ปี (หน้า) แห่งการเปลี่ยนแปลง ?

ปี (หน้า) แห่งการเปลี่ยนแปลง ?

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่าน เราเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีแล้วนะคะ ปีนี้คงเป็นอีกปีหนึ่งที่ทุกคนเหน็ดเหนื่อยกันอย่างมาก

เนื่องจากเหตุการณ์ความผันผวนทางด้านการเงินการคลัง เป็นที่เชื่อกันว่าโลกของเรานั้นคงไม่เคลื่อนไหวไปอย่างช้าๆ แต่จะเป็นโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วตามกระแสทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ

ส่วนเส้นทางการพัฒนาตลาดทุนไทยนั้นคงมีหลักการที่ไม่แตกต่างจากประเทศอื่น แต่วิธีการดำเนินงานหรือเส้นทางที่จะใช้ก็คงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการและสภาพแวดล้อม รวมทั้งผู้ประกอบการและผู้ลงทุนของเราเอง

วิวัฒนาการของอุตสาหกรรมการลงทุนในแต่ละประเทศนั้นมีระยะเวลาและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของอุตสาหกรรม สภาพแวดล้อมของสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายของผู้กำกับดูแลของภาครัฐ โดยทั่วไปนั้นมักจะเริ่มต้นจากการส่งเสริมให้มีการเติบโตภายในประเทศก่อน

ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมภาคการผลิตจริงหรือภาคการลงทุน ด้วยการให้โอกาสกับผู้ประกอบการในประเทศของตนเอง ในการเป็นผู้พัฒนาตลาดร่วมกับภาครัฐ และในขณะเดียวกันผู้กำกับดูแลของประเทศนั้นๆ ก็สามารถจะมีข้อกำหนดรวมทั้งการตรวจสอบผู้ประกอบการในประเทศของตนเองได้อย่างมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางและนโยบายที่กำหนด

ในบางประเทศมักมีข้อจำกัดสำหรับการประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ เช่น ข้อกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติ ซึ่งในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติถือหุ้นเกิน 49% แต่ในระยะหลังก็มีการอนุญาตให้ถือได้ถึง 100% ในหลายๆ ธุรกิจ หรืออาจเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับประเภทอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนในชาติ เช่น สถาปนิกไทย หรือช่างตัดผมไทย ทั้งนี้ ในประเทศอื่นก็มีข้อกำหนดในลักษณะนี้เช่นกัน เช่น อาชีพขับแท็กซี่ของชาวสิงคโปร์

สำหรับอุตสาหกรรมตลาดทุนไทยเรานั้นก็เฉกเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆของไทย ที่พร้อมเปิดรับทุนจากต่างชาติ แต่การออกไปต่างประเทศเพื่อการลงทุนทั้งทางตรง และในตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่นๆ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาศึกษา เนื่องจากคนไทยมีความคุ้นเคยกับการเป็นผู้รับเงินตราต่างประเทศจากการส่งออกสุทธิและจากเงินลงทุนต่างชาติมากกว่า

หลายครั้งที่ตัวเลขเงินทุนจากต่างชาติเริ่มติดลบ บรรยากาศในประเทศจะก็เริ่มติดลบไปด้วยเหมือนกัน ตัวเลขรายวันที่ท่านอาจคุ้นเคยจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ก็คือ เม็ดเงินลงทุนของต่างชาติที่เข้ามาซื้อหุ้นไทย แต่ทุกท่านทราบไหมคะว่าประเทศไทยได้เก็บสะสมเงินทุนจากต่างประเทศไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งจากการส่งออกและเงินลงทุน

ในปัจจุบันเงินทุนสำรองต่างประเทศของไทยมีสูงถึงประมาณ 160 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเกือบห้าเท่าตัวเมื่อเทียบกับในช่วงที่อาจเรียกว่าจนที่สุดในปี 2543 ที่เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง

ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ รวมทั้งเพื่อนบ้านแถบเอเชียนั้นก็มีประสบการณ์ที่คล้ายๆ กัน ในเส้นทางการพัฒนาตลาดทุนตลาดเงิน ที่มุ่งเน้นการลงทุนในประเทศ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอนุญาตให้มีการลงทุนในต่างประเทศ สาเหตุหลักน่าจะมาจากความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น โอกาสการลงทุนที่เปิดกว้างมากขึ้น เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทั้งถูกและดี ทำให้ขอบเขตของประเทศไม่ได้เป็นอุปสรรคอีกต่อไป

นอกจากนั้น ดูเสมือนว่าผู้ลงทุนในประเทศไทยจะเนื้อหอมพอสมควรทีเดียว เพราะมีชาวต่างชาติเข้ามาเสนอการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ให้พิจารณาอยู่เสมอ เราลองมาดูวิวัฒนาการของการเปิดเสรีการลงทุนของเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นตัวอย่างในการทำงานดีไหมคะ แต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ

โดยเอเชียมักดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ได้เรียนรู้และเตรียมพร้อมสำหรับโลกการลงทุนที่กว้างขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนที่มีศูนย์กลางทางการเงินตั้งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ โดยมีทั้งตลาดหลักทรัพย์ ตลาดอนุพันธ์ทางการเงิน ตลาดอนุพันธ์สินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งตลาดทองคำ

ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อรองรับผู้ลงทุนและผู้ประกอบการจากต่างประเทศ โดยทั้งตลาดอนุพันธ์สินค้าโภคภัณฑ์และตลาดทองคำ (Shanghai Futures Exchange และShanghai Gold Exchange) ได้เตรียมการเพื่อจัดตั้งกระดานซื้อขายใหม่เพิ่มขึ้นที่เรียกว่า “International Board” ในปีหน้า และได้เชิญชวนเราให้ไปทำธุรกิจร่วมกับเขา

และที่มากกว่านั้น จีนได้เริ่มเปิดเสรีการใช้เงินสกุลหยวนมากขึ้น โดยอนุญาตให้มีฟิวเจอร์สของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนและเงินดอลลาร์ที่ตลาดอนุพันธ์ฮ่องกง ซึ่งสามารถส่งมอบเป็นเงินสกุลหยวนได้ด้วย จึงนับเป็นความเปลี่ยนแปลงของจีนที่น่าจับตามอง

สำหรับอินเดียนั้น มีหลักการเช่นเดียวกับจีน กล่าวคือ การซื้อขายหุ้นและอนุพันธ์นั้นมักจำกัดสำหรับคนในประเทศและผู้ที่ได้รับอนุญาต แต่เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งในตลาดสปอตและตลาดอนุพันธ์เป็นจำนวนมากและหลากหลายประเภทสินค้า

ดังนั้น ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีผลกระทบต่อราคาของโภคภัณฑ์ รวมทั้งการลงทุนต่างๆ ที่อาจได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน ทางการของอินเดียจึงได้อนุญาตให้มีการซื้อขายฟิวเจอร์สของอัตราแลกเปลี่ยน ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ ยูโร และเงินสกุลสำคัญอื่นๆ เมื่อเทียบกับเงินรูปี ซึ่งได้รับความนิยมในการซื้อขายเป็นอย่างมาก เมื่อดูจากปริมาณการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์หลักของเขา

สำหรับในประเทศเกาหลี ได้เปิดประเทศมากขึ้นภายหลังวิกฤตการณ์กิมจิที่เกิดขึ้นใกล้ๆ กับประเทศไทยในช่วงปี 1997 และมีการปรับเปลี่ยนการพัฒนาตลาดทุนในประเทศอย่างจริงจัง โดยเปิดให้ทั้งชาวต่างชาติและการส่งเสริม ให้ผู้ประกอบการในประเทศที่แข็งแรงสามารถที่จะพัฒนาตนเองให้ต่อกรได้กับต่างชาติ ตลาดหลักทรัพย์เกาหลีนั้นสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง โดยเป็นตลาดที่มีการซื้อขายอนุพันธ์อันดับหนึ่งของโลกหลายปี และมีการซื้อขายในรูปเงินสกุลต่างประเทศในบางสินค้า ที่เป็นการนำมาจากต่างประเทศ รวมทั้งการมีฟิวเจอร์สของอัตราแลกเปลี่ยนในรูปของหลายสกุลเงินสำคัญของโลก เมื่อเทียบกับเงินสกุลวอน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมความเข้มแข็ง ให้กับผู้ประกอบการในประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะแก่ผู้ลงทุนที่ในอนาคตนั้น อาจพิจารณาเครื่องมือการลงทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีความซับซ้อนทั้งรูปแบบและวิธีการลงทุน

ดิฉันเชื่อว่าผู้ลงทุนชาวไทยนั้นก็มีความสามารถไม่แพ้ใคร เพียงแต่ต้องมีสนามซ้อม มีการฝึกฝนทีละเล็ก ทีละน้อย และอาจมีพี่เลี้ยงในช่วงต้น เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปีหน้านี้จึงเป็นปีที่ท้าทายของเราทุกคน ที่อยู่ในตลาดเงินตลาดทุนที่จะปรับตัวอย่างไรไปกับโลกของการแข่งขัน