"โซนี่" กลับมาทวงคืน เจ้าตลาดเครื่องเล่นเกม

"โซนี่" กลับมาทวงคืน เจ้าตลาดเครื่องเล่นเกม

กลยุทธ์การตลาดสำหรับเพลย์สเตชั่น 4 ได้ปรับปรุงจุดอ่อนที่เคยเกิดขึ้นในยุคเพลย์สเตชั่น3 หลายเรื่อง

ในโลกธุรกิจดิจิทัล นอกจากสงครามแทบเล็ตและสงครามสมาร์ทโฟนที่น่าติดตามจนไม่สามารถกะพริบตาไม่ได้ ยังมีอีกหนึ่งสมรภูมิที่มีความสนุก และน่าติดตามมากไม่แพ้กัน นั่นคือ สมรภูมิ "เครื่องเล่นเกม"

เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา "โซนี่" หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ของธุรกิจเครื่องเล่นเกม ได้วางจำหน่ายเครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่ ชื่อ "เพลย์สเตชั่น 4" (PlayStation 4) เป็นวันแรก ใน 2 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในราคา 399 ดอลลาร์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี กอบโกยยอดขายไปได้กว่า 1 ล้านเครื่อง ใน 24 ชั่วโมงแรกของการจัดจำหน่าย

หลังจากการวางจำหน่าย เพลย์สเตชั่น 4เพียง 1 สัปดาห์ ในวันที่ 22 พ.ย. ไมโครซอฟท์ ยักษ์ใหญ่ในวงการไอที คู่แข่งรายสำคัญของโซนี่ในธุรกิจนี้ ก็ได้วางจำหน่ายเครื่องเล่นเกมของตัวเอง ชื่อว่า "เอ็กซ์บ็อกซ์ วัน" (Xbox One) ตามมาใน 13 ประเทศ ด้วยราคาขาย 499 ดอลลาร์ และก็ไม่น้อยหน้ากันครับ เพราะยอดขายของ เอ็กซ์บ็อกซ์ วันก็ทะลุ 1 ล้านเครื่องใน 24 ชม.แรกของการจัดจำหน่ายเช่นกัน

แม้ว่าโซนี่จะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ขึ้นมาได้ จากยอดขาย เพลย์สเตชั่น 4 ที่วางจำหน่ายที่อังกฤษเมื่อวันที่ 29 พ.ย. โดยสร้างยอดขายกว่า 250,000 เครื่อง ใน 48 ชั่วโมง เอาชนะเอ็กซ์บ็อกซ์ วันที่ขายไปได้ 150,000 เครื่องในระยะเวลาเดียวกัน แต่ก็ถือว่า ทั้งคู่ยังคงแข่งกันได้อย่างสูสี

ทั้งโซนี่และไมโครซอฟท์ ต่างก็แข่งขันห้ำหั่นในธุรกิจเครื่องเล่นเกมมาหลายปี เพราะทั้งคู่มองว่าเครื่องเล่นเกมของตน จะต้องเข้าไปยึดพื้นที่ห้องนั่งเล่นของผู้ใช้ทั่วโลกให้ได้

จุดเด่นของ เอ็กซ์บ็อกซ์ วัน คือความสามารถด้านเอนเตอร์เทนเมนต์แบบครบวงจร ทั้งดูหนัง ดูทีวี เล่นสไกป์ ชูจุดชายด้านมีเดียเพื่อความบันเทิง แบบจัดเต็ม ขณะที่ตัว เพลย์สเตชั่น 4 เอง เน้นจุดขายไปทางเครื่องเล่นเกมสำหรับคอเกม ด้วยสเป็คเครื่องที่สูงกว่า ตัวเครื่องบางกว่า

กลยุทธ์การตลาดของโซนี่สำหรับเพลย์สเตชั่น 4 มีการปรับปรุงจุดอ่อนที่เคยเกิดขึ้นในยุคเพลย์สเตชั่น 3 อยู่หลายเรื่อง เริ่มจากเรื่องราคา ที่ เพลย์สเตชั่น 3 วางจำหน่ายในราคาสูงถึง 599 ดอลลาร์ (แพงกว่า PlayStation 2) และแพงกว่าเครื่องเอ็กซ์บ็อกซ์ 360 ของไมโครซอฟท์ ที่ขายอยู่ 399 ดอลลาร์ เพราะราคาที่แพงกว่า ยอดขายที่คาดหวังว่าจะสูงในช่วงเทศกาลวันหยุดในปี 2006 ที่เปิดตัว กลับกลายเป็นตรงกันข้าม

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาขายสูง เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของ “บลูเรย์” ที่มีราคาสูงมาก และโซนี่ก็เลือกเครื่องอ่านบลูเรย์ใส่มากับ เพลย์สเตชั่น 3 ต้นทุนเครื่องจึงสูงกว่าคู่แข่งรายอื่นในตลาด แต่โซนี่ก็ปรับตัวได้เร็วในเรื่องของราคาครับ มีการปรับลดราคาของ เพลย์สเตชั่น 3 ลงมาอย่างต่อเนื่อง เหลือ 499 ดอลลาร์ จนมียอดขายรวมกว่า 80 ล้านเครื่อง พอกับยอดขายรวมของ เอ็กซ์บ็อกซ์360 แม้ว่าจะเป็นการขายที่ราคาขาดทุน แต่เป็นสิ่งที่โซนี่ต้องทำ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของตัวเองเอาไว้

การตั้งราคาขายในช่วงเริ่มต้น กลายเป็นบทเรียนสำคัญกับโซนี่ เพราะยอดขายช่วงเปิดตัว มีผลต่อยอดขายช่วงเทศกาลมาก ดังนั้นราคาเปิดตัวของ เพลย์สเตชั่น4 จึงถูกตั้งมาต่ำกว่าตอนเปิดตัว เพลย์สเตชั่น 3 และยังต่ำกว่าราคาของเอ็กซ์บ็อกซ์ วัน ถึง 100 ดอลลาร์

สำหรับเกม ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับนักเล่นเกม แต่โซนี่กลับไปเน้นโฟกัสที่จุดอื่น ทำให้ช่วงเปิดตัวโปรดักต์ มีเกมเด็ดที่เปิดตัวด้วยไม่มากนัก ทำให้ขาดสีสันจากบรรดาเกมดังๆที่มีผู้เล่นเยอะๆ
เกมที่เปิดตัวกับ เพลย์สเตชั่น4 จึงมีเกมเด็ด อย่าง KillZone : Shadow Fall , Knack ที่เปิดตัวแบบเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะเพลย์เสตชั่น4 เท่านั้น

อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ คีย์ แมสเสจ ที่ต้องการสื่อให้ผู้บริโภครับรู้ โดยโซนี่วางไว้ 2 แนวทาง แนวทางแรก เป็นการชูว่าเป็นเครื่องเล่นเกมที่ดีที่สุด สำหรับคอเกม แนวทางที่ 2 คือ การขายความเป็น “ศุนย์กลางของความบันเทิงในบ้าน”

การมี คีย์ แมสเสจ 2 แนวทาง เป็นการสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค เพราะคนที่เป็นคอเกมแบบฮาร์ดคอร์ ก็จะมองว่า เพลย์สเตชั่น 3 เหมาะกับการดูหนังมากกว่าการเล่นเกม ส่วนคนที่น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายในการเสพสิ่งบันเทิง ก็จะมองว่า เพลย์สเตชั่น 3 เหมาะกับการเล่นเกม

โพสิชันนิ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญมากอีกอย่าง ทำให้ เพลย์เสตชั่น 4 ชูจุดขายเพียงจุดเดียวคือ ความเป็น "Ultimate Gaming Platform"

ขณะที่ เอ็กซ์บ็อกซ์ วัน ก็เป็นเหมือนโปรดักส์ชูโรงของไมโครซอฟท์ ในการผลักดัน "One Strategy" หรือการผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์เอง โดยนำบริการออนไลน์ต่างๆที่มีอยู่ มาใส่เพิ่มเข้าไปเพื่อสร้างมูลค่า แต่สิ่งที่ไมโครซอฟท์ใส่เพิ่มเข้าไป ทั้งการดูหนังแบบสตรีมมิ่ง จาก Netflix , Hulu และ Amazon Instant Video ล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่ใน เพลย์สเตชั่น 4 เช่นกัน ครั้งนี้โซนี่ดูจะทำการบ้านมาดีกว่าฝั่งไมโครซอฟท์ ในเกือบทุกๆด้าน มีการแก้ไขความผิดพลาดในอดีตของตัวเอง แต่จุดตัดสินแพ้ชนะของสงครามครั้งนี้ อาจจะมาจากการต่อยอดของแพลตฟอร์มของทั้งคู่

ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อเกมเข้ากับระบบออนไลน์ เพื่อเล่นกับเพื่อนที่เล่นเกมอยู่บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเลต หรือจะเป็นการนำเกมดังๆที่อยู่บนแพลตฟอร์มเครื่องเล่นเกม ให้มาเล่นได้บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ ถ้าต่อยอดเพิ่มมูลค่าบนแพลตฟอร์มตัวเองได้ดีเพียงใด โอกาสชนะในสมรภูมินี้ก็มีสูงเท่านั้น