"สิทธิพลเมืองไทย" ในสถานการณ์พิเศษ

"สิทธิพลเมืองไทย" ในสถานการณ์พิเศษ

“บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” ตามวรรคแรก รัฐธรรมนูญ มาตรา 72

และวรรคสุดท้าย “...การแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งและการอำนวยความสะดวกในการไปเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมาย บัญญัติ” ทำให้ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องตีความและกำหนด สิทธิพลเมืองไทย ในสถานการณ์พิเศษ ขึ้นมาสักชุดหนึ่งหรือหลายๆ ชุดในกรอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เช่น ตามมาตรา 3, 4, 7, 70, 71, 72, 87 เป็นต้น

เพื่อยืนยันสร้างความเข้าใจสิทธิอันถูกต้องให้แก่พลเมืองที่กำลังสับสนอยู่ สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่คนไทย ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 255 ชุมนุมอย่างสันติ 24 พฤศจิกายน ซึ่งจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ เมื่อวันที่ 9 และ 22 ธันวาคม 2556

สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ แต่ทุกหน้าที่ตามกฎหมาย ต้องยึดโยงกับสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ โดยสิทธิเสรีภาพคือหลักประกันสิทธิทั้งปวงรวมทั้ง สิทธิเลือกตั้ง

ในการจะต้องไปเลือกตั้งในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเลย ภายใต้การนำข้อกฎหมาย เลือกตั้งในสถานการณ์ปกติมาใช้ เช่นนี้ พลเมืองย่อมมีสิทธิถามว่าเรามี “เสรี” และการเลือกตั้ง “เป็นธรรม” กับเราแล้วหรือ

สิทธิพลเมืองก็เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เกิดขึ้นเองพร้อมการเกิดโลกมนุษย์และหมายความคงที่ตลอดกาล แต่มีกำเนิดและวิวัฒน์ตามบริบทการเมืองการปกครองและเศรษฐกิจ

คำประกาศสิทธิมนุษยชน (Declaration of Human Rights) ที่ประกาศครั้งแรกในโลก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1789 นั้น ถือเป็นคำประกาศสิทธิพลเมืองฉบับแรกด้วย เพราะรวม สิทธิพลเมืองเป็นเนื้อเดียวกัน ชื่อเต็ม คำประกาศฉบับนี้ คือ คำประกาศสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง (Declaration des droits de l’homme et du Citoyen)

ขณะนั้นเพิ่งเดือนเศษๆ ภายหลังวันที่ประชาชนชาวฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งได้ลุกฮือทำลายคุกบาสติญญ์สำเร็จ 14 กรกฎาคม 2789 โดยที่การก่อหวอดลุกฮือดำเนินมานานก่อนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะวิเคราะห์ท้าวความไกลขนาดไหน เช่น บ้างเห็นว่าเพราะอิทธิพล แนวคิด “หูตาสว่าง” ของนักคิดยุคสมัยแสงสว่างทางปัญญา (enlightenments ideas) เริ่มขึ้น ศตวรรษที่ 17 เช่น จอห์น ล็อค เพียงแต่คุกบาสติญญ์เป็นสัญลักษณ์การกดขี่ของชนชั้นผู้ปกครอง คือ นักบวช กษัตริย์ ขุนนางชนชั้นสูงที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจับคนคุมขังตามใจชอบ จึงถือวันทำลายคุกบาสติญญ์เป็นวันปฏิวัติฝรั่งเศส เฉลิมฉลองเป็นวันชาติ ทั้งที่หลักฐานชี้ว่าในวันยึดคุก กองกำลังป้องกันมีน้อยมาก ขอไปทางการก็ไม่ส่งมา ผู้ชุมนุมจึงยึดได้ง่ายดาย ไม่ได้เป็นวีรกรรมอะไรนักหนา

ขณะนั้น เป็นภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานสดๆ ร้อนๆ หลังการลุกฮือปฏิวัติยึดอำนาจโดยผู้ชุมนุม สมัชชาร่างแห่งชาติ (Assemblee nationale constituante) จำเป็นต้องแสดงเจตจำนงและกรอบกติกาที่จะใช้ต่อไปในสังคม กว่าสมาชิกสมัชชาฯจะผลักดันคำประกาศสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ฉบับนี้ออกมาได้ เพราะต้องเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะจากฝ่ายประชาชน มีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างหนัก ซึ่งอีกหนึ่งเดือนกว่าๆ หลังวันประกาศไปแล้ว ชนชั้นปกครอง อันมีตัวแทน คือ พระเจ้า หลุยส์ที่ 16 จึงทรงยอมรับ คำประกาศสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ฉบับนี้ ที่ต่อมาได้เป็นบาทฐานให้กับคำประกาศสิทธิมนุษยชนสากล (Universal Declaration of Human Rights) ของโลก

หลักการสำคัญของคำประกาศฯฉบับประวัติศาสตร์ฉบับนี้ คือ การนิยาม สิทธิของบุคคล (individual rights) และสิทธิของส่วนรวม (collective rights) ในบริบทสังคมฝรั่งเศสขณะนั้น โดยมีความคิดอ่านของนักคิดยุคแสงสว่างทางปัญญาช่วยนำทาง เช่น วอลแตร์ (ด้านสิทธิบุคคล) จัง จ๊าค รูสโซ (ด้านสัญญาประชาคม) มองเตสกิเออ (ด้านการแยกอำนาจ) มีทั้งหมด 17 ข้อ

สำคัญที่สุด ข้อ 1 “มนุษย์เกิดมาเสรีและเสมอภาคในสิทธิกฎหมาย ...” อาศัยแนวคิดด้านสิทธิ ที่ถือว่าเป็น สิทธิตามธรรมชาติ ของมนุษย์ทุกคน มีความศักดิ์สิทธิ์ และยกถอนออกจากบุคคลไม่ได้ เป็นสากลในทุกเวลาและสถานที่ อันจะเป็นบาทฐานให้นิยามสิทธิพลเมืองได้ ในข้อ 2 คือ “สิทธิในการมีเสรีภาพ ในทรัพย์สิน ในความมั่นคง และในการขัดขืนต่อต้านการกดขี่บังคับ (resistance to oppression)” ซึ่งมีความหมายผูกพันว่า รัฐบาลโดยประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาให้ใช้แทนอำนาจกษัตริย์ในระบบเก่า (Ancien regime) มีหน้าที่ต้องพิทักษ์สิทธิพลเมืองดังกล่าว

โดยที่ภาวะการกดขี่ (oppression) ย่อมเกิดขึ้น ดำรงอยู่และเปลี่ยนแปลงตามวิวัฒนาการของสังคม สิทธิพลเมืองจึงวิวัฒน์ตามไปด้วย แนวคิดอารยะขัดขืน (civil disobedience) ก็ดี และแนวคิดสิทธิเสรีภาพครอบครองอาวุธปืน ในสหรัฐอเมริกาก็ดี เป็นสิทธิที่อาศัยหลักการนี้

สังคมฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติ ไม่เสมอภาคกันเลย มีฐานันดร 3 ประเภท ฐานันดรที่ 3 คือประชาชนทั่วไปเท่านั้นที่เสียภาษี ฐานันดรที่ 1 (ชนชั้นนักบวช) และ ฐานันดรที่ 2 (กษัตริย์และขุนนาง ชนชั้นสูง) ไม่ต้องเสียภาษี ความไม่เสมอภาคอื่นๆ ก็เช่น ฐานันดรที่ 3 ประชาชนชาวนาทั่วไปไร้สิทธิถือครองที่ดิน ต้องเช่าที่ดินของฐานันดรที่ 1 และ 2 เป็นต้น

ข้อ 7 “บุคคลย่อมไม่ถูกกล่าวหา จับกุม และขังคุก เว้นแต่มีการออกคำสั่งตามกฎหมาย ...” ก็เพราะต้องการล้มล้างอำนาจเบ็ดเสร็จของกษัตริย์และขุนนางชนชั้นสูงออกหนังสือจับ (letter de cachet) คนเข้าคุกตามอำเภอใจ

ข้อสุดท้ายมีว่า “สิทธิในทรัพย์สินอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะล่วงละเมิดมิได้ เว้นเสียแต่มีการจำกัดสิทธิตามกฎหมายบัญญัติ..” ก็เพราะความไม่เสมอภาคเรื่องการถือครองที่ดินดังกล่าว

สิทธิพลเมืองไทย ในสถานการณ์พิเศษ เช่นในขณะนี้ จึงควรเขียนขึ้นมาได้แล้ว

แม้บางข้อบางสิทธิอาจถูกวิพากษ์ว่าเฉียดใกล้แนวคิดอนาธิปไตย (anarchy) และสนับสนุนการโค่นล้มล้าง (subversion) ดังที่ คำประกาศสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองฉบับแรกของโลกก็เคยประสบมาแล้ว