หมอวันชัย : เจรจาไม่ได้เพราะไม่ไว้วางใจ

หมอวันชัย : เจรจาไม่ได้เพราะไม่ไว้วางใจ

แม้รัฐบาลได้แสดงท่าทีพร้อมเปิดโต๊ะเจรจา กับฝ่ายผู้ชุมนุมโค่นล้มระบอบทักษิณ เพื่อหาทางออกให้ประเทศ

ซึ่งน่าจะเป็นข้อเสนอที่ดีสำหรับสถานการณ์ตึงเครียดเช่นนี้ แต่ข้อเสนอดังกล่าวกลับถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยจากฝ่ายแกนนำผู้ชุมนุม

ทำให้เกิดคำถามว่าทำไม "การพูดคุยเจรจา" ซึ่งน่าจะเป็นทางออกแบบสันติวิธี จึงไม่ได้รับการสนองตอบ

สถานการณ์ ณ วันนี้จึงอยู่ในสภาพติดล็อค แม้แต่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเองก็ยังยอมรับกับสื่อต่างประเทศว่ายังมองไม่เห็นทางออกใดๆ

เพราะเมื่อโต๊ะเจรจายังไม่เกิด โอกาสที่ปัญหาจะจบย่อมเท่ากับศูนย์ และเมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งทอดยาวออกไป โอกาสที่จะเกิดการปะทะหรือใช้ความรุนแรงย่อมมากขึ้น พิจารณาจากเหตุการณ์ช่วง 2-3 วันมานี้ เริ่มมีการปะทะกันระหว่างคนต่างสีเสื้อ หรือผู้ชุมนุมต่างกลุ่ม เป็นจุดย่อยๆ หลายครั้ง

ล่าสุดที่น่าตกใจคือเหตุการณ์ชุลมุนที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อเย็นวานนี้ (30 พ.ย.)

ปัญหาคือรัฐบาลในฐานะเจ้าของข้อเสนอ "เปิดโต๊ะเจรจา" กลับไม่ได้ทบทวนว่าสาเหตุใดโต๊ะเจรจาจึงเกิดไม่ได้ แต่ละวันได้แต่พูดย้ำๆ ว่าพร้อมเจรจาๆ จึงไม่ได้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด

ฉะนั้นแนวทางที่ดีที่สุดคือ ค้นหาสาเหตุที่ทำให้โต๊ะเจรจาเปิดไม่ได้ แล้วหาทางปิดจุดอ่อนเหล่านั้นเสีย เพื่อให้โอกาสของการใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาแบบสันติวิธีได้เดินหน้าต่อไป

นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า นักเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ให้ทัศนะว่า ใครจะเจรจากับใครต้องมีความไว้วางใจเกิดขึ้นก่อน ต้องไว้วางใจกันทั้งสองฝ่าย และไว้วางใจ "คนกลาง" ที่จะเข้ามาช่วยทำให้การพูดคุยเจรจาเกิดขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ตามหลักทฤษฎี ความไว้วางใจมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ 1.ไว้วางใจในความเป็นพวกเดียวกัน เมื่อสถานการณ์แบ่งข้าง แยกขั้วเช่นนี้ ย่อมมีความไม่ไว้ใจกันอย่างสูงแน่นอน กับ 2.ความไว้วางใจที่มีหลักประกัน คือแม้จะไม่เป็นพวกเดียวกัน แต่ก็ไว้วางใจกันได้ เพียงแต่ต้องมีหลักประกัน เหมือนธนาคารจะปล่อยเงินกู้ก็ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ถามว่าวันนี้รัฐบาลมีอะไรเป็นหลักประกัน

"สมมติว่าทำเป็นสัญญาว่าจะมาเจรจากันอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะถูกถามว่าสัญญาเชื่อถือได้หรือไม่ เพราะเคยมีในประวัติศาสตร์มาแล้วที่แม้มีสัญญา แต่ก็ไม่มีใครปฏิบัติตาม หรือถ้าเอากรณีของรัฐบาลชุดนี้ สิ่งที่บั่นทอนความเชื่อถือไว้วางใจมากที่สุด ก็คือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทีแรกบอกว่าจะไม่สุดซอย แต่อยู่ๆ ก็สุดซอย นี่คือสิ่งที่เป็นปัญหา และทำให้เกิดความไม่ไว้ใจแผ่กระจายไปทั่ว"

"ส่วนเรื่องคนกลางก็เช่นกัน รองนายกฯประชา (พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง) ถามสื่อว่าผมเป็นผู้ใหญ่พอไหม ความจริงแล้วความเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดความไว้ใจ ฉะนั้นทางออกของเรื่องนี้คือคนกลางอาจไม่ใช่คนเดียว แต่เป็นกลุ่มคน และอาจมีหลายกลุ่มก็ได้ เป็นกลุ่มที่พรรคเพื่อไทยไว้ใจกลุ่มหนึ่ง และอีกกลุ่มหนึ่งคุณสุเทพ (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุม) ไว้ใจ จากนั้นก็สร้างกลไกให้ทำงานได้ แล้วสื่อสารกัน"

หมอวันชัย บอกอีกว่า เมื่อมีช่องทางการสื่อสาร ก็จะพบว่าแต่ละฝ่ายมีจุดยืนของตนเอง การพูดคุยเจรจาให้สำเร็จ ในเบื้องต้นต้องไม่นำจุดยืนมาคุยกัน เพราะจะเถียงกันไม่จบ ฉะนั้นควรหา "จุดสนใจร่วม" แล้วเริ่มคุยจากจุดนั้นมากกว่า

เมื่อให้ทดลองประเมินสถานการณ์ผ่านแว่นของนักสันติวิธี หมอวันชัย บอกว่า สันติวิธีมี 2 อย่าง คือ 1.เจรจา แต่ดูแล้วติดปัญหาเรื่องความไม่ไว้วางใจ จึงน่าจะไม่สามารถเจรจากันได้ในระยะเวลาอันใกล้ กับ 2.การแสดงพลังของมวลชน คือ ใช้ฉันทามติของประชาชนกดดัน

"ปัญหาคือเมื่อแต่ละฝ่ายคิดว่าตัวเองชนะแน่ คิดว่าพลังมวลชนสนับสนุนตนแน่ ก็จะไม่เจรจา แต่ฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐจะเริ่มกดดัน เพราะต้องระมัดระวังตัวเอง นักวิชาการทั้งหลายก็บอกตรงกันว่าเมื่อไรเกิดความสูญเสีย เมื่อไรที่ใช้อำนาจมากเกินความจำเป็น เมื่อนั้นจะมีประชาชนอีกมากมายออกมาสนับสนุนฝ่ายผู้ชุมนุม นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาให้ดี เพราะฝ่ายผู้ชุมนุมยังคงยืนยันว่าใช้การอารยะขัดขืนเป็นเครื่องมือในการต่อสู้"

หมอวันชัย บอกด้วยว่า "อารยะขัดขืน" เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และจะค่อยๆ กดดันรัฐบาลมากขึ้น การนัดหยุดงานเป็นความเสี่ยงสูงสุด โดยเฉพาะเมื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้งหลายประกาศยืนข้างผู้ชุมนุม รัฐบาลจะค่อยๆ หาทางออกยากขึ้น ทันทีที่แรงงานหยุดงานทั่วประเทศจะเหมือนกรณีของโปแลนด์ในอดีต คือหยุดงานทั่วประเทศ ทุกอย่างง่อยเปลี้ย รถเมล์ รถไฟก็ไม่วิ่ง รัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ไม่สามารถปกครองได้ จนต้องเชิญแกนนำผู้ชุมนุมมาเจรจา

"ความขัดแย้งขณะนี้เป็นความไม่พอใจสะสม ไม่ใช่แค่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่สั่งสมจากอีกหลายเรื่องที่ผ่านมา จึงเกิดปฏิกิริยามากมาย ตัวตัดสินว่าใครแพ้ใครชนะไม่ใช่ใครมีอำนาจมากกว่า แต่ขึ้นกับประชาชนยืนข้างใคร"

หมอวันชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้ารัฐบาลฉลาด น่าจะต้องแสดงออกอะไรสักอย่างเพื่อให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นเชื่อใจ อาจต้องยอมเสียสละอะไรบางอย่างบ้าง เพื่อผลในระยะยาว!