ทำไมคนไทยเกลียดถึงเกลียดกัน ?

ทำไมคนไทยเกลียดถึงเกลียดกัน ?

หลังการผ่าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมในเวลาตีสี่ของเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เสียงกระหึ่มในโลกออนไลน์ว่าด้วยประเด็นทางการเมืองก็ดังขึ้นอีกครา

ไม่ว่าจะมาจากทั้งกลุ่มต้านและกลุ่มสนับสนุน ตามมาด้วยการรณรงค์อารยะขัดขืนจากฝ่ายค้านที่ระดมคนไม่เห็นด้วยจำนวนมากตามสี่แยกย่านธุรกิจในกรุงเทพมหานคร ให้ออกมาแสดงความเห็นต้านด้วยการเป่านกหวีดประท้วงอย่างล้นหลาม จนเรียกได้ว่า กระแสนี้จุดติด

จะว่าไปแล้วการแสดงความไม่เห็นด้วยทางการเมืองนับเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกทางประชาธิปไตยที่บทเรียนในโรงเรียนไม่ค่อยได้สอน เพราะสิ่งที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยของบรรดาผู้นำที่ยัดเยียดในแบบเรียนประถมและมัธยมศึกษาคือ การหย่อนบัตรเลือกตั้งและหลังจากนั้นอำนาจทั้งหมดทั้งมวลก็ถูกโอนถ่ายให้เป็นหน้าที่ของตัวแทนในสภาฯ โดยสถานะของผู้แทนดังกล่าวย่อมมีศักดิ์มีสิทธิเหนือพลเมืองทั่วไป ดังนั้นการจะมาสั่งสอนคนไทยให้ออกไปประท้วง ทวงศักดิ์และสิทธิเหล่านั้นคืนเห็นจะไม่เป็นการดี ในแบบเรียนจึงเน้นเพียงแต่ต้นทางว่า การหย่อนบัตรเท่ากับประชาธิปไตย ดังนั้น ใครจะมาแตะต้องผู้แทนที่มาตามระบอบย่อมไม่ได้

ในสังคมออนไลน์ก็เห็นการปะทะกันทางความคิดของกลุ่มคนที่ต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม และกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย โดยแต่ละฝั่งสะท้อนอารมณ์ภายใต้การนำเสนอเหตุผลคะค้านกันอย่างไม่บันยะบันยั้ง ฝั่งองครักษ์พิทักษ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็สร้างกระแส ซึ่งมีทั้งบรรดาแกนนำ นักวิชาการและสื่อมวลชนที่ต้องการจะปกป้องการดำรงอยู่ของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้ทั้งวิธีการเสียดสี ด่าทอ ดูถูกดูแคลนการชุมนุมของม็อบนกหวีดและบรรดาแกนนำที่ขึ้นเวทีตลอดถนนราชดำเนิน ในขณะที่ฝั่งต้านรัฐบาลก็แสดงอารมณ์เกลียดชัง อกสั่นขวัญแขวงกับ "ผีทักษิณ" ที่ตามมาหลอกหลอนครั้งแล้วครั้งเล่า

กระแสความเกลียดชังที่จุดติดอย่างปฏิเสธไม่ได้จนทำให้หลาย ๆ ฝ่ายประเมินสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดม็อบชนม็อบนั้น ก็เนื่องจากสภาพสังคมไทยในขณะนี้เป็นบริบทที่พร้อมจะให้ความเกลียดชังสามารถทำงานแทรกซึมเข้าไปในทุกภาคส่วนอย่างง่ายดาย โดยงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ ดร. ชาญชัย ชัยสุขโกศล จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ระบุบริบทของสังคมที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังของคนในสังคม ไว้ 8 ประการ ซึ่งดูเหมือนเมืองไทยเราจะมีอยู่อย่างครบครัน คือ

1) สังคมมีลำดับการแบ่งช่วงชั้นค่อนข้างชัดเจน ซึ่งในบ้านเราช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยถ่างออกมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้จนขั้วขัดแย้ง "ไพร่-อำมาตย์" กลายเป็นกระแสให้คนลุกฮือขึ้นได้ไม่ยาก

2) สังคมมีการปกครองโดยกฎหมายที่อ่อนแอ ซึ่งอันนี้พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันที่การบังคับใช้กฎหมายเป็นแบบหยวนๆ แต่เฉพาะรายที่ใหญ่จริง เหมือนที่เขาว่ากันว่า “คุกไทยเอาไว้ขังคนจน”

3) สังคมมีความรุนแรงที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ ซึ่งบ้านนี้เมืองนี้ผ่านความรุนแรงและการใช้กำลังโดยรัฐแบบโจ๋งครึ่มมาอย่างนับครั้งไม่ถ้วน

4) สังคมมีการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง โดยประเด็นนี้ต้านอย่างไรก็ไม่อยู่เพราะเป็นกันทั้งระบบ ตั้งแต่นักการเมือง ข้าราชการ และภาคเอกชนที่มีการหักหัวคิวกันอย่างถ้วนทั่ว

5) สังคมมีการปิดกั้นความคิดเห็นที่แตกต่าง ทั้งนี้ ไม่ว่าใครหน้าไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ดูเหมือนจะต้องปิดกั้นเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารกันทั้งสิ้น

6) สถาบันหลักในสังคมไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ที่ยึดโยงคนไทยทั้งประเทศได้ถูกกัดเซาะทำลายทีละเล็กทีละน้อยมาโดยตลอด

7) หลักการสำคัญที่ยึดโยงการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถหาคนกลางที่จะทำหน้าที่บรรเทาความขัดแย้งระหว่างผู้คนได้

8) สังคมมีการปล่อยผู้กระทำผิดให้ลอยนวลได้ โดยประเด็นนี้อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายอันเกิดจาก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่ทำให้ผู้คนอดรนทนไม่ได้ต้องออกมาสู่ท้องถนนและแสดงความจงเกลียดจงชังฝ่ายตรงข้ามในที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้สภาพสังคมจะเอื้อให้ผู้คนเกลียดชังกันมากขนาดไหน แต่หากไม่มีกลุ่มการเมืองหรือแกนนำทำหน้าที่สร้างกระบวนการผันความเกลียดชังเหล่านั้น เพื่อยกระดับไปสู่ความรุนแรง การปะทะกันของม็อบต่อม็อบก็คงไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น สิ่งที่ควรเฝ้าระวัง ณ ปัจจุบันหาใช่การแสดงความคิดเห็นของผู้คนสามัญธรรมดาที่อาจแตกต่างกันเป็นปกติไม่ หากแต่ควรเป็นกลุ่มผู้นำและแกนนำที่พร้อมจะปลุกระดมผู้คนให้เข้าร่วมสงครามระหว่างคนไทยด้วยกัน ซึ่งพร้อมจะยืนกำชัยชนะบนซากปรักหักพังของประเทศชาติ