จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2

จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2

ข้อเสนอแนะประชาภิวัฒน์เพื่อปฏิรูปประเทศไทยโดยสันติวิธี

จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 :ข้อเสนอแนะประชาภิวัฒน์เพื่อปฏิรูปประเทศไทยโดยสันติวิธี

ดร.สุรพล ศรีวิทยารองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต

Email: [email protected]

1. การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้ว ควรจะใช้กลไกการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้เป็นกุญแจไขประตูเพื่อเปิดโอกาสสู่การปฏิรูปประเทศไทยโดยสันติวิธีเพื่อสร้างสรรค์สถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสมบูรณ์แบบแท้จริงของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน โดยทุกพรรคการเมืองต้องเสียสละไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้

2. การสัตยาบันของพรรคการเมืองสนับสนุนปฏิรูปประเทศไทย

พรรคการเมืองทุกพรรคควรยินยอมพร้อมใจกันเสียสละไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้โดยการลงสัตยาบันไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ทุกพรรค และหันมาสนับสนุนให้มีการอภิวัฒน์สันติโดยประชาชน (People Peaceful Revolution) เพื่อปฏิรูปประเทศไทยด้วยการสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สมบูรณ์แบบแท้จริงของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน

3. กลไกการเลือกตั้งสมาชิก “สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย”

พรรคการเมืองทุกพรรคควรยินยอมพร้อมใจกันร่วมมือกับคณะกรรมการ กปปส. พิจารณาคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งคนกลางที่เป็นอิสระกระจายสัดส่วนตามกลุ่มอาชีพต่างๆ ซึ่งไม่สังกัดพรรคการเมืองและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับนักการเมืองทุกพรรครวมจำนวน 800 คน (ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง : กกต.ตรวจสอบประวัติพิสูจน์ความเป็นอิสระ) เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิก “สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” (People’s National Reform Assembly) โดยใช้ประเทศไทยเป็นเขตเลือกตั้ง

ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เพียง 1 คนจากผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนทั้งสิ้น 800 คนตามหลักความเสมอภาค “One man one vote” โดยเท่าเทียมกัน และให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้คะแนนเสียงมากที่สุดลำดับที่ 1-400 คนเป็นผู้ชนะได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิก “สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” และออกเสียงประชามติ (Referendum) มอบอำนาจให้สมาชิก “สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ทั้งฉบับ

4. ช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) ของการอภิวัฒน์สันติโดยประชาชน

(ประมาณ 2-4 ปีหรือเร็วกว่านี้ขึ้นอยู่กับการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สมบูรณ์แบบเสร็จสิ้นโดยมีเสถียรภาพมั่นคงถาวร)

4.1 การอภิวัฒน์สันติโดยประชาชน ให้ใช้ “สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” (People’s National Reform Assembly) เป็นกลไกประชาภิวัฒน์ในการปฏิรูปประเทศไทยโดยสันติวิธีเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สมบูรณ์แบบของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชนซึ่งมีการปกครองโดยนิติรัฐบนหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ขึ้นในประเทศไทย

4.2 การปฏิรูปประเทศไทย “สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” (People’s National Reform Assembly) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงรวมจำนวน 400 คน เป็นรัฎฐาธิปัตย์เพื่อใช้อำนาจรัฎฐาภิบาล (Sovereign Governance) เพื่อดำเนินการ 2 ประการดังนี้

(1) “สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” จัดให้มีการเลือกตั้งคัดสรรสมาชิก “สภาประชามนตรี” (People National Convention) ที่เป็นคนกลางอิสระไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและนักการเมืองจำนวนไม่เกิน 99 คน เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาภิวัฒน์เพื่อปฏิรูปประเทศไทย + ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับให้เสร็จสมบูรณ์ (ซึ่งอาจรวมถึงร่างกฎหมายปฏิรูปประเทศไทยที่ประชาชนต้องการและจำเป็นบางฉบับด้วย) ส่งมอบให้ “สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ (Referendum) รับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาภิวัฒน์และร่างกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยให้เสร็จสมบูรณ์ต่อไป

(2) “สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” จัดให้มีการเลือกตั้งคัดสรร “นายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล” ซึ่งเป็นคนกลางอิสระไม่สังกัดพรรคการเมืองและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและนักการเมืองจำนวน 1 คนโดยต้องชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด (Absolute Majority) จากจำนวนสมาชิก “สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” 400 คน แล้วให้ประธานสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยเป็นผู้นำชื่อผู้ชนะการเลือกตั้งขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “นายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล” เพื่อเป็นผู้นำปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งจะเป็นผู้คัดสรรรัฐมนตรีจำนวนที่เหมาะสมโดยส่งรายชื่อให้ “สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” รับรองให้ความเห็นชอบเป็น “คณะรัฐมนตรีเฉพาะกาล” เพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยให้เสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดต่อไป