เริ่มอยู่....ยากแล้ว

เริ่มอยู่....ยากแล้ว

เมื่อ "นายกรัฐมนตรี" นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลาง... กระแสความขัดแย้ง

ของสถานการณ์การเมือง...ที่แต่ละฝ่ายมีมวลชนเป็นฐาน ยิ่งทำให้...แต่ละก้าวในการปฏิบัติหน้าที่ของ นายกฯยิ่งลักษณ์ ลำบากมากขึ้น

ถึงแม้สถานที่หลักในการทำงานของนายกอย่าง "ทำเนียบรัฐบาล" จะมีการจัดระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด ทั้งด้วยการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ควบคุมพื้นที่ 3 เขตโดยรอบ และวางกำลังตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชนประจำทำเนียบรัฐบาลมากถึง 12 กองร้อย จนทำให้นายกฯมีสภาพไม่ต่าง "ไข่ในหิน" ก็ตาม

แต่การปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ไม่ได้มีแค่ "ทำเนียบรัฐบาล" เท่านั้น

ดังนั้น "การเฝ้าระวัง" ในการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ นอกทำเนียบรัฐบาล จึงเป็นสิ่งสำคัญ และยิ่งเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะความสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ที่มีกระจายอยู่ทุกพื้นที่และทุกกลุ่มของสังคม

"การเฝ้าระวัง" ในครั้งนี้ ไม่ได้แต่เพียงการวางกำลัง ระดมคนเท่านั้น แต่มีการนำข้อมูลด้านการข่าวและมวลชนมาใช้เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจลงพื้นที่ของนายกฯอีกด้วย โดยผู้รับหน้าที่ดังกล่าวคือ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ ผู้ซึ่งทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์ในทุกระยะ รวมถึงการคัดกรองและตัดสินใจ

"ปกติทุกวันพุธ เลขาธิการนายกฯจะเรียกประชุมหน่วยงานด้านการข่าว อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ( สมช.) ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) สันติบาล สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อประเมินทุกสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และทุกวันก็จะมีการส่งรายงานสถานการณ์ด้านการข่าวให้เลขาธิการนายกฯรับทราบ หากมีเรื่องด่วนก็สามารถยกหูโทรศัพท์รายงานได้ทันที" หน่วยงานด้านการข่าวกล่าว

นอกจากข้อมูลด้านการข่าวแล้ว "การลงพื้นที่" เพื่อเตรียมความพร้อมก็เป็นอีกปัจจัยในการชี้วัด ซึ่งหากกำหนดการหรือภารกิจนายกฯอยู่ใน กทม. ทีมรปภ.ของนายกฯซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำรวจสันติบาลจะแจ้งประสานตำรวจในพื้นที่หาข้อมูลในจุดที่นายกฯจะไป และเมื่อถึงวันที่กำหนด ทีม รปภ.บางส่วนจะไปล่วงหน้า เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยครั้งสุดท้าย หากมีปัญหาแจ้งกลับหัวหน้าทีมรปภ.ซึ่งอยู่ในทีมอารักขานายกฯ หรือเลขาธิการนายกฯทันที

หากเป็นต่างจังหวัด อย่าง "ครม.สัญจร" นอกจากทีมรปภ.นายกฯแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่จากสำนักเลขาธิการนายกฯ ทำหน้าที่ในการประสานและลงพื้นที่กับทางจังหวัด เพื่อกลับมารายงานเลขาธิการนายกฯ รวมถึงต่างประเทศที่มักจะใช้สถานการณ์ในประเทศเป็นตัวชี้วัด

ดังนั้น "เลขาธิการนายกฯ" จึงเป็นปราการด่านสุดท้ายของการประเมิน ตรวจสอบ และตัดสินใจในการจัดตารางกำหนดการและภารกิจของนายกทั้งในและต่างประเทศ

"ในช่วงนี้ ทีมล่วงหน้านายกฯจะต้องประสานงานกับตำรวจพื้นที่อย่างเข้มข้น รวมถึงต้องมีตำรวจนอกเครื่องแบบด้วย หากเห็นใครผิดปกติก็จะจับตาเข้าประชิด เพื่อเตรียมประกบทันที เมื่อเร็วๆ นี้ที่มีเปลี่ยนแผนกะทันหันก็อย่างประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง เดิมจะประชุมที่กระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ปิด และมีกลุ่มต่อต้านเตรียมมาดักเป่านกหวีดใส่นายกฯ จึงต้องย้ายมาจัดที่ทำเนียบฯแทน

หรือล่าสุดที่วัดบวรฯ (วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร) ที่ ครม.เป็นเจ้าภาพพระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรมพระศพสมเด็จพระสังฆราช ก็ต้องใช้วิธีส่งนอกเครื่องแบบประกบ" แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงกล่าว

อย่างล่าสุด การเลื่อนเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อร่วมการประชุม Thai Singapore Prime Minister Retreat ระหว่างวันที่ 26-27 พ.ย. เป็นช่วงเดือน ม.ค.แทน โดยอ้างติดภารกิจการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีการแจ้งภายในว่า เลื่อนไปแล้วครั้งหนึ่ง หรือแม้แต่การประชุม ครม.นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ จ.สงขลา ในวันที่ 29-30 พ.ย. ก็มีการแจ้งภายในว่าเลื่อนไปอย่างมีกำหนด เนื่องจากข้อมูลด้านการข่าวที่คาดว่าจะเกิดปัญหาการต่อต้านนายกฯและครม.ในพื้นที่ แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่มีการประกาศเลื่อนอย่างเป็นทางการ

"การเปลี่ยนแปลงกำหนดการหรือภารกิจนายกฯในช่วงนี้ จึงเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการตัดสินใจ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเหตุผลทางการเมือง เพราะเรื่องพวกนี้ถือเป็นส่วนสำคัญของมาตรการรักษาความปลอดภัยตัวนายกฯ เป็นเรื่องลับหรือเรื่องภายในที่อาจจะไม่แจ้งหรือแจ้งเพื่อป้องกันความสุ่มเสี่ยงกับนายกฯ ซึ่งในสถานการณ์ขณะนี้ เชื่อว่าการแสดงออกของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ไม่ได้มีแค่เพียงการเป่านกหวีดเท่านั้น" แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงกล่าว

และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ "กำหนดการ" หรือ "วาระงาน" ของนายกฯทั้งในประเทศและต่างประเทศมีการ "เปลี่ยนไป-มา" หรือ "สับขาหลอก" จนนาทีสุดท้าย ซึ่งเชื่อได้ว่าการเปลี่ยนแปลงยังไม่จบแค่นี้ ยังสามารถปรับได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ได้อีก

ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะ "นายกรัฐมนตรี" แค่นั้น เพราะภาพของบรรดารัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ และเจอกลุ่มต่อต้านประท้วงวุ่นวายมีให้เห็นทุกวัน

ขณะที่ "ทำเนียบรัฐบาล" เอง ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของนายกฯ กำลังถูกกลุ่มต่อต้านรัฐบาลโอมล้อมประชิดมาใกล้ทุกขณะ

เริ่มอยู่....ยากแล้ว