ใยไม่พูดกัน

ใยไม่พูดกัน

สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้นำไปสู่คำถามจากหลายส่วนถึงเหตุผลที่มาและแนวทางค้นหาที่ไป โดยในการจะหาให้เจอได้จำเป็นต้องมีการสื่อสาร

ระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริหารจัดการ

แต่ในความพยายามตั้งวงคุยกัน หลายครั้งที่ไม่อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ดังตั้งเป้าหมายได้ เพราะมักเกิดอาการคนพูดหลุดประเด็น พูดวน พูดไม่เข้าวัตถุประสงค์ ที่สำคัญคือคนที่เหลือก็ปล่อยให้ไหลยาว แม้จะรู้สึกเบื่อหน่ายแต่ก็ไม่มีใครบอกกล่าวกัน ได้แต่รอจนถึงคิวตัวได้พูดกับเขาบ้างแล้วก็หมดเวลาไปในที่สุด

บางคนอาจคิดว่าสภาพดังกล่าวมีความเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมไทยที่ไม่ต้องการให้อีกฝั่งรู้สึกเสียหน้าถ้าถูกเบรก แต่การศึกษาในต่างประเทศก็พบว่าชาวตะวันตกที่กล้าแสดงออกก็ประสบภาวะเช่นนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะในการประชุมกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ที่หลายครั้งเกิดความล้มเหลวในการสื่อสารคือคุยกันแล้วหลงทาง คุยกันแล้วสับสนหักเห ไม่มีหัวข้อการดำเนินไป ทางแก้ปัญหานี้ที่สำคัญคือการที่ผู้เข้าประชุมต้องบอกกล่าวหรือเตือนขึ้นมาว่ากลุ่มกำลังพูดกันอยู่ไม่ตรงทิศทาง แต่คนส่วนใหญ่ก็มักเลือกนิ่งเฉยมากกว่า ...

งานวิจัย What prevents senior executives from commenting upon miscommunication in top management team meetings? โดย Henning Bang พบว่า คนจำนวนมากคิดว่าอยู่เงียบๆ ดูจะเป็นการปลอดภัยกว่า เพราะกลัวว่าการแย้งขึ้นมาอาจพาให้เกิดผลกระทบทางลบได้ทั้งกับตัวเอง คนที่ถูกขวาง หรือกับความสัมพันธ์ในกลุ่ม และกระบวนการทำงานร่วมกันต่อไป บางคนจึงคิดว่ายอมเสียเวลาหน่อยปล่อยให้การประชุมดำเนินไปเรื่อยๆ แล้วค่อยไปหาทางออกเอาอีกทีในภายหลัง

นอกจากความกลัวยังมีเหตุผลจากการไม่เห็นประโยชน์ของการพูดบอก เข้าทำนอง พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง คือเห็นว่าบอกไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมา ไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือชักจูงให้การประชุมเป็นไปอย่างมีสาระประโยชน์ขึ้นได้อยู่ดี บางคนอาจเคยมีประสบการณ์พยายามทำมาก่อนแล้วก็ยังลงอีหรอบเดิม อย่างนั้นนั่งฟังชิลๆ ไปเรื่อยดีกว่า

ถัดมาเป็นเหตุผลจากความไม่คุ้นเคยในวิธีการ โดยมีบางคนกล่าวว่าไม่เคยมีธรรมเนียมชนิดนี้ในการประชุมที่เมื่อไรเห็นว่าพูดหลุดหลงแล้วจะมีคนท้วงติงขึ้นให้ ฉะนั้นถ้าจะมีใครที่อยู่ดีๆ แสดงอาการเช่นนี้ขึ้นมาก็ดูจะเป็นเรื่องอึดอัดน่าลำบากใจ เช่นเดียวกับถ้าองค์กรไหนไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติในการให้ความคิดเห็นต่อวิธีทำงานของคนในทีม ก็ดูจะประหลาดถ้าใครจะลุกขึ้นบอกกันว่า คุณกำลังขี่ช้างจับตั๊กแตนหรือเห็นเส้นผมบังภูเขาอยู่หรือไม่

และยังมีเหตุผลจากการไม่คิดว่าอยู่ในขอบข่ายบทบาทของตัวเองที่จะไปท้วงติงขึ้นได้ เช่น ไม่ได้เป็นประธานในที่ประชุมแล้วจะให้มาแซงพูดช่วยสรุปการคุยก็ดูกระไรอยู่ หรือเป็นผู้อ่อนวัยอ่อนประสบการณ์กว่าก็ควรปล่อยให้ผู้ใหญ่เขาคุยครื้นเครงกันไปเรื่อยๆ บางคนก็คิดว่าแม้ตัวเองจะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความตั้งใจจะมาคุยในที่ประชุม แต่บางทีอาจอยู่ในความสนใจของหัวโต๊ะก็ไม่ควรไปขัดจังหวะ ซึ่งอาจเป็นตัวเองก็ได้ที่ไม่เห็นความเชื่อมโยงของเรื่องนี้ หรือไม่รู้ว่าหัวหน้าอาจกำลังต้องการพาการคุยไปสู่เส้นทางที่วางแผนไว้ก็เป็นได้ ฉะนั้นก็นิ่งเฉยสังเกตการณ์ไปก่อนน่าจะดีกว่า

4 เหตุผลที่กล่าวมาเป็นข้อค้นพบหลักจากการศึกษาที่เห็นได้ว่าสอดคล้องกับหลายบริบท ไม่จำกัดแค่ในสภาพวัฒนธรรมแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดก็ล้วนอยากได้รับการยอมรับ และไม่อยากเป็นที่รังเกียจเหม็นขี้หน้าของใคร อย่างไรก็ดี ดีกรีอ่อนแก่ของความคิดเหล่านี้ เช่น กลัวมากเป็นพิเศษ หรือไม่เห็นเป็นธรรมเนียมควรปฏิบัติอย่างยิ่งยังมีปัจจัยผลักดันที่ทำให้เกิดความเข้มข้นในระดับต่างกัน

ปัจจัยแรกคือ มุมมองต่อคนอื่นที่ร่วมในการประชุมว่าเขามีสถานะและบทบาทใด ยิ่งถ้าเขาอยู่ในระดับเหนือหรือครอบงำได้มากกว่าก็จะยิ่งทำให้เกิดความลังเลไม่อยากบอกกล่าวได้มากขึ้น หรือบางทีอาจเป็นที่การรับรู้ในความคิดความต้องการของอีกฝ่าย เช่นรู้ว่าผู้เข้าร่วมประชุมบางคนต้องพานพบปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาหนักหนา พอเริ่มพูดก็พรั่งพรูจากเรื่องนั้นไปเรื่องนี้ พาให้เสียเวลา แต่เราก็คงไม่อยากไปขัดจังหวะขวางลำ บางคนเห็นและเข้าใจว่าบุคลิกของอีกคนเป็นแบบนั้นคือ เวลาพูดแล้วต้องบรรยายไปอ้อมเขามาก่อนแล้วค่อยเจอทางขึ้น ก็ต้องยอมปล่อยให้เขาเกริ่นวนไปก่อนไม่งั้นอาจจะเครียดจนคิดไม่ออกได้

ปัจจัยที่สองคือมุมมองต่อตัวเอง เช่นเดียวกันถ้าเราเห็นตัวเองอยู่ในสถานะหรือบทบาทด้อยกว่าก็เป็นการยากจะให้พูดแสดงความคิดออกมา หรือบางคนคิดว่าบุคลิกตัวเองเป็นแนวอัธยาศัยดี สุภาพ และมีความอดทน ก็เห็นว่าไม่ควรพูดแสดงสิ่งที่ทำให้ตัวเองกลายเป็นคนไม่น่ารักในสายตาคนอื่นออกไป หรืออีกทางคือคิดว่าตัวเองขาดความมั่นใจ วิตก ลังเล ไม่กล้า ก็ยิ่งไปเสริมส่งให้ 4 เหตุผลที่กล่าวมามีดีกรีเข้มข้นไปกว่าคนอื่นๆได้

ปัจจัยต่อมาคือมุมมองต่อความสัมพันธ์ที่มีกับคนอื่น โดยอาจแบ่งออกได้เป็นแบบที่ยังไม่มั่นคงเท่าไร เช่นเพิ่งรู้จักไม่คุ้ยเคยกัน ก็ยิ่งทำให้ไม่เห็นบทบาทตัวเองในการเข้าไปมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการประชุม หรือเห็นว่าความสัมพันธ์ไปในทางไม่ค่อยดีมีข้อพิพาทกันอยู่ เช่นเป็นคนที่เคยงัดข้อกันมาก่อน อาจคิดว่าคนๆ นี้พูดไปก็ไม่มีผลดีอะไรหรือหลีกเลี่ยงไม่อยากปะทะกันให้มากขึ้นเดี๋ยวจะทำงานกันต่อได้ยาก อีกชนิดคือความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดดีต่อกัน อันนี้ก็ทำให้เบรกกันยากในที่ประชุมเพราะต้องเพิ่มความระมัดระวังไม่อยากก่อความร้าวฉานในเรื่องใด

สุดท้ายคือปัจจัยเชิงวัฒนธรรมที่ต้องยอมรับว่าในบางสังคมผลสำเร็จของงานไม่ได้เกิดขึ้นจากการจับเข่าคุยเคาะกันออกมา แต่คุยเพื่อให้เกิดการเข้าขากันไปมากกว่า แล้วที่เหลือก็จะประสานต่อกันได้ง่าย โดยเฉพาะระดับบริหารบางทีคุยเพื่อประเมินว่าจะร่วมมือกันได้หรือไม่ รายละเอียดยกให้ลูกน้องมารับช่วงต่อไปภายหลัง และด้วยความเป็นวัฒนธรรมก็อาจทำให้เป็นสิ่งปรับเปลี่ยนได้ยาก ควรปรับตัวเรียนรู้เพื่อให้เหมาะกับแต่ละแหล่งมากกว่า วัฒนธรรมในที่นี้ยังหมายรวมถึงระดับองค์กรที่แต่ละที่ก็มีวิธีพูดจาหารือต่างกัน

อย่างไรก็ดี แม้เหตุผลและปัจจัยประกอบการเลือกนิ่งเฉยไม่สื่อสารให้เกิดการประชุมกันอย่างตรงประเด็นจะมีมากมายเป็นที่เข้าใจได้ว่าใยบางคนจึงไม่พูดบอกกันให้ชัดแจ้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องยอมรับในเงื่อนไขแล้วปล่อยให้เป็นไปตามวิถีแบบได้ก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่การเรียนรู้จะช่วยให้เราหาทางลดแรงต้านเหล่านี้ลง เช่น ตกลงกันไว้ก่อนเลยว่าไม่ต้องกลัวจะเป็นการสร้างความเสียหน้าให้แก่กันเพราะบางทีคุยแล้วเพลินหลุดประเด็นก็ขอให้ช่วยบอกกล่าวกัน หรือตกลงสัญลักษณ์บางอย่างที่เป็นเครื่องบอกว่า ลุกขึ้นเขียนกระดานแล้วเป็นอันเข้าเรื่องกันเสียที แม้ความเข้าใจนี้อาจจะห่างจากสาเหตุแท้จริงของสถานการณ์ที่เกิดในบ้านเมืองเราขณะนี้ แต่ความพยายามสื่อสารเพื่อเกิดผลลัพธ์ที่ดีกับกลุ่มก็น่าจะเป็นสิ่งเอามาเชื่อมโยงเพื่อประเทศชาติของเราได้