ตั้งทีมกม.เยียวยาคนเสื้อแดง แก้ลำ พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอย

ตั้งทีมกม.เยียวยาคนเสื้อแดง แก้ลำ พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอย

หลังจากมีกระแสต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ "ฉบับสุดซอย" อย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา

ทำให้ผู้คนจากหลากหลายกลุ่ม หลากหลายสาขาอาชีพออกมาต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา รวมทั้งบรรดานักการเมืองเอง เรียกว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ธรรมดา

กระทั่งนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องออกมาแถลงชี้แจงตอกย้ำถึง 2 ครั้ง แต่ก็ยังทานกระแสไม่ไหว สุดท้ายต้องส่งสัญญาณให้วุฒิสภา "ตีตก" ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับเจ้าปัญหา พร้อมลงสัตยาบันว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่หยิบร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หรือที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกตลอดอายุรัฐบาล

แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นจำเลยของสังคม ในฐานะที่พยายามผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.นิโทษกรรมฯ ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร โดยปิดปากฝ่ายค้าน เร่งลงมติ "ปิดอภิปราย" และรับร่างกันในยามวิกาล ตี 4 ตี 5 ด้วยเหตุนี้ถึงแม้วุฒิสภาจะคว่ำร่างกฎหมายไปแล้ว หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลลงสัตยาบันก็แล้ว ต้องบอกว่าการถอยสุดซอยของนายกฯยิ่งลักษณ์และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมยอมรับได้ว่าจะไม่มีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ล้างผิดเหมาเข่งกลับมาสู่การพิจารณาอีก

ไม่น่าเชื่อว่าสัตยาบันของ 4 พรรคร่วมรัฐบาล ที่ทำสัญญาประชาคมกันต่อหน้ากล้องโทรทัศน์อย่างชัดเจน และมติเอกฉันท์ของวุฒิสภา 141 เสียง จะไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กลับมาได้ สะท้อนว่าความหวาดระแวงและความต้องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน นิรโทษเหมาเข่ง รวมทั้งความต้องการให้หาคนผิดในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง มีความเข้มแข็งจริงจังในความรู้สึกของประชาชนอย่างแท้จริง

ฉะนั้นในภาวการณ์อย่างนี้ รัฐบาลก็ต้องหาทางออก เมื่อพลิกดูร่างกฎหมายเดิมของ วรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ได้ยืนยันมาตลอดว่าเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ. ก็เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ถูกจำคุกหรือถูกดำเนินคดีจากการออกมาร่วมชุมนุมแสดงพลังทางการเมือง

แน่นอนว่าชื่อร่างกฎหมายก็เขียนเอาไว้ชัดเจน คือ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....

ดังนั้นเมื่อร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านชั้นแปรญัตติมาไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่เสนอไว้ และวุฒิสภาก็คว่ำให้แล้ว นาทีนี้ต้องถือว่าร่ากฎหมายตกไปโดยปริยาย แต่เพื่อเรียกความเชื่อมั่นเชื่อใจกลับคืนมา พรรคเพื่อไทยจึงจำเป็นต้องเร่งหาทางออกเพื่อช่วยเหลือเยียวยาคนเสื้อแดงที่ถูกจองจำอยู่ในคุก ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อย ตัวเลขคร่าวๆ น่าจะอยู่ที่ 1,800 คน

ว่ากันว่าตอนนี้พรรคเพื่อไทยกำลังวางยุทธศาสตร์เพื่อจะไม่ให้เสียรังวัดในการช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ติดคุกอยู่ โดยทั้งหมดสืบเนื่องจากเหตการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 โดยจะแบ่งการช่วยเหลือเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ

ส่วนแรก ทำในนามพรรคเพื่อไทย โดยเร่งระดมทีมกฎหมายเข้าไปช่วยดูแลคดีที่กลุ่มคนเสื้อแดงเผชิญอยู่ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของพรรค กำลังเร่งวางตัวทีมกำหมายที่จะเข้าไปช่วย เรียกว่าเป็น "ทีมใหญ่" ไม่น้อยทีเดียว หากเทียบกับจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีอยู่ ณ ปัจจุบัน

ส่วนที่สอง ทำในนามรัฐบาล ด้วยการหามาตรการการเยียวยาให้กับกลุ่มคนที่มีอยู่นับพันคนดังกล่าวนั้น และเพื่อให้กลุ่มคนเสื้อแดงเบาใจว่ารัฐบาลยังช่วยอยู่

เมื่อจะใช้วิธีการเยียวยา "เหมาเข่ง" ด้วยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ไม่สำเร็จ แต่เพื่อไม่ให้คะแนนนิยมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีต่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยหดหายไป วันนี้พรรคเพื่อไทยจึงต้องหาทางออกให้กับคนเสื้อแดงกลุ่มที่อยู่ในเรือนจำ ทั้งจัดหาทีมกฎหมายทีมใหญ่เข้าไปช่วย พร้อมด้วยการเยียวยาเพิ่มเติม จากเดิมที่ไม่เยียวยากลุ่มที่ถูกดำเนินคดี

เท่านั้นยังไม่พอ วันนี้พรรคเพื่อไทยเริ่มขยับแผน 2 กับการช่วยเหลือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดี ว่ากันว่าจากนี้ไปพรรคเพื่อไทยวางหมากให้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็น "หัวหอก" ในการเดินสายชี้แจงคนเสื้อแดงให้เข้าใจถึงกระบวนการที่จะช่วยเหลือด้วย

สาเหตุที่ต้องทำจนถึงขนาดนี้ เพราะพรรคเพื่อไทยประเมินแล้วว่า หากไม่มีมาตรการอะไรออกมา น่าจะเสียรังวัดไปกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่คิดว่าเป็นฐานใหญ่ในการเลือกตั้ง เพราะในทางการเมืองแล้ว หาก "ไม่ได้ใจ" ก็อย่าคิดว่าจะ "ได้คะแนนเสียง"

ฉะนั้นจากนี้ไปการเยียวยาคนเสื้อแดงจึงเป็นภารกิจทั้งของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย เพราะตราบใดที่คนเหล่านี้ไม่ได้รับการเหลียวแล และรู้สึกว่ารัฐบาลมุ่งแต่จะหาทางช่วย "คนแดนไกล" หรือ "คนนอกประเทศ" เมื่อการเลือกตั้งใหญ่มาถึง อาจกลายเป็นโจทย์ข้อยากที่พรรคเพื่อไทยก้าวข้ามไม่พ้น!