เพียร์โค้ช - อีกหนึ่งแนวคิดเพื่อสร้างอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่

เพียร์โค้ช - อีกหนึ่งแนวคิดเพื่อสร้างอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่

ยุทธศาสตร์ที่สำคัญอันหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พ.ศ. 2557-2560 เน้นให้มีการสร้างนักวิจัย

ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายและองค์กรวิจัยให้มีความเข้มแข็ง การสร้างอาจารย์มหาวิทยาลัยให้เป็นคนดีที่เก่งด้านวิจ้ยต้องอาศัยการจัดการความรู้ที่ทรงประสิทธิภาพ ระบบเพียร์โค้ช (peer-coach) เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่กลุ่มอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ ชื่อ Thai Young Scientists Academy นำมาปรับใช้กับเพื่อนอาจารย์และอาจารย์รุ่นน้องในมหาวิทยาลัยนานกว่า 3 ปี คำว่า “เพียร์” ในที่นี้หมายถึง มีอายุหรืออาวุโสพอๆ กัน ซึ่งระบบเพียร์โค้ชหรือโค้ชที่มีอายุหรืออาวุโสพอๆ กันนี้ ประกอบด้วยกระบวนการที่ให้อาจารย์นักวิจัยรุ่นพี่ถ่ายทอดเคล็ดลับต่างๆ ทั้งด้านการสอนและวิจัยให้แก่รุ่นน้องที่เพิ่งเริ่มเป็นอาจารย์ ซึ่งในท้ายที่สุดก็คาดว่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องถึงนักเรียนนักศึกษาของประเทศ

เชื่อว่าทุกท่านคงได้เห็นศักยภาพของนักเรียนนักศึกษาของไทยตามสื่อต่างๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ เหรียญรางวัลโอลิมปิกวิชาการ ซึ่งหากได้รับการ “ต่อยอด” อย่างเหมาะสม เยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในทศวรรษหน้า นอกจากนี้ยังมีนักเรียนไทยที่มีศักยภาพสูงอีกมากกระจายอยู่ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งหากได้รับการ “เสริมฐาน” ให้มีความรู้เข้มแข็งแล้ว ก็จะมีความสามารถไม่แพ้เยาวชนในกลุ่มแรก เราได้เรียนรู้จากประเทศที่พัฒนาแล้วในตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ว่าการสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนช่วยสร้างเศรษฐกิจ และการอยู่ดีกินดีของประชาชน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า หากเราไม่สร้างคนดีที่เก่งด้านวิทยาศาสตร์ ก็ยากที่ประเทศไทยจะก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของโลกได้

อย่างไรก็ตาม การต่อยอดและเสริมฐานความรู้แก่นักเรียนนักศึกษาต้องอาศัยอาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่คุณภาพสูงในมหาวิทยาลัย แต่กลับเป็นว่าอาจารย์นักวิจัยใหม่ส่วนหนึ่ง ยังไม่สามารถระเบิดความสามารถของตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอาจเป็นด้วยหลายเหตุผล เช่น ภาระงานประจำที่มากจนไม่อาจสร้างนวัตกรรมด้านการศึกษาและวิจัยขั้นสูง การขาดเครื่องมือและสื่อการสอนที่ทันสมัย เป็นต้น ที่จริงอุปสรรคเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับสากลที่อาจพบได้แม้ในมหาวิทยาลัยระดับโลก ดังนั้น องค์ความรู้และกระบวนการที่จำเป็นในการแก้ปัญหาเหล่านี้ย่อมต้องมีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีโค้ชช่วยถ่ายทอดสู่อาจารย์รุ่นใหม่อย่างเป็นระบบ

ทักษะด้านการสอนและการวิจัยมีพลวัต เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามบริบทของสังคม กลุ่มนักเรียน และองค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้น อาจารย์จึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้กระบวนการสอนและวิจัยอย่างไม่สิ้นสุด อนึ่ง นอกเหนือจากงานสอนและวิจัยแล้ว อาจารย์รุ่นใหม่ยังมีงานอื่นๆ อีกหลายประเภท อาทิ งานธุรการ (เช่น การเรียบเรียงจดหมายและประสานงานกับหน่วยงานอื่น) งานบริหาร งานเพื่อสังคมและศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งโค้ชที่ดีจะช่วยแนะนำให้อาจารย์รุ่นใหม่สามารถ “บริหารจัดการ” งานเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนมีเวลามากพอให้พัฒนากระบวนการสอนและวิจัยได้ แม้ว่าจะมีเวลาพอแล้ว แต่อาจารย์รุ่นใหม่ก็ยังจำเป็นต้องพัฒนาทักษะการแบ่งเวลา เพื่อให้ทั้งงานสอนและวิจัยมีความสมดุลและดีเด่นเท่าเทียมกัน หากอาจารย์รุ่นใหม่ไม่ทำวิจัย (ทั้งวิจัยพื้นฐานและประยุกต์) ก็ยากที่จะตามทันกระแสของความรู้ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวินาทีได้ นอกจากนี้ในตำรายังมีคำถามอีกมากมายที่รอนักวิจัยมาเฉลยคำตอบ ซึ่งในหลาย ๆ คำตอบก็อาจนำไปสู่ความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างก้าวกระโดด

การวิจัยยังเป็นรูปแบบหนึ่งของ “active-reflective learning” (การเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์) ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแบบอย่างให้ศิษย์ได้รู้จักการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ ตลอดจนเรียนรู้จากประสบการณ์จริงอีกด้วย ส่วนในด้านทักษะการสอน เชื่อว่าอาจารย์รุ่นใหม่หลายท่านสามารถเรียนรู้วิธีการสอนในรูปแบบบรรยายได้ด้วยตนเอง แต่โค้ชสามารถช่วยในเรื่องทักษะการนำเสนอ การจัดลำดับความสำคัญของความรู้ที่จะถ่ายทอดให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละกลุ่ม และเทคนิคการประเมินผลผู้เรียน อย่างไรก็ตาม การสอนที่มีลักษณะคิดวิเคราะห์พัฒนาได้ยากกว่ารูปแบบบรรยายมาก แต่อาจารย์รุ่นใหม่จะสร้างทักษะนี้ได้เร็วขึ้นหากมีโค้ชที่ดี การสอนที่นักศึกษาต้องคิดวิเคราะห์ยังอาศัยการจัดหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ สื่อการสอนที่ดีเยี่ยม แหล่งเรียนรู้ที่กว้างมากพอ และอาจารย์ที่รู้กว้างและลึก ซึ่งประเด็นหลังมักเป็นอาจารย์ที่ผ่านการโค้ชวิธีการสอนและทำงานวิจัยสม่ำเสมอ

จึงอาจกล่าวได้ว่า นักเรียนนักศึกษาและอาจารย์รุ่นใหม่ในวันนี้เป็นวงจรที่ต่อเนื่องกัน อาจารย์รุ่นใหม่ที่ได้รับการโค้ชอย่างดี ก็จะเป็นผู้มีศักยภาพสูงในการพัฒนานักเรียนนักศึกษาให้เป็นผู้รู้ เป็นผู้คิดวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็น แล้ววันหนึ่งนักเรียนนักศึกษาเหล่านี้ก็จะเติบโตขึ้นเป็นอาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่หรือเป็นโค้ช ทำให้ทักษะการเป็นอาจารย์นักวิจัยที่ดีมีจริยธรรมและจรรยาบรรณของครูผู้ถ่ายทอดศิลปวิทยาการและนักวิจัยผู้มีความซื่อสัตย์ต่องานของตน ส่งผ่านไปยังคนรุ่นต่อไปได้อย่างไม่ขาดตอน และสังคมไทยก็จะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง