รัฐเกรละ (Kerala) ขึ้นชั้นมือวางอันดับหนึ่งของอินเดีย

รัฐเกรละ (Kerala) ขึ้นชั้นมือวางอันดับหนึ่งของอินเดีย

ผมเคยเขียนถึงรัฐเกรละในคอลัมน์นี้มาครั้งหนึ่งแล้วในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 27 มีนาคม 2556

ซึ่งการเขียนถึงรัฐเกรละในครั้งนั้นเป็นผลมาจากการเดินทางร่วมคณะไปกับท่านทูตพิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลีในขณะนั้น ทำให้ผมได้มองเห็นศักยภาพของรัฐเกรละจนอดไม่ได้ที่จะต้องนำมาเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลกัน ถึงขนาดว่าผมเขียนจั่วหัวไว้ในตอนนั้นเลยว่าได้ไปพบขุมทองแหล่งใหม่ใต้สุดของอินเดียเข้าแล้ว

มาถึงตอนนี้ก็ต้องขอเรียนว่ามอง “รัฐเกรละ” ไว้ไม่ผิดจริงๆ เพราะจากการจัดอันดับรัฐยอดเยี่ยมของอินเดียล่าสุดประจำปี 2556 หรือ State of the States Report 2013 ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มบริษัทสิ่งพิมพ์ชื่อดังของอินเดีย คือ India Today Group ร่วมกับบริษัท Indicus Analytical ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยเศรษฐกิจระดับแนวหน้าของอินเดียปรากฏว่ารัฐเกรละได้รับเลือกให้เป็นรัฐที่ดีที่สุดอันดับหนึ่งของอินเดียในกลุ่มรัฐขนาดใหญ่ และรัฐกัว (Goa) ได้รับเลือกให้เป็นรัฐที่ดีที่สุดในกลุ่มรัฐขนาดเล็ก ซึ่งทั้งสองรัฐนี้เป็นรัฐที่อยู่ติดกันและอยู่ในภาคใต้ของอินเดียทั้งคู่

ผลการจัดอันดับดังกล่าวได้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ด้วยความเที่ยงธรรมและความเป็นมืออาชีพของผู้จัดทำ โดยข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์จะเป็นข้อมูลเชิงปริมาณทั้งหมด ไม่มีการใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ใช้ “ความรู้สึก” ในการประเมินอย่างเด็ดขาด จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผลการจัดอันดับรัฐที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้มีความน่าเชื่อถือและสะท้อนให้เห็นการพัฒนาและความเจริญของรัฐต่างๆ ได้อย่างชัดเจน โดยผู้ประเมินได้แบ่งกลุ่มตัวแปรที่จะวัดค่าออกเป็น 8 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ เศรษฐกิจมหภาค ธรรมาภิบาล สุขภาพ การศึกษา ตลาดผู้บริโภค การเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุน ซึ่งภายใต้แต่ละกลุ่มจะมีการกำหนดตัวแปรเชิงปริมาณแยกย่อยออกไปอีกอย่างละเอียด ที่สำคัญคือ ทุกตัวแปรจะต้องสามารถวัดค่าเป็นเชิงปริมาณได้ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเศรษฐกิจมหภาคจะมีการกำหนดตัวแปรย่อยออกเป็นร้อยละของประชากรที่อยู่เหนือเส้นความยากจน ร้อยละของประชากรที่อยู่ในเขตเมือง อัตราเงินเฟ้อ รายได้เฉลี่ยต่อคน จำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อคน เป็นต้นหรืออย่างกลุ่มตลาดผู้บริโภคก็มีการกำหนดตัวแปรย่อยออกเป็นจำนวนครัวเรือนที่มีเครื่องรับโทรทัศน์อยู่ในครอบครอง สัดส่วนครัวเรือนที่เป็นชนชั้นกลางและที่มีฐานะร่ำรวยในเขตเมือง สัดส่วนครัวเรือนที่เป็นชนชั้นกลางและที่มีฐานะร่ำรวยในเขตชนบทจำนวนเงินฝากธนาคารเฉลี่ยต่อคน จำนวนคนที่เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลเชิงปริมาณในแต่ละตัวแปรย่อยเรียบร้อยแล้ว ผู้ประเมินก็จะนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อประเมินและจัดอันดับต่อไป

สำหรับในปี 2556 นี้ รัฐเกรละได้รับการประเมินในภาพรวมว่าเป็นรัฐที่ดีที่สุดอันดับหนึ่งของประเทศอินเดียในกลุ่มรัฐขนาดใหญ่ จากที่เคยถูกประเมินให้อยู่ในอันดับที่ 9 เมื่อปี 2554 หรือเมื่อสองปีที่แล้ว แต่รัฐเกรละก็ได้มีการพัฒนามาอย่างไม่หยุดยั้ง จนทำให้ได้รับการปรับอันดับจากอันดับที่ 9 ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 2 เมื่อปีที่แล้วและก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 1 อย่างสง่างามและสมภาคภูมิในปี 2556 นี้ซึ่งเป็นการประเมินครั้งล่าสุด

ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะสงสัยต่อว่าแล้วรัฐเกรละดีอย่างไร ทำไมถึงได้รับการจัดอันดับให้เป็นรัฐที่ดีที่สุดของอินเดียในปีนี้ อันนี้ก็ต้องขอเรียนว่าตัวแปรเชิงปริมาณที่ใช้ในการประเมินได้แสดงให้เห็นว่ารัฐเกรละเหนือกว่ารัฐอื่นอย่างชัดเจน โดยรัฐเกรละประสบความสำเร็จในระดับสูงทั้งในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนามนุษย์ ที่เห็นกันชัดๆ เลยก็อย่างอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัฐหรือที่เราเรียกกันว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ซึ่งของรัฐเกรละอยู่ในอัตราสูงถึง 10% สูงกว่าอัตราการขยายตัวของอินเดียทั้งประเทศ นอกจากนั้น รัฐเกรละยังมีการขยายตัวของค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นสูงถึง 30% เทียบกับการขยายตัวโดยเฉลี่ยของทั้งประเทศที่อยู่ในอัตราเพียง 5% เท่านั้น ส่วนในเรื่องของการศึกษา ปรากฏว่าสัดส่วนครูต่อนักเรียนในรัฐเกรละเพิ่มขึ้นจาก 2:100 หรือครู 2 คนต่อนักเรียน 100 คน เป็น 4:100 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดในขณะที่รัฐอื่นๆ ยังไม่ค่อยพัฒนาในเรื่องนี้เท่าใดนัก ซึ่งนโยบายด้านการศึกษาดังกล่าวส่งผลให้คนเกรละถือเป็นคนที่มีการศึกษาดีที่สุดในประเทศอินเดีย และอีกตัวแปรหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ จำนวนเจ้าของรถจักรยานยนต์ในรัฐเกรละมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 35% ในขณะที่อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ 15% เท่านั้น

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ภาวะความตกต่ำทางเศรษฐกิจของประเทศอินเดียกลับไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของรัฐเกรละเลย อย่างเช่นในปีงบประมาณ 2554-55 ที่ผ่านมา ประเทศอินเดียได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศอยู่ที่ 6.5% แต่ปรากฏว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัฐเกรละก็ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 9.5% ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าคนเกรละอพยพไปทำงานอยู่ในกลุ่มประเทศอ่าวในตะวันออกกลางจำนวนมากมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 70-80 แล้ว และคนเกรละโพ้นทะเลเหล่านี้ หรือที่เรียกกันว่า “NRI” หรือ “Non Residence Indian” ซึ่งก็คือคนอินเดียที่ไม่มีถิ่นพำนักในประเทศอินเดียได้ส่งเงินกลับบ้านที่รัฐเกรละในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล โดยในปี 2555 รัฐเกรละรับเงินส่งกลับจากชาวเกรละที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศเป็นมูลค่าถึง 6.5 แสนล้านรูปี ซึ่งเงินส่งกลับนี่เองที่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนของรัฐเกรละที่สำคัญ

สำหรับท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านบทความของผมมาโดยตลอด คงจะพอจำกันได้ว่าผมมักจะพูดถึงรัฐคุชราตอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นรัฐที่มีศักยภาพสูงที่ผู้ประกอบการและนักธุรกิจไทยควรให้ความสำคัญ จนถึงวันนี้ผมก็ยังขอยืนยันว่ารัฐคุชราตยังเป็นรัฐที่มีศักยภาพสูงอยู่เช่นเดิม แม้ว่าการจัดอันดับในปีนี้จะถูกรัฐเกรละแย่งชิงตำแหน่งอันดับหนึ่งไป ทำให้รัฐคุชราตถูกเบียดหล่นไปอยู่อันดับ 4 หลังจากที่เคยอยู่ในตำแหน่งอันดับหนึ่งนี้ในปี 2554 และ 2555 มาก่อนก็ตาม เพราะเรื่องแบบนี้คงต้องดูกันนานๆ

อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับในครั้งนี้กลับยิ่งทำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเขตแนวพื้นที่ความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศอินเดียยังคงฝังตัวอยู่ในแถบตะวันตกของประเทศเป็นหลักตั้งแต่กรุงเดลีและปริมณฑล ลงมาทางใต้พาดผ่านรัฐคุชราต รัฐมหาราษฏระ รัฐกัว และรัฐเกรละ ซึ่งเป็นเขตแนวพื้นที่ที่คนไทยอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าใดนัก ผมก็เลยอยากจะฝากทิ้งท้ายไว้สักนิดว่าอินเดียยังมีอะไรอีกมากมายที่เป็นประโยชน์สำหรับนักธุรกิจไทยและอินเดียยังเป็นอะไรที่มากกว่าดินแดนพุทธภูมิสำหรับแค่จัดทัวร์ไปไหว้พระหรือดินแดนที่เต็มไปด้วยขอทานและความสกปรกน่ารังเกียจ...ไม่งั้นบริษัทต่างชาติคงไม่แย่งกันเข้าไปลงทุนเพื่อหาประโยชน์กันหรอกนะครับเจ้านาย !!!