หญิงไทยกับการเมืองใหม่หลัง 24 พฤศจิกายน

หญิงไทยกับการเมืองใหม่หลัง 24 พฤศจิกายน

การชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ เมื่อ 24 พฤศจิกายน สะท้อนความปรารถนาอันลึกซึ้ง

ของคนไทยที่เรียกร้อง “ปฏิรูปการเมืองการปกครองและสังคมไทย”

ไม่ว่าการชุมนุมครั้งนี้ จะส่งผลทางการเมืองอย่างไร ถึงพรรคการเมืองและการเมืองของไทยที่แบ่งขั้วกันอย่างดุเดือด ทั้งระดับพรรคและพลเมืองตลอดทศวรรษที่ผ่านมา การปฏิรูปสังคมไทยจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนและจะต่อเนื่องยาวนานไปอีกระยะเวลาหนึ่งทีเดียว คู่ขนานกับการ "ปฏิรูป" การเมืองการปกครองขนานใหญ่

ทุกคนมีหน้าที่เตรียมตัว โดยเฉพาะหญิงไทยทั้งในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ควรได้ย้อนคิดพินิจโอกาสทางการเมือง ที่จะเปิดให้ ครั้งใหม่นี้ จะต้องตื่นตัวทำความเข้าใจ วิกฤติการเมืองเกี่ยวกับการใช้อำนาจประชาธิปไตยของสถาบันต่างๆ จะต้องสรุปบทเรียนให้ได้ว่าด้วยเหตุใด จึงได้เกิดการชุมนุมของพลเมืองมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์เช่นนี้ เพียง 2 ปีเศษหลังจากมีรัฐบาล “จากการ เลือกตั้ง” และจากการที่สังคมไทยให้โอกาสผู้หญิงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกและให้เกียรติยอมรับผู้หญิงเป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนแรก

กล่าวได้ว่า การชุมนุมในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ของไทย คล้ายคลึงหลายอย่างกับเหตุการณ์พฤษภาคม ค.ศ. 1968 (May1968) ในฝรั่งเศส ที่มวลมหาประชาชนได้กระทำขึ้น เสมอเหมือนเป็นการ "ปฏิวัติ" ครั้งที่ 2 ทางการปกครองและทางสังคมครั้งยิ่งใหญ่ หลังการปฏิวัติครั้งแรก ค.ศ. 1789 ที่คำขวัญในการปฏิวัติ “เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ” และคำประกาศสิทธิมนุษยชน ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับประชาคมโลกจนถึงทุกวันนี้

เหตุการณ์พฤษภาคม ค.ศ. 1968 เริ่มจากการประท้วงเล็กๆ ของนักศึกษา ในชานกรุงปารีส เรื่องความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและระบบข้าราชการที่ทำงานล่าช้า เช่น ในการจัดงบประมาณแก่สถานศึกษา เป็นต้น ครูอาจารย์ปัญญาชน ศิลปิน แขนงต่างๆ ได้ค่อยๆ ทยอยเข้าร่วมโดยเฉพาะสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสเมื่อเห็นว่ารัฐบาล “ฉ้อฉล” อำนาจรัฐ ใช้ตำรวจปราบปรามนักศึกษาปัญญาชนอย่างไร้ความชอบธรรม นำไปสู่การนัดหยุดงานทั่วไป พลเมืองขัดขืนที่จะทำงานตามปรกติในชีวิตประจำวัน เกิดวิกฤติทางการเมืองทางสังคมทั่วประเทศจนในที่สุดนำไปสู่การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ เหตุการณ์พฤษภาคม ค.ศ. 1968 ที่ว่านี้ ส่งผลความเปลี่ยนแปลงทุกด้านอย่างลึกซึ้งในสังคมฝรั่งเศสมาถึงปัจจุบัน

ในทำนองคล้ายๆ กัน บรรยากาศทางสังคมและการเมืองใหม่ๆ จะ เกิดขึ้นแน่นอนในสังคมไทยหลังการชุมนุม 24 พฤศจิกายน

สมัย 14 ตุลาคม 2516 เรานักศึกษาออกมาร่วมชุมนุมกันเอง อาจารย์ส่วนใหญ่นอกจากไม่ร่วม ยังห้ามด้วย ทว่าครั้งนี้ ตั้งแต่ก่อนวันที่ 24 พฤศจิกายน ทั้งอธิการบดีและคณาจารย์ได้ แสดงเจตนารมณ์และออกมาร่วมชุมนุมด้วยกับนักศึกษา มีนักคิด ปัญญาชน ศิลปินแขนงต่างๆ นักสิทธิมนุษยชน ฯ ค่อยๆ ทยอยกันเข้าร่วม แบบเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาคม ค.ศ. 1968

สหภาพแรงงานไทยสมัย 14 ตุลาคม 2516 ยังเพิ่งเริ่มๆ ได้พัฒนาอย่างจริงจัง ก็เมื่อหลังจากนั้นท่ามกลางอุปสรรคมากมาย ผู้นำสหภาพและนักสหภาพแรงงานหลายคนต้องพลีชีวิต แต่ในวันนี้ สหภาพแรงงานของไทย โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ เติบโตมีวุฒิภาวะมากขึ้น มิได้มีไว้เพื่อรักษาประโยชน์ของสมาชิกผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่เป็นสถาบันสังคมมีหน้าที่ผดุงรักษานิติธรรมในบ้านเมืองด้วย คล้ายๆ กับที่สหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส รวมทั้งสื่อมวลชนบางส่วนได้เข้าร่วมขบวนการนักศึกษาเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1968

การชุมนุม เมื่อ 24 พฤศจิกายน จะไม่เพียงทำให้วัฒนธรรมทางสังคมและการเมืองการปกครองหลายๆ อย่างในการเมืองระบบพรรคและระบบรัฐสภาของไทย ต้องเปลี่ยนผ่านไปอีกขั้นตอนหนึ่งในทางที่ดีขึ้น แต่ดอกไม้ร้อยดอก ในการปฏิรูปสังคม ทุกด้านจะเบ่งบาน

“คลื่นลูกใหม่” ของประชาชนไทยผู้ได้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างแข็งขันมาแต่ต้น มีหลากหลายกว้างขวาง ได้แก่ นักศึกษา นักคิด นักเขียน ศิลปิน นักวิชาการ นักธุรกิจ พนักงานบริษัทห้างร้าน นักสหภาพแรงงาน พ่อค้าแม่ขาย ผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนข้าราชการทั้งพลเรือนและทหาร ตำรวจ บางส่วน ที่ได้ค่อยๆ เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ มโนสำนึกใหม่ ที่จะ วิวัฒน์สังคมประชาธิปไตยด้วย สันติ นี่เองที่จะ จะสร้างผลกระทบระลอกแล้วระลอกเล่าเพื่อความเปลี่ยนแปลง ถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองและพรรคการเมืองจะต้องมีจิตสำนึกใหม่ๆ หาไม่ก็อาจ “สูญพันธุ์” หากเพิกเฉยพลังเรียกร้องปฏิรูปการเมืองและสังคมไทยครั้งยิ่งใหญ่นี้

นอกจากนั้น เป็นโอกาสของนักการเมือง พรรคการเมืองใหม่ๆ ด้วยโดยเฉพาะผู้หญิง ที่จะคิดอ่านหาแนวนโยบายใหม่ๆ นำเสนอว่าจากประสบการณ์จริงของเรา 81 ปีที่ ใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ฉบับ เราจะ “แก้ตัว” และวิวัฒน์ไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ดียิ่งขึ้นไปอย่างไร

สังคมไทยจะต้องก้าวพ้นการแก้รัฐธรรมนูญด้วยวิถีทางรัฐสภาที่ยังไม่มีกลไกการตรวจสอบอย่างที่เป็นอยู่ (จนศาลรัฐธรรมนูญต้อง “วินิจฉัย” ในสถานการณ์เฉพาะหน้า) รัฐธรรมนูญย่อมต้องแก้ไขได้ตามเจตนารมณ์ประชาชน โดยยึดถือหลักให้อำนาจแก่รัฐสภา แต่ต้องมีบัญญัติ รัดกุมกว่ากลไกการแก้ไขกฎหมายทั่วไป ไม่ว่าจะแก้ไขบางมาตราหรือทั้งฉบับ และมีกลไกตรวจสอบ คือ ลงประชามติ หรือยุบสภา หลังจากรัฐสภาแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ดังเช่นอารยะประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เช่น ฝรั่งเศส เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ สเปน เยอรมนี ฯ นี้เป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องทำโดยวิถีรัฐสภาหลังวิกฤติการเมืองและ “รัฐธรรมนูญ” ครั้งนี้

อีกทั้งจะทำอย่างไร “ผู้ด้อยโอกาส” เช่น พลเมืองสตรีโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น ชาวนาชาวไร่ ผู้พิการ ฯ จะได้โอกาสพัฒนาตน ทั้งในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้ง พัฒนาความรู้ความเข้าใจที่จะช่วยสร้างวิถีประชาธิปไตย ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก ความผิดพลาดทางการเมืองที่กระบวนการรัฐสภาและรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ที่มาจากการเลือกตั้ง ได้กระทำสะสม จนเป็นชนวนเกิดเหตุการณ์ชุมนุม 24 พฤศจิกายน