ชีวิตคนไทย ดีขึ้นจริงไหม?

ชีวิตคนไทย ดีขึ้นจริงไหม?

จากบทความที่ผู้เขียนได้นำเสนอในคอลัมน์นี้ เราได้เคยร่วมกันตั้งคำถามว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจมาอย่างไร

อีกกี่ปีถึงจะก้าวไปเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ในวันนี้เราลองมาดูความก้าวหน้าในชีวิตคนไทยดูบ้าง ผู้วางนโยบายสาธารณะของรัฐมักจะภูมิใจในผลงานพัฒนาประเทศและอ้างว่า ประเทศไทยได้พัฒนามาถูกทางแล้ว ในขณะเดียวกันเราก็จะได้ยินเสียงบ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอว่า ประเทศไทยนี้ยิ่งพัฒนา ชีวิตคนไทยก็ยิ่งเลวลง จีดีพีที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น แล้วความจริงเป็นอย่างไร

เมื่อไม่นานมานี้ แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (แผนงาน นสธ.) ได้มอบหมายให้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นำข้อมูลเศรษฐกิจครัวเรือนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติย้อนหลัง 20 ปี (พ.ศ. 2529 - 2552) มาวิเคราะห์เพื่อเสนอภาพการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนไทย พบข้อมูลที่สำคัญ ดังนี้คือ

หนึ่ง สังคมไทยได้ก้าวออกมาจากความเป็นสังคมเกษตรแล้ว อาชีพในภาคเกษตรไม่ใช่ที่มาของรายได้หลักของครัวเรือนอีกต่อไป ครัวเรือนที่มีอาชีพเกษตรมีแนวโน้มลดลงมากที่สุด จำนวนสมาชิกในครัวเรือนภาคเกษตรลดลงจาก 2.3 ล้านคนในปี 2544 เป็น 1.76 ล้านคนในปี 2552 อีกทั้งแรงงานไทยเองก็ไม่นิยมทำงานในภาคเกษตร ดังนั้น ภาคเกษตรจึงต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก

สอง ครัวเรือนไทยมีขนาดเล็กลงและครัวเรือนประเภทอยู่คนเดียว สามีภรรยาอยู่กัน 2 คน และคนแก่อยู่กับเด็กมีแนวโน้มสูงขึ้น ในปี 2552 ครอบครัวที่เด็กได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับพ่อแม่มีเพียงร้อยละ 62 ของครัวเรือนทั้งหมดที่น่าเป็นห่วงคือครัวเรือนที่มีคนแก่อยู่กับเด็กหรือที่เรียกว่าครอบครัวแหว่งกลางมีแนวโน้มสูงขึ้น และมีมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีครัวเรือนผู้สูงอายุอยู่ด้วยกันเอง 2 คน มากกว่า 1 ล้านครัวเรือน นอกจากนี้สัดส่วนของครัวเรือนยากจนในกลุ่มนี้ยังสูงกว่าครอบครัวกลุ่มอื่นๆ

สาม จนกระทั่งปี 2552 รายได้ครัวเรือนสูงกว่าค่าใช้จ่ายทำให้การออมของครอบครัวไทยสูงขึ้นโดยตลอด ในขณะเดียวกันหนี้สินครัวเรือนไทยก็สูงขึ้น แต่กลุ่มคนยากจนกลับมีหนี้สินน้อยกว่าคนที่มีฐานะดีกว่า หนี้สินที่เพิ่มขึ้นในระยะหลังของครัวเรือนเป็นหนี้ค่าอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่ผู้คนมีหนี้มากที่สุด ซึ่งทุกๆ 10 คนมีหนี้ถึง 7 คน

สี่ ใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ครัวเรือนที่ยากจนมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ลดจำนวนคนจนได้ถึง 750,000 คนระหว่างทศวรรษที่ 2530 เทียบกับทศวรรษที่ 2550 อย่างไรก็ดี แม้ความยากจนจะลดลงมาก แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกลับสูงขึ้น กลุ่มคนไทยที่รวยที่สุดมีรายได้มากกว่ากลุ่มคนไทยที่จนที่สุดถึง 12 เท่า

ห้า คนไทยมีการศึกษาดีขึ้น ผู้หญิงมีสัดส่วนที่ได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยมากกว่าผู้ชายประมาณร้อยละ 60 ที่น่าสนใจคือ ค่าตอบแทนหรือรายได้ของผู้จบจากมหาวิทยาลัยและระดับมัธยมศึกษาสูงกว่าผู้จบอาชีวศึกษา ทำให้เกิดค่านิยมนับถือใบปริญญา และเกิดการขาดแคลนแรงงานทักษะระดับอาชีวะ

หก ครัวเรือนไทยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านเหล้าและยาสูบรวมกัน (ร้อยละ 8.1) สูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา (ร้อยละ 6.9) อีกทั้งค่าใช้จ่ายบันเทิงและโอกาสพิเศษ (ร้อยละ 8.0) ก็สูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเช่นกัน

เจ็ด ผู้สูงอายุคนไทยยังอาศัยเงินโอนจากลูกหลานมากว่าเงินออม ก่อนสมรสบุตรชายจะส่งเงินให้พ่อแม่มากกว่าบุตรสาว แต่เมื่อมีครอบครัวเองแล้วบุตรสาวจะส่งเสียพ่อแม่มากกว่าบุตรชาย

แปด ชีวิตคนไทยแม้ในชนบทก็สะดวกสบายขึ้นมาก เพราะครัวเรือนเพียงร้อยละ 1.2 ในปี 2552 ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ครัวเรือนเกือบครึ่งมีโทรศัพท์มือถือเกือบร้อยละ 30 มีเครื่องซักผ้า และพบว่าครัวเรือนไทยที่มีรถจักรยานยนต์มีจำนวนมากกว่าครัวเรือนที่มีโทรทัศน์แล้ว

เก้า คนไทยจะตายด้วยโรคติดต่อน้อยลงมาก แต่จะตายด้วยอุบัติเหตุโดยเฉพาะจากรถจักรยานยนต์ โรคมะเร็งและแก่ตายมากขึ้น ครัวเรือนไทยจะมีภาระต้องดูแลคนชราในครัวเรือนมากขึ้น ทรัพยากรในครอบครัวและของรัฐจะต้องถ่ายโอนสู่คนชรามากขึ้น

ผู้เขียนเห็นว่า ข้อมูลเหล่านี้ให้สัญญาณว่า อนาคตชีวิตคนไทยจะเป็นอย่างไร และเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น

- ในอนาคตอันไม่ไกล สังคมไทยไม่เพียงจะเป็นสังคมผู้สูงวัยเท่านั้น แต่เราจะมีสังคมคนไทยใหม่ ซึ่งในปัจจุบันเป็นแรงงานต่างด้าวหรือลูกหลานคนต่างด้าว นโยบายด้านการรองรับคนต่างด้าวที่จะเป็น “ไทยใหม่” จะเป็นเรื่องสำคัญ

- ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานปัจจุบัน ต้องมีการวางแผนและวินัยทางการเงินมากขึ้น เพราะเมื่อแก่ตัวลง จะมีลูกหลานให้พึ่งพิงน้อยลง จึงต้องเตรียมเงินออมและเงินค่ารักษาพยาบาลยามแก่เฒ่าให้มากขึ้น

- รัฐบาลควรขยายเวลาอายุเกษียณ และให้แรงจูงใจด้านภาษีให้แก่บริษัทและคนที่มีอายุเกิน 60 ปี ให้ทำงานต่อไปเท่าที่สุขภาพจะอำนวย

- การศึกษาไทยซึ่งมีวิวัฒนาการเชื่องช้ากว่าเศรษฐกิจและสังคมไทย ต้องมีการปฏิรูปขนานใหญ่ หรือเรียกว่าเป็นการปฏิวัติก็ว่าได้ เพราะครูก็จะต้องเป็นผู้ชี้นำการใช้องค์ความรู้มหาศาลที่ล่องลอยอยู่ในระบบสารสนเทศของโลกว่าอะไรควรใช้ และควรใช้อย่างไร นอกจากนี้ การแจกแท็บเล็ตให้แก่เด็กที่มีแต่คนชราในบ้านจะต้องมีระบบการดูแลและมีโปรแกรมพิเศษ เพื่อให้เด็กทำการบ้านได้โดยไม่ต้องเสียค่าจ้างครูสอนพิเศษ

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการที่ครัวเรือนมีโทรศัพท์มือถือจะทำให้การสร้างเครือข่ายและการสร้างกลุ่มสังคมและการเมืองง่ายขึ้น การแพร่กระจายข่าวสารเร็วขึ้น ความเข้าใจและการจัดการกับอาชญากรรมสารสนเทศและจิตวิทยามวลชน เพื่อมิให้ตื่นตระหนกในข่าวที่ไม่เป็นจริง เช่น โรคระบาด ภัยธรรมชาติ จะเป็นเรื่องสำคัญ

ผู้สนใจสามารถ ดาวน์โหลดเอกสาร “ชีวิตคนไทยในสองทศวรรษของการพัฒนา” ได้ที่ http://www.tuhpp.net