รู้ทันเศรษฐกิจปีม้า

รู้ทันเศรษฐกิจปีม้า

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน เดือนธันวาคมถือเป็นเดือนส่งท้ายปีเก่า หลายคนเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่

ตั้งหน้าตั้งตารอสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ในแง่การลงทุนเอง นักลงทุนต้องประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจรอบโลกและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในปีหน้า เพื่อเตรียมกลยุทธ์จัดพอร์ตการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์ วันนี้ดิฉันขอเล่ามุมมองเศรษฐกิจและความเสี่ยงในประเทศหลักๆ ของโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2557 ค่ะ

สหรัฐต้องจับตา QE Tapering ต้องยอมรับค่ะว่า หลังจากเกิดวิกฤติแฮมเบอเกอร์เมื่อปี 2551 สหรัฐฯ สามารถจัดการกับสถาบันการเงินที่มีปัญหาได้ดีและรวดเร็วระดับหนึ่ง เรียกความเชื่อมั่นกลับมาและป้องกันการล้มลงของระบบการเงินได้ แต่ผลพวงจากการอัดฉีดสภาพคล่องสู่ระบบเป็นจำนวนมหาศาลนั้นได้ส่งผลถึงปัจจุบันและต่อเนื่องไปถึงอนาคตอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากรัฐไม่มีกระสุนทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแล้ว ต้องใช้มาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายสถานเดียวที่จะประคับประคองการบริโภคซึ่งเป็นฟันเฟืองที่สำคัญ ส่งผลต่อการผลิต การลงทุน ตลอดจนการจ้างงานให้ฟื้นคืนให้ได้ด้วยตัวเอง

แม้ปัจจุบันดัชนีทางเศรษฐกิจหลายตัวมีสัญญาณที่ดีขึ้นแต่ยังมีความเปราะบางอยู่ และหากธนาคารกลางดึงเงินกลับเร็วไปนัก ก็หมายถึงความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจฟุบเป็นรองที่สองได้ ซึ่งการเยียวยาเพื่อให้ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งคงจะยากขึ้นและใช้เวลานานขึ้น และที่สำคัญต้องใช้ต้นทุนสูงกว่าเดิมมาก ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านเชื่อว่า การลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE Tapering) นั้น ยังคงชะลอออกไปอีกระยะหนึ่งอย่างเร็วก็อาจเป็นกลางปี 2557 ดังนั้น การเจรจาต่อรองเรื่องการขยายเพดานหนี้ หรือการลดมาตรการ QE ที่จะส่งผลต่อกระแสเงินไหลกลับนั้น ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญและมีผลกระทบต่อตลาดการเงินต่างๆอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียและตลาดเกิดใหม่ ส่วนการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบและการขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจยืดยาวออกไปถึงปี 2558-2559 หรือนานกว่านี้เพื่อให้มั่นใจจริงๆว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวได้ชัดเจน

เศรษฐกิจยุโรป ต้องใช้เวลาฟื้นตัว ถึงแม้ปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระบบสถาบันการเงินหรือการใช้ค่าเงินสกุลยูโรเดียวได้ลดลงไปมากแล้วก็ตาม แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ทางการมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งแก้ไขปรับโครงสร้างภายในทั้งการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังให้สอดคล้องกันในแต่ละประเทศ เพื่อป้องการเกิดวิกฤตในอนาคต นอกจากนี้ยังต้องเร่งส่งเสริมการลงทุน การผลิต การใช้แรงงานภายในกลุ่ม เพื่อลดความแตกต่างทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ และเร่งสร้างศักยภาพในการแข่งขันการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นภายใต้ค่าเงินสกุลยูโรเดียวกันให้ได้ ปัจจุบันแม้เศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณทรุดตัวลงไปกว่าเดิมแต่การเติบโตก็ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นในบางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ภาคธนาคารพาณิชย์เริ่มปล่อยสินเชื่อได้บ้าง ขณะที่ความมั่นใจของนักลงทุนเริ่มมีมากขึ้นเห็นได้จากการปรับตัวขึ้นของดัชนีหลักทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตมากเมื่อปี 2554

ญี่ปุ่นต้องติดตามผลของนโยบาย Abenomics หลังจากนายอาเบะ ชินโซ ดำเนินมาตรการการกระตุ้นครั้งใหญ่ เพื่อให้เศรษฐกิจหลุดออกจากวงจรที่ซบเซามากว่าสองทศวรรษ ประกาศใช้ทั้งนโยบายใช้จ่ายทางการคลังและนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน รวมถึงนโยบายทางภาษีอย่างเต็มที่ เพื่อให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวและมีผลต่อการกระตุ้นภาคส่งออกและเพิ่มรายได้ของภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการผลิตการบริโภคและการจ้างงานภายในประเทศ และทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจต่อนโยบายนี้ ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทเอกชนและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในปี 2556 ต่างก็ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามนักวิชาการบางท่านเริ่มมีความกังวลใจถึง ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกในหลายๆอุตสาหกรรม รวมถึงการดำเนินนโยบายภาษีจะสามารถช่วยส่งเสริมหรือจะชะลอการเติบโตของภาคการบริโภค นอกจากนี้เริ่มมีความเป็นห่วงว่าเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยอาจปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาครัฐ ซึ่งความกังวลเหล่านี้กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามมองจากนักลงทุนอย่างใกล้ชิดในปี 2557

เศรษฐกิจจีนเริ่มยืนได้ หลังจากหันมาเน้นสร้างความต้องการสินค้าและบริการภายในประเทศเพื่อทดแทนส่งออก ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตดีตามที่ตลาดคาดไว้ การมุ่งเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านการผลิตและการใช้พลังงาน รวมถึงการปฏิรูประบบการเงินใหม่สามารถเรียกความมั่นใจของนักลงทุนได้ และเชื่อว่ารัฐสามารถรับมือปัญหาหนี้ของสถาบันการเงิน (Shadow banks) ไม่ให้ลุกลามออกไปได้ และจีนยังมีเครื่องมือทางด้านการเงินและการคลังอย่างเพียงพอในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

การเมืองปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย หลังจากเศรษฐกิจปี 2556 เติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ เนื่องจากขาดแรงกระตุ้นต่อเนื่องจากการบริโภคภายในประเทศ นโยบายต่างๆ ขาดความต่อเนื่องหลังจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐชะงักงัน และการส่งออกที่ชะลอตัว รวมถึงปัจจัยทางการเมืองยังคุกรุ่น สำหรับปี 2557 แม้นักลงทุนมองว่า ภาคธุรกิจเอกชนยังสามารถเติบโตต่อไปได้ แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ปัจจัยที่ต้องติดตาม เพราะอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีอย่างที่คาดการณ์ไว้ เช่น ภาวะการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายและอาจผลิกผันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โครงสร้างทางการเกษตรที่อาจเปลี่ยนแปลงไป หรือโครงสร้างการผลิตที่ต้องใช้แรงงานอันจะมีผลต่อความสามารถในการส่งออกของประเทศ ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ของธนาคารแห่งประเทศไทยอาจช่วยลดแรงกดดันในตลาดพันธบัตรจากกระแสดอกเบี้ยขาขึ้นในต่างประเทศ แต่ในอีกมุมมองหนึ่งนั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ท่านผู้อ่านคะ จากคาดการณ์เศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2557 ยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ต่อเนื่องจากปี 2556 ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดวิกฤติขึ้นซ้ำสองมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มากนัก แต่ปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นอย่างรวดเร็วก็มีโอกาสไม่มากเช่นกัน รัฐบาลในประเทศหลักยังขาดเครื่องมือทางการคลังที่จะกระตุ้นความต้องการภายในประเทศ คงเหลือแต่มาตรการทางการเงินที่ยังคงผ่อนคลายอยู่เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ด้วยตัวเอง แม้อาจจะมองว่ารัฐบาลขาดวินัยทางการเงินบ้าง แต่การคงสภาพคล่องที่ล้นระบบขณะนี้ยังมีความจำเป็นอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และยังจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ในปีหน้าสอดรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกค่ะ หวังว่ามุมมองเศรษฐกิจการลงทุนที่ดิฉันเล่ามาทั้งหมดจะช่วยวาดภาพให้ท่านผู้อ่านได้เห็นถึงอนาคตของภาวะการลงทุนที่จะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมรับมืออย่างมีสติ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนปีมะเมียที่จะถึงนี้ค่ะ