะเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ดิฉันสรุปว่า วาระวันดีที่มีการสิ้นสุดบางช่วงและกำลังก้าวล่วงไปห้วงใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นปีใหม่ เป็นเดือนมกราคมของปีเสมอไป

ตรุษจีนก็ได้ ตรุษไทยก็ยังมี วันพ่อก็ดี วันแม่ก็เหมาะ เพราะมีอุบายว่าทำให้แม่ เห็นแก่พ่อ วันเกิดก็ได้ เพราะเรากำลังก้าวเข้าสู่อีกขวบปีที่ยังมีลมหายใจ

หรือจะสร้างรอยเชื่อมต่อเองก็ได้ ไม่ผิดกติกา อาทิ ตั้งใจว่า จะวัดผลสำเร็จของเป้าใหม่เป็นขั้นๆ เช่นทุก 3 เดือน เมื่อถึงวันสุดท้ายของ 3 เดือน กำลังจะเลื่อนเข้าเดือนที่ 4 ก็ถือเป็นโอกาสดีของการมีสภาวะและนัยยะคล้าย Game Over ถึงเวลาหยอดเหรียญตั้งหลักเล่นต่อใหม่ ให้ดีขึ้นๆ

เมื่อมี New Year’s Resolution ประเด็นสำคัญถัดไป คือทำอย่างไรให้ “กัดติด” ทำให้เกิด ไม่เหมือนมีแต่ฝันบรรเจิด แล้วไม่เปิดตาตื่น ลุกขึ้นยืนทำเสียที

Dr. Rosabeth Moss Kanter แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ผู้ลงแรงวิจัยเจาะลึกเรื่อง Confidence หรือความมั่นใจ แนะนำว่า กรุณาระวังศัตรูตัวเอ้ของความมุ่งมั่น ที่คอยบั่นทอนความตั้งใจ คอยซุ่มทำร้ายไม่ให้เราได้เป้าหมายดั่งใจ

ศัตรูหลักๆ ที่ต้องผลักให้พ้นคือ

1.ความคิดว่า ฉันไม่น่าทำได้

ปีนี้ตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือประเทืองปัญญาให้ได้เดือนละ 1 เล่ม

คิดไปคิดมา ปลงว่า เราจะมีเวลาหรือ ปีที่ผ่านมาแม้หนังสือการ์ตูน ก็วุ่นจนยังไม่ได้อ่าน

หากคิดว่าทำไม่ได้ ไม่ต้องสงสัยหรือแปลกใจ ว่าปลายปีใหม่ ต้องได้ปลงใหม่คล้ายทุกปี ว่านี่ไง ทำไม่ได้ๆ

สาเหตุเพราะอาจเลือกที่จะละ เลิกทำเสียตั้งแต่ต้นมือ

หรือแม้ทำ ก็ฝืนทำแบบจำใจ แบบเหยาะแหยะ หยิบโหย่ง เพราะมัวใช้พลังไปในการท่องจำจนขึ้นใจ ว่าทำไม่ได้ๆ

ลองนึกถึงนักกีฬาที่ลงแข่งแบบแช่งตัวเอง ถอดใจว่า “แพ้แน่ๆ” โค้ชไหนๆ ไม่ต้องเป็นหมอดู ก็สามารถฟันธงรู้ตรงกันว่า แพ้แน่! ตั้งแต่ยังไม่ลงแข่ง

หากชนะ คงเป็นเพราะคู่แข่งบอกไม่ว่างเล่นด้วยครับ

2.มั่นใจเกินพิกัด

ขาดความมั่นใจ จนท่องจำได้ทุกขณะจิต คิดว่า “ฉันแพ้แน่” กับ คิดว่า “ฉันแพ้ไม่เป็น” จนเห็นตนยิ่งใหญ่กว่าใครทั้งมวลมหาประชาชน ล้วนน่ากังวลกันคนละอย่าง

คนเราควรกล้าฝัน...ฝันให้ไกล และทำทุกอย่างเพื่อไปให้ถึง

แม้ในที่สุด จะไม่ได้ทุกอย่างที่ฝัน แต่อย่างน้อยก็ยังภูมิใจว่า หากแพ้ ก็แพ้อย่างสมศักดิ์ศรี มิได้นั่งรอ นอนรอ ขอโชคให้เข้าข้าง

กระนั้นก็ดี ฝันไกล กับ ฝันเหลวไหล เพราะมั่นใจเกินพิกัด จัดว่าเป็นคนละฝันเดียวกัน

หากตระหนักว่าเราไม่ใช่ ไม่แม้ใกล้เคียงน้องยาย่า กรุณาอย่าตั้งเป้าว่า ฉันจะคว้าเจมส์จิมาแนบแอบอิง

เพราะแม้จะขจัดศัตรูตัวแรก คือ ความหวั่นไหวไม่มั่นใจไปได้ ก็มิได้แปลว่า เป้ามหัศจรรย์ใดๆ ฉันย่อมทำได้หากแค่ “ใจพร้อม”

ดังนั้น การตั้งเป้าหมายท้าทาย ทำได้ แต่ต้องไม่ห่างไกลเกินไขว่คว้า

แค่คิดยังล้า ตอนทำ ท่าจะไม่รอด

3.ไม่ทอนเป้าหมายให้มีช่องไฟพอเหมาะ

“ปีนี้ฉันจะลดน้ำหนัก 6 กิโล” ทำยากเย็นกว่าตั้งเป้าหมายว่า “ปีนี้ฉันจะลดน้ำหนักเดือนละครึ่งกิโล” แม้ทั้งคู่ มุ่งสู่ตัวเลข 6 เหมือนกัน

“ปีนี้ฉันจะอ่านหนังสือใหม่ 12 เล่ม” อาจไม่เกิด จะบรรเจิดกว่า ถ้าเปลี่ยนเป็น “ปีนี้ฉันจะอ่านหนังสือใหม่เดือนละ 1 เล่ม”

แม้ผลคือ 12 เล่มเท่ากัน แต่เมื่อเว้นช่องไฟใหม่ ให้กระจายพอเหมาะ ไม่กระจุกเป็นกองตั้งสูงตระหง่าน ส่งผลดีต่ออัตราความสำเร็จ เพราะเป้าที่มองเห็น หากปล่อยให้เป็นก้อนยักษ์ยิ่งใหญ่ จะดูยากเย็นเข็ญใจเกินจำเป็น จนเปิดทาว่างให้ศัตรูตัวแรกแทรกเข้ามากระซิบว่า “ทำไม่น่าได้ๆ” จนเราเชื่อสนิทใจ ว่าทำไม่ได้จริงๆ

นอกจากนั้น เป้าที่ดูเหมือนมหึมา ส่งผลให้เราท้อ รีรอ ขอมั่วนิ่ม ผัดผ่อนจนต้องอ่านหนังสือทั้ง 12 เล่มในช่วงเดือนสุดท้าย

เลยอ่านได้แค่ปก

4. ชอบหาแพะ

หากเรามักมีข้ออ้าง โทษคนรอบข้าง รวมถึงโกรธโทษฝนโทษฟ้า ว่าทำไมไม่มีตา โทษมหาสมุทร ว่ามาฉุดให้เราทำไม่ได้ในสิ่งดีๆที่ตั้งใจ ถือเป็นนิสัยที่ต้องปรับ

คนที่ประสบความสำเร็จ เชื่อล้นใจว่า เป้าหมายจะถึงได้ เป็นเพราะความมุ่งมั่นของตัวฉัน ทำได้หรือไม่ได้ ฉันเป็นผู้รับผิดชอบเอง เช่นนี้จึงถือว่าใจนักเลง เก่งจริง ไม่ต้องม้วนอิงกับข้ออ้างสารพัดจัดเต็ม

เมื่ออุ่นใจ ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดหรือไม่ ฉันอธิบายได้ เพราะเลี้ยงแพะไว้เป็นฝูง

อาจต้องทำใจ ว่าต้องเลี้ยงแพะต่อไป มวลมหาประชาชนเขาไม่เอาด้วย

5.มีแต่ฝัน ไม่มีแผน

เป้าหมายที่ไม่มีแผนว่าต้องทำอะไรบ้าง เหมือนสร้างวิมานในอากาศ จะมีเป้าหรือไม่มี ไม่หนีกัน

เมื่อไม่มีแผนให้เดิน กรุณารอไปเพลินๆ เดี๋ยวก็ได้ตั้งเป้าใหม่ปีถัดไป เพราะอยู่ห่างจากเป้าเท่าไหร่ เมื่อไรๆ ก็อยู่ห่างเท่าเดิม

เวลา เขามาแล้วเขาก็ไป ไปแล้ว ไปแบบลับ ไม่กลับมา

น่าเสียดาย ถ้าใช้เขาไม่คุ้มค่า

ขอให้ท่านผู้อ่านมีฝัน มีแผน มีพลังของความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี สำหรับทั้งตัวเรา และพี่น้องชาวไทยค่ะ