แนวโน้มการเมือง

แนวโน้มการเมือง

ถ้าเปรียบเทียบการต่อต้านรัฐบาลขณะนี้กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จะพบความแตกต่างที่มีนัยให้พิจารณากันให้ถี่ถ้วน

ความแตกต่างข้อแรก รัฐบาลจอมพลถนอม-ประภาสแตกต่างจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐบาลจอมพลถนอมมีความเป็นเผด็จการชัดเจน รัฐประหารตัวเองในปี 2514 และบริหารราชการโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่ใช้รัฐธรรมนูญที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย จนเกิดการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและนำมาซึ่งการประท้วงต่อต้านในเดือนตุลาคม 2516 ส่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาจากการเลือกตั้ง แถมยังบริหารราชการภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่ฝ่ายเพื่อไทยและปัญญาชนต้องการแก้ไข เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยที่ผ่านการลงประชามติ

สอง สัมพันธ์กับประการแรก กล่าวได้ว่า มวลชนและปัญญาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลจอมพลถนอมมีความเป็นเอกภาพ เผด็จการและความฉ้อฉลยุคนั้นชัดเจนไม่ซับซ้อนเท่าสมัยนี้ ส่วนมวลชนและปัญญาชนปัจจุบันไม่มีเอกภาพ มีมวลชนและปัญญาชนต่อต้าน แต่ก็มีอีกฝ่ายสนับสนุน แต่ก็ต้องแยกแยะให้ดี เพราะปัญญาชนที่สนับสนุนนั้นยืนยันว่า มิได้สนับสนุนรัฐบาล แต่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านนั้นมุ่งเน้นไปที่ตัวรัฐบาลเพื่อไทยภายใต้ “ระบอบทักษิณ” อีกทั้งต้องการให้ชะลอการเลือกตั้งไปอย่างน้อย 8-15 เดือนเพื่อปฏิรูปอย่างจริงจังก่อน ภายใต้ “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ที่อ้างว่าสามารถเกิดขึ้นภายใต้ “สุญญากาศทางการเมือง” นั่นคือ ขอให้คุณยิ่งลักษณ์และคณะรัฐมนตรีรักษาการณ์ลาออกทั้งคณะ เพื่อที่จะปรับใช้บางมาตราในรัฐธรรมนูญในการที่จะทำให้เกิด “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ตามการตีความรัฐธรรมนูญที่ขัดแย้งกับฝ่ายที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา

ความแตกต่างประการที่สามคือ สมัยปี 2516 ยังไม่มีเทคโนโลยีสื่อสารก้าวหน้าเหมือนในปัจจุบัน ความตื่นตัวทางการเมืองของคนทั่วประเทศที่เป็นผลจากสื่อสมัยใหม่อาจจะแตกต่างจากปัจจุบัน แต่ก็น่าคิดว่า แม้นว่าในปี 2516 สื่อยังไม่ก้าวหน้า แต่จำนวนผู้คนยังออกมาได้มหาศาลขนาดนั้น ดังนั้น การประเมินจำนวนมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในปัจจุบันก็ควรต้องนำปัจจัยเรื่องสื่อมาพิจารณาด้วย แต่แน่นอนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ว่าฝ่ายไหนในปัจจุบันย่อมน่าจะมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงกว่าในอดีต ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่นอกเหนือไปจากการมีสื่อสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การศึกษา และนโยบายของพรรคการเมืองที่ตอบสนองความต้องการ รวมทั้งมิติด้านจริยธรรมทางการเมืองด้วย

ดังนั้น จากข้างต้น ฟันธงได้ว่า คุณยิ่งลักษณ์ไม่ลาออกเด็ดขาด แม้นจะมีคนจำนวนมหาศาลเป็นประวัติการณ์ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดออกมาต่อต้าน แต่คุณยิ่งลักษณ์ก็เดินสายพบปะประชาชนเหนือและอีสานซึ่งเป็นฐานมวลชนที่สนับสนุนเธอ อุ่นเครื่องหล่อเลี้ยงกระแส แสดงให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า มีมวลชนสนับสนุนเธอ อีกทั้งไม่ต้องการให้มวลชนของเธอออกมาเคลื่อนไหวที่กรุงเทพฯภายใต้อารมณ์ที่คุกรุ่นขณะนี้ หากเกิดการปะทะรุนแรงขึ้น รัฐบาลจะเสียเปรียบ

ขณะเดียวกัน กระแสมวลชนที่ออกมามากมายในกรุงเทพฯก็ทำให้แกนนำมีความกล้าที่จะยกระดับการต่อต้านถึงขนาดปิดล้อมสถานที่รับสมัครการเลือกตั้ง เพื่อขัดขวางมิให้เกิดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ปีหน้า แน่นอนว่าผิดกฎหมาย ซึ่งแกนนำและมวลชนก็ดูจะไม่ยี่หระแล้ว เหตุเพราะเห็นว่า “มีมวลชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยและอีกหลายๆ ที่ในโลก”

ภาคส่วนต่างๆ พยายามที่จะเป็นเวทีกลางที่จะหาทางให้มีการตกลงประเด็นการปฏิรูปร่วมกันได้ก่อนการเลือกตั้ง หรือถ้าจำเป็นก็อยากจะให้ขอให้เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปบ้าง แต่คงไม่ใช่ให้ปฏิรูปเสร็จก่อนภายใต้การมี “นายกรัฐมนตรีพิเศษ” แต่ข้อตกลงคงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะฝ่ายต่อต้านไม่ไว้วางใจระบอบทักษิณ รวมทั้งพรรคที่ชอบร่วมกับฝ่ายไหนก็ได้ ขอให้เป็นรัฐบาลก็พอ

เห็นได้ว่า ฝ่ายหนึ่งคงเดินหน้าให้มีเลือกตั้ง อีกฝ่ายหนึ่งเดินหน้าไม่ให้มีเลือกตั้ง ถ้าเกิดมีเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาฯ ผลการเลือกตั้งก็จะเป็นปัญหายิ่งใหญ่ แม้นว่าจะเปิดสภาได้ ตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็ยากที่จะบริหารราชการได้ แต่ถ้าเลือกตั้งไม่ได้ สถานะของรัฐบาลรักษาการณ์ก็ยากที่จะดำรงอยู่ได้อีกเช่นกัน ขณะเดียวกัน จะตีความมาตราไหนในรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกก็คงยากอยู่

ดังนั้น หากไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ระหว่างสองฝ่าย สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือ มวลชนสองฝ่ายคงออกมาปะทะกันในพื้นที่ทั่วประเทศ จะมีการยึดกุมพื้นที่โดยพลังมวลชนที่มีมากกว่าอีกฝ่าย ส่วนพื้นที่ไหนที่กลางๆ ก็อาจจะมีการประลองกำลังกัน ยากที่จะหลีกเลี่ยงการจลาจล ถ้าเป็นเช่นนั้น รัฐบาลรักษาการก็จะต้องใช้มาตรารักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งก็คิดไม่ออกว่าจะรักษาได้อย่างไร หากมวลชนมีจำนวนมากทั้งสองฝ่าย หรือพื้นที่ถูกฝ่ายใดยึดกุมก็ยากที่จะส่งกำลังไปสลายได้

กองทัพจะสามารถเข้ามาจัดการโดยไม่เข้าข้างฝ่ายไหนได้ก็ต่อเมื่อจลาจลรุนแรงทั่วไปจนประชาชนเองก็ต้องการความสงบ รวมทั้งนานาชาติก็เรียกร้องเช่นกัน ซึ่งภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว คงไม่ใช่รัฐประหารแล้ว แต่กระนั้น ปัญหาที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ หากกองทัพไม่มีเอกภาพและแตกเป็นสองฝ่าย สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ สงครามกลางเมือง และถ้าความขัดแย้งรุนแรงขนาดเป็นการเลือกระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน ก็ยืนยันได้ว่า มหาอำนาจแต่ละฝ่ายก็จะเข้ามาแทรกแซงถือหางต่อรอง สงครามกลางเมืองก็ยากที่จะสิ้นสุดลงง่ายๆ !