จับตาหนี้เสียปูดรายได้หด

จับตาหนี้เสียปูดรายได้หด

สำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือสศค.ปรับประมาณการจีดีพีปี 2556 ลดลงเหลือ 2.8% จากประมาณครั้งก่อนที่ 3.7%

และประมาณการ 5.2% เมื่อต้นปี พร้อมปรับลดจีดีพีปี 2557 จาก 5.1% เป็น 4% ภายใต้เงื่อนไขสำคัญว่า การเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 พร้อมกับได้รัฐบาลใหม่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เม็ดเงินการลงทุนลงเต็มที่ 30% จากวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำ และ 2 ล้านล้านบาท จากโครงการลงทุนคมนาคมขนส่ง

กรณีเลวร้ายจากการเมืองยืดเยื้อ เม็ดเงินการลงทุนไม่ได้ตามเป้าหมาย จีดีพีมีโอกาสจะปรับลดลงมาอยู่ 3% และแน่นอนแล้วว่า การเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ได้เลื่อนออกไป จากสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่สงบ นั่นหมายความว่า ภาพรวมจีดีพีของประเทศจะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ความเชื่อมั่นที่ยังไม่ดีขึ้นในช่วงปลายปี จะต้องลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะกระทบต่อแผนการลงทุนและการบริโภคภายใน รวมถึง จำนวนนักท่องเที่ยวราว 3 แสนคนที่สร้างรายได้ก็จะหายไปด้วย

แนวโน้มเศรษฐกิจดังกล่าวสอดคล้องกับการประเมินเศรษฐกิจ ของหน่วยงานประเมินเศรษฐกิจต่างๆ แต่สศค.ได้แสดงความเป็นห่วง 2 ประเด็นสำคัญที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว ประเด็นแรก คือ สถานการณ์จัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2557 โดยระบุว่า หากรัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ให้ได้ตามเป้าหมายที่ 2.25 ล้านล้านบาท หน่วยงานจัดเก็บรายได้ต้องทำงานอย่างหนัก ในลักษณะที่เรียกได้ว่า “หืดขึ้นคอ” แม้ว่า 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ รัฐบาลจะตุนรายได้เกินเป้ามาไว้แล้วราว 1 หมื่นล้านบาท

ดัชนีชี้วัดสำคัญที่ทำให้สศค.แสดงความเป็นห่วงกับสถานการณ์รายได้ คือ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของการนำเข้าสินค้าที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะสะท้อนถึงการลงทุนในอนาคต และ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภคภายในประเทศที่หดตัวอย่างชัดเจนในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งส่งสัญญาณถึงความไม่เชื่อมั่นที่มากขึ้น หากว่า เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่อง แน่นอนว่า จะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ส่วนนี้ และกระทบต่อภาพรวมการจัดเก็บรายได้ภาษีในส่วนอื่นๆ

เมื่อรายจ่ายในปีงบประมาณถัดไปรออยู่ โดยเฉพาะรายจ่ายประจำที่มีสัดส่วนกว่า 80% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด หากยอดจัดเก็บรายได้รัฐบาลพลาดเป้า วิธีการที่จะแก้ไข ก็คือ การกู้เงิน เพื่อนำเงินที่ได้จากการกู้มาทดแทนเม็ดเงินส่วนที่จัดเก็บไม่ได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ รัฐบาลจะต้องเพิ่มวงเงินขาดดุลงบประมาณ ซึ่งก็อาจจะกระทบต่อเป้าหมายงบประมาณสมดุลในปี 2560

ประเด็นที่สอง คือ สถานการณ์หนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน โดยสศค.กังวลว่า หากภาวะเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่อง จะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ทั้งลูกหนี้ในส่วนของแบงก์รัฐและเอกชน ที่สุดจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องเข้ามาแก้ไข อย่างไรก็ดี สถานการณ์หนี้เสียในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 3% แต่หากขยายตัวอย่างก้าวกระโดดมาที่ 5-6% ในปีนี้ ถือเป็นจุดเสี่ยงต่อโครงสร้างระบบสถาบันการเงิน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้ามาแก้ไข

แม้จะเป็นเพียงการส่งสัญญาณร้ายต้อนรับต้นปี 2557 แต่เมื่อสศค.ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงการคลังที่กำกับดูแลนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของประเทศออกมาเตือนถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น นั่นหมายความว่า สศค.จะต้องมีข้อมูลเชิงลึกที่มากพอจะส่งสัญญาณ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาช่วยป้องกัน ก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม และ อาจเป็นการส่งสัญญาณให้ฝ่ายการเมืองเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ที่ถือเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน