สายเกินไปแล้วที่จะเยียวยาความเกลียดชังในสังคมไทย?

สายเกินไปแล้วที่จะเยียวยาความเกลียดชังในสังคมไทย?

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนได้ประสบกับสามเหตุการณ์ทางการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบทสะท้อนที่ดี

ของปัญหาสำคัญที่สังคมไทยกำลังประสบ และหากไม่พยายามเยียวยาจริงจัง อาจเป็นแผลกลัดหนองเรื้อรังที่สามารถแตกได้ง่ายๆ หากมีอะไรไปสะกิดแม้เพียงนิดเดียว

เหตุการณ์แรก ลูกศิษย์คนหนึ่งขึ้นสเตตัสเฟซบุ๊คว่าได้ฟังวิทยุชุมชนเสื้อสีแถวรอบนอกของกรุงเทพฯคลื่นหนึ่ง ประกาศขอเงินสนับสนุนเพื่อไปซื้ออาวุธ โดยบอกว่าจะเอาไปใช้กับผู้ชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน “ถึงจะไม่ตาย ขอป่วนมันสักตู้มสองตู้มเถอะ” แล้วยังทิ้งท้ายว่า “กสทช. จะมาจับเหรอ? มาสิ มึงตาย”

เหตุการณ์ที่สอง เพื่อนในเครือข่ายเฟซบุ๊คของผู้เขียน เชิญชวนเพื่อนพ้องออนไลน์ของเขาไปร่วมชุมนุมการเมืองด้วยถ้อยคำว่า “อย่าลังเลเลือกข้าง อย่าอยู่ตรงกลาง ขัดขวางพวก…(ขออนุญาตเซนเซอร์ แต่ความหมายคือสัตว์เลื้อยคลานสะเทินน้ำสะเทินบกชนิดหนึ่ง) บอกลูกบอกเมีย ออกมาไล่… (คำเดิม) วันที่ 9”

เหตุการณ์ที่สาม อาจารย์ผู้ใหญ่ระดับศาสตราจารย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์แบบสันติวิธี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรมาปรึกษาว่า ถ้าจะเสนอให้สื่อโทรทัศน์ทั้งที่มีสีและไม่มีสีมีแบบแผนปฏิบัติใหม่ในการออกอากาศสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยจะให้มีกรอบภาพเล็กๆ ที่นำเสนอเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวหรือสิ่งที่อีกฝ่ายซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามทางการเมืองต้องการสื่อสารไปพร้อมๆ กับเนื้อหาที่นำเสนอออกจอใหญ่ เพื่อให้ผู้คนสามารถเปิดรับข่าวสารได้ทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กันจะทำได้ไหม ทั้งในเชิงเทคนิค และเชิงนโยบาย และที่สำคัญ การทำอย่างนี้จะทำให้สังคมที่แบ่งขั้วทางความคิดแบบสังคมไทยได้เยียวยาตนเองด้วยภาวะข้อมูลที่รอบด้านและสมดุลขึ้นได้บ้างไหม

ขอวิเคราะห์ไปทีละเหตุการณ์ เหตุการณ์แรก ไม่ต้องสงสัยว่าเป็นวาจาแห่งความเกลียดชัง (hate speech) ซึ่งในที่นี้ เป็นการชักชวน ยั่วยุให้ผู้ฟังสื่อซึ่งอาจมีอุดมการณ์ทางการเมืองคล้ายคลึงกันมีส่วนร่วมในการสำเร็จความเกลียดชังในขั้นสูงสุดคือ การใช้ความรุนแรงเพื่อทำร้ายกลุ่มเป้าหมายความเกลียดชัง ซึ่งในที่นี้ก็คือผู้ที่มีจุดยืนทางการเมืองต่างจากตนหรือกลุ่มตน ฟังดูแล้วบางคนอาจจะแค่ขำๆ บางคนอาจสะใจ ได้ใจ แต่ไม่กล้าคิดเลยว่าถ้ามีคนเชื่อและเข้าร่วมสมทบทุนซื้ออาวุธด้วยจริงๆ จะนำไปสู่ความรุนแรงอย่างที่โฆษณาไว้หรือไม่ แล้วถ้ากสทช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์เกิดจะไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีอำนาจทางปกครองไปดำเนินการกับสถานีดังกล่าวตามกฎหมายที่มี จะมีการตอบโต้รุนแรงขนาดที่บอก หรือจะเป็นแค่การคะนองปากของผู้ดำเนินรายการเท่านั้น

เหตุการณ์ที่สอง นี่ก็วาจาที่สร้างความเกลียดชังเช่นกัน แต่เป็นในแง่ของการดูหมิ่น เหยียดหยาม เปรียบเทียบให้อีกฝ่ายที่ถูกประท้วงต่อต้านเป็นสัตว์ และยังมีนัยของความไม่พึงประสงค์จะอยู่ร่วมกันในสังคมอีกต่อไป

เหตุการณ์ที่สาม สะท้อนถึง เจตนารมณ์อันดีของผู้ที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวจากสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมไทย กอปรกับมีความรู้ทางวิชาการในด้านการแสวงหาทางออกจากปัญหาด้วยสันติวิธี ผู้เขียนจำได้ว่า ตอบท่านไปว่า จริงๆ ก็ทำได้ทั้งในเชิงเทคนิคและเชิงนโยบาย กล่าวคือถ้าทางกสทช.จะออกประกาศให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านโทรทัศน์ทำตามมาตรการในลักษณะดังกล่าว ก็น่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ หากสามารถอ้างถึงหลักการเพื่อประโยชน์สาธารณะที่เหมาะสม ทว่าผู้ประกอบการก็อาจจะไม่เต็มใจที่จะทำตามนักเพราะ มันหมายถึงต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น อีกทั้งหากเป้าหมายคือการสร้างความไม่ลำเอียงทางข่าวสาร และความหลากหลาย ผู้ประกอบการก็อาจจะไม่สามารถแน่ใจได้อยู่ดีว่า ต้องทำเพียงใดจึงจะถือได้ว่าไม่ลำเอียง และหลากหลายเพียงพอ

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยก็อาจจะไม่อยากทำเพราะรู้สึกว่าการเลือกข้างเป็นสิ่งที่ไม่ได้ผิดอะไร เนื่องจากมีสื่อของอีกข้างที่ออกอากาศประชันกันอยู่ หากจะแสวงหาความเห็นต่างหรือความหลากหลายทางความคิด ผู้บริโภคข่าวสารก็สามารถเปลี่ยนไปดูช่องอื่นได้อยู่ดี

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ามองในแง่ของผู้บริโภค ก็เป็นไปได้ว่า ผู้บริโภคที่มีความฝักใฝ่ในการเมืองในสีเสื้อแบบหนึ่งก็ย่อมจะไม่สนใจที่จะเปิดรับเนื้อหาที่นำเสนอผ่านกรอบเล็กๆ นั้นอยู่ดี ประมาณว่าอยู่กันคนละโลก พูดกันคนละภาษาเพราะยืนอยู่ขั้วตรงข้ามกันทางอุดมการณ์ หากคิดแบบนี้แล้ว การนำเสนอข่าวสารของอีกฝ่ายผ่านกรอบเล็กบนหน้าจอโทรทัศน์ก็คงไม่ต่างอะไรกับ การมีล่ามภาษามือที่บางช่องบางรายการจัดไว้ให้ผู้พิการหรือบกพร่องทางการได้ยินที่ใช้ภาษามือ ทั้งนี้ เพราะไม่สนใจ และถือว่าไม่เกี่ยวอะไรกับตน เข้าทำนองสื่อใคร สื่อมัน

ท่านอาจารย์ท่านนี้ย้อนถามว่า แสดงว่ามันเลยจุดที่จะเยียวยาด้วยมาตรการในลักษณะนี้ไปแล้วหรือ ผู้เขียนก็ตอบว่าใช่และเสนอแนะท่านไปแบบโลกไม่สวยเลยว่า สังคมไทยอาจต้องการยาแรงแบบบทเรียนจากรวันดา หรือ อดีตประเทศยูโกสลาเวีย ที่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มทางชาติพันธุ์และการเมืองนำไปสู่การทำลายล้างกันแบบไร้อารยะ เผื่อเผ่าพันธุ์ทางการเมืองแถวนี้จะคิดได้บ้าง