การเมืองมีทางออกถ้าไม่ "เยอะ" ไป

การเมืองมีทางออกถ้าไม่ "เยอะ" ไป

เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาฯ ในเช้าวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา คนไทยจำนวนมากก็คิดว่าเรื่องก็คงจะจบลงด้วยดี

แต่ดูเหมือนการประท้วงจะยังไม่ลดระดับลง เพราะยังต้องการ “สภาประชาชน” และขับไล่ “ระบอบทักษิณ” ให้หมดไปจากประเทศไทย

ผู้เขียนใคร่ขอเสนอความเห็นว่า เมื่อนายกฯ ยุบสภาแล้วก็ควรตั้งคณะกรรมการที่เรียกตามคุณสุเทพว่า “สภาประชาชน” มาร่างข้อตกลงสัญญาประชาคมของประเด็นที่เป็นที่มาของความขัดแย้งที่ต้องการแก้ไข เช่นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาและความครอบคลุมของ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมใหม่ ฯลฯ โดยกำหนดให้สภาประชาชนมีสมาชิก 100 คน ซึ่งสมาชิกที่จะได้รับแต่งตั้งก็ให้แต่ละฝ่ายเป็นผู้เสนอคือ รัฐบาลเสนอ 50 ชื่อ และฝ่ายคุณสุเทพเสนอ 50 ชื่อ แต่สำหรับทุกชื่อฝ่ายตรงข้ามต้องเห็นชอบด้วย ดังนั้น คนที่ได้มาจะเป็นบุคคลที่สังคมยอมรับและทั้งสองฝ่ายก็รับได้ ไม่เป็นสมุนของใครหรือเอนเอียงจนเป๋ไปยังข้างใดข้างหนึ่ง

คณะกรรมการหรือสภานี้ก็คือเวทีเจรจา นั่นเอง ซึ่งจะต้องได้ร่างข้อตกลงภายใน 30 วันเมื่อได้ร่างข้อตกลงที่คณะกรรมการหรือสภาประชาชนร่างมาแล้ว ต่อไปเป็นเรื่องพรรคการเมือง หากพรรคไหนจะลงสมัครรับเลือกตั้งก็ต้องให้สัญญากับประชาชนว่าจะเอาหรือไม่เอาประเด็นใดในร่างประเด็นข้อตกลงนั้นในการเลือกตั้งคราวหน้า เช่น ในร่างสัญญาประชาคมอาจมีว่า ที่มาของ ส.ว. ที่ได้รับการเลือกตั้งอาจมาจากแต่ละสาขาวิชาชีพ พอถึงวันเลือกตั้งประชาชนก็ไปเลือกพรรคที่มีประเด็นในสัญญาประชาคมตรงใจ นี่ก็คือการแก้ปัญหาภายในกรอบกฎหมายปัจจุบัน ทุกอย่างจะสิ้นสุดภายใน 60 วันตามรัฐธรรมนูญ

การล้ม “ระบอบทักษิณ” ก็คือการสร้างระบบบริหารที่โปร่งใสมีธรรมาภิบาลและมีระบบต่อต้านคอร์รัปชันที่ดี กระบวนการนี้ไม่ได้สร้างขึ้นได้ในเวลาเร็ววัน การแก้ไขก็ต้องอาศัยเวลา คงจะต้องค่อยๆ แก้ไขกันไปหลังจากการเลือกตั้ง

ประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้ก็ด้วยกติกาและปัญญา อยากให้คุณสุเทพให้โอกาสประเทศไทยได้เข้าสู่กติกาอย่างเข้าร่องเข้ารอยเหล่าไทยเฉยที่เอาใจช่วยคุณเป่านกหวีดอยู่บ้านตอนนี้เขาเริ่มรู้สึกว่ามัน “เยอะ” ไปหน่อยแล้ว ช่วยหันมาร่วมกันสร้างประเทศให้เดินต่อไปได้จะดีกว่าไหม