จะอธิบายให้ชาวบ้านรู้เท่าทันรัฐบาลได้อย่างไร

จะอธิบายให้ชาวบ้านรู้เท่าทันรัฐบาลได้อย่างไร

ประชาชนที่ออกไปชุมนุมประท้วงพรรคร่วมรัฐบาลที่ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้คนโกงพ้นโทษส่วนใหญ่คือคนที่มีการศึกษา

และตื่นตัวไปในทางเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม แต่คนไทยจำนวนมากยังไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดเจนนักหรือเข้าใจในทางตรงกันข้ามตามคำอธิบายให้เหตุผลของฝ่ายรัฐบาล

กรณีที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณที่ทุจริตในหน้าที่ และการรีบร้อนแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราที่มาของ ส.ว. เป็นการใช้อำนาจ “เผด็จการเสียงข้างมากในสภา” อย่างเห็นได้ชัด กรณีแรกเป็นการทำผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของคนเพียงคนเดียวที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ทั้งประเทศต้องเสียประโยชน์อย่างมหาศาล ส.ส. ทั้ง 310 คนควรจะถูกถอดถอนในฐานะที่พวกเขาละเมิดรัฐธรรมนูญ ละเมิดหลักความเป็นธรรมทางกฎหมาย ในกรณีที่ 2 ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. 312 คนที่แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อมุ่งให้ฝ่ายรัฐบาลรวบอำนาจควบคุม ส.ว.ได้มากขึ้นก็ควรถูกถอดถอนด้วย บางคนควรถูกจำคุกเพราะการปลอมเอกสารและการเสียบบัตรแทน ส.ส.คนอื่น

ถ้าเป็นประเทศอื่น คนจะออกมาประท้วงมากกว่านี้ ส.ส.และรัฐบาลคงต้องลาออกไปแล้ว แต่นักธุรกิจการเมืองกลุ่มนี้อยู่แบบหน้าตาเฉยได้ เพราะพวกเขาสามารถอธิบายชักจูงให้คนจนส่วนมากที่ไม่ค่อยรู้เท่าทันทางการเมืองให้เข้าข้างพวกเขาได้ เช่นอ้างว่า “ทักษิณเป็นนักบริหารที่เก่ง และมีนโยบายเข้าข้างคนจน แต่ถูกฝ่ายทำรัฐประหารปี 2549 โคนล้มและกลั่นแกล้งใส่ร้าย” ข้ออ้างนี้เป็นการกล่าวเท็จที่ได้ผล เพราะคนส่วนใหญ่ไม่สนใจ และไม่จดจำเรื่องการเมืองที่เป็นจริง

ความจริงคือ หลังมีรัฐธรรมนูญในปี 2550 และการเลือกตั้งต่อมา ส.ส.ฝ่ายทักษิณ ได้เสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาล ทักษิณได้กลับมาอยู่ในเมืองไทยแล้ว เขาในฐานะคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยถูกศาลตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคทำผิด ตัวทักษิณเองยังโดนฟ้องศาลคดีทุจริตในหน้าที่ และเขาก็แต่งตั้งทนายความไปสู้คดีในศาลผู้ทำหน้าที่ต่อเนื่องมาตามปกติ การที่ทักษิณแต่งตั้งทนายความไปสู้คดีก็แสดงว่าเขายอมรับศาล แต่พอตนเองรู้ว่าจะแพ้คดีก็หลบหนีไปต่างประเทศและอ้างว่าศาลไม่ชอบธรรม

ข้ออ้างอีกข้อหนึ่งที่ฝ่ายทักษิณใช้อย่างกว้างขวางคือ “ถึงรัฐบาลจะโกงบ้าง แต่ถ้ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจเติบโต ประชาชนได้ประโยชน์ ก็ดีกว่าพรรคที่บริหารประเทศไม่เป็น” นี่คือการเผยแพร่ความเชื่อแบบผิดๆ การทุจริตฉ้อราษฎรรวมทั้งการหาผลประโยชน์ทับซ้อนจากตำแหน่งหน้าที่ผู้บริหารประเทศนั้น เป็นหนทางที่จะนำประเทศไปสู่หายนะ ไม่ใช่วิธีจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ เพราะในโลกความเป็นจริงนั้น ประเทศที่มีนักการเมืองโกงมาก เช่น ประเทศรายได้ต่ำในแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชียหลายประเทศนั้น ล้วนแต่พัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้ต่ำ ขณะที่ประเทศที่มีคะแนนความโปร่งใสสูง (โกงน้อย) เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐ ฯ รวมทั้งประเทศที่แก้ปัญหานักการเมืองโกงได้ดีขึ้น เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ฯลฯ จะพัฒนาประเทศได้ดีกว่า

การที่ผู้บริหารประเทศและเจ้าหน้าที่รัฐโกง พวกเขาไม่ได้แค่เพียงยักยอกทรัพยากรของประเทศส่วนหนึ่ง (จาก 10% เพิ่มเป็น 30% ปัจจุบัน) ไปเป็นของตัวเองเท่านั้น แต่พวกเขายังทำให้ 2) เกิดการบิดเบือนการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างสิ้นเปลือง ได้ประโยชน์น้อยแต่เสียหายมาก (เช่น ใช้ในโครงการจำนำข้าวจนขาดทุน 4-5 แสนล้านบาท แทนที่จะใช้เพื่อการปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร ชลประทานขนาดเล็ก หรือการกู้เงินเพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและสร้างแม่น้ำสายใหม่ แทนที่จะใช้เงินเพื่อปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการขนส่งสาธารณะและระบบชลประทานที่เหมาะสม) 3) ทำให้ไม่ส่งเสริมการทำงานอย่างซื่อสัตย์มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้คนไทยไม่สามารถแข่งขันประเทศอื่นได้ ฯลฯ

เรื่องนโยบายประชานิยมที่รัฐบาลอ้างว่าทำเพื่อคนจนนั้น แท้จริงทำเพื่อผลประโยชน์หลายต่อของนักการเมือง คือเพื่อการคอร์รัปชัน หาผลประโยชน์ทับซ้อน และเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนที่ธุรกิจพวกของตนเป็นฝ่ายได้ประโยชน์มากกว่าประชาชน ซึ่งต้องเป็นหนี้เพิ่มขึ้นและต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น เราต้องช่วยกันอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจว่านโยบายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้อย่างแท้จริง คือการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่น การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร ปฏิรูปการคลังและภาษีอากร ปฏิรูปการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง แก้ปัญหาและพัฒนาตนเอง พัฒนาผลผลิตได้เพิ่มขึ้นได้อย่างจริงจัง ไม่ใช่นโยบายประเภทลดแลกแจกแถมเอาเงินภาษีมาแจกประชาชนบางกลุ่มในบางเรื่อง การกระตุ้นให้ประชาชนได้กู้เงินเพื่อการบริโภคอย่างง่ายๆ ที่ทำให้ทั้งประชาชนและรัฐบาลเป็นหนี้เพิ่มขึ้น แต่ประสิทธิภาพการผลิตไม่ได้ดีขึ้น

โครงการรับจำนำข้าว หรือการที่รัฐเอาเงินจากภาษีคนทั้งประเทศไปรับซื้อข้าวจากชาวนากลุ่มปลูกข้าวเพื่อขายในราคาที่สูงกว่าตลาด ทำให้ภาครัฐต้องขาดทุนไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท และทำให้ระบบการผลิตการจัดจำหน่ายข้าวเสียหายมาก ทั้งที่มีวิธีการช่วยชาวนาวิธีอื่นที่ถูกกว่านี้และดีกว่านี้ การอุดหนุนรถยนต์คันแรก คือการอุดหนุนนายทุนผู้ผลิตผู้ขายรถยนต์และการหาเสียงกับคนชั้นกลางโดยใช้เงินภาษีประชาชนทั้งประเทศอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้การจราจรในเมืองใหญ่ติดมากขึ้น ประเทศใช้น้ำมันสิ้นเปลือง ขาดดุลการค้า เพิ่มขึ้น มลภาวะและอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น

ทั้ง ส.ส.ร่วมรัฐบาล ส.ว.ที่เข้าข้างรัฐบาล รวมทั้งคณะรัฐบาลไม่ได้สำนึกว่าตนทำผิดเลย รัฐบาลยังคงเดินหน้ามุ่งหาประโยชน์และหาเสียงแบบกอบโกยล้างผลาญ แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 ให้รัฐบาลสามารถทำสัญญากับต่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มาทำรถไฟความเร็วสูงและการคมนาคมอื่นๆ กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท มาสร้างแม่น้ำสายใหม่และเขื่อนต่างๆ สิ่งที่ระบอบทักษิณทำคือการมุ่งหาเงินค่าคอมมิชชั่น การหาเสียงอย่างฉาบฉวย และการกระตุ้นเศรษฐกิจธุรกิจที่พวกนายทุนพวกเขาจะได้ประโยชน์ พวกเขากำลังทำให้ภาครัฐเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และเนื่องจากเป็นการลงทุนเพื่อการบริโภคหรือการบริการมากกว่าเพื่อการเพิ่มผลผลิตจริง จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้สั้นๆ แต่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ต่อไป โครงสร้างการกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่ไม่เป็นธรรม (คนส่วนน้อยรวยมาก คนส่วนใหญ่จนอยู่แล้ว) จะยิ่งทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนลำบากมากขึ้น

ประเทศไทยต้องหาทางปฏิรูประบบการเมืองใหม่เพื่อให้ได้มาซึ่งระบบการบริหารประเทศที่ซื่อตรงและฉลาดเพื่อส่วนรวมมากกว่านี้ และต้องหาทางการปฏิรูปทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม (เช่น การศึกษา) ให้ประชาชนมีทรัพย์สินและรายได้ที่เป็นธรรม มีความรู้และประสิทธิภาพ และตระหนักเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเทศไทยจึงจะก้าวข้ามพ้นระบอบรวบอำนาจเพื่อกินบ้านโกงเมืองระบอบนี้ได้