เปลี่ยนเสียงของ "นกหวีดกับแตร"

เปลี่ยนเสียงของ "นกหวีดกับแตร"

กระบวนการต่อสู้การเมืองด้วยการใช้เครื่องมือที่ก่อให้เกิดเสียงนั้นมีความหมายที่สำคัญ

ได้แก่ การที่ผู้ไม่มีเสียงทางการเมืองได้สร้างเสียงเพื่อทำให้ถูกได้ยิน (to be heard) เสียงจึงพุ่งไปสู่รัฐบาลที่กุมอำนาจเต็มเปี่ยมให้ตระหนักว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจกระทำอยู่นั้นผิดอย่างยิ่ง การใช้เครื่องมือแสดงเสียงจึงมีความหมายทางการเมืองอย่างไพศาลทีเดียว

แต่ภายหลังจากที่กลุ่มนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ได้เลือกใช้นกหวีดเป็นเครื่องมือทางสัญลักษณ์ในการแสดงตนในการเข้าร่วมคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และต่อมาพรรคเพื่อไทยก็ได้เลือกใช้แตรในการรวมพลประกาศตัวเพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มแรกที่เชียงใหม่ ความหมายของเสียงที่เกิดจากเครื่องมือทางการเมืองจึงแปรเปลี่ยนจากการเป็นเสียงของประชาชนผู้ไร้เสียงโดยรวมไปสู่การแบ่งกลุ่มแยกข้างออกเป็นสองฝักสองฝ่ายแบบเดิม ไม่แตกต่างไปจากการใช้เสียงของมือตบและตีนตบในช่วงเวลาที่ผ่านมา

จังหวะแรกของการเคลื่อนไหวคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกดีขึ้นว่าอาจจะทำให้การมองเห็นซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้น และจะทำให้ประชาชนสามารถรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อที่จะสร้างฐานของระบอบประชาธิปไตยในการควบคุมพรรคการเมือง และเข้าใจได้ว่าพรรคการเมืองในระบอบปัจจุบันที่เน้นเฉพาะเสียงข้างมากไม่ว่าพรรคใดก็ตามล้วนแล้วแต่ไม่เห็นตัวประชาชนทั้งสิ้น

น่าเสียดายที่ สังคมไทยตกอยู่ในวังวนของการแบ่งฝ่ายจนไม่สามารถผสานเสียงของประชาชนให้ไปในทิศทางเดียวได้ การที่ประชาชนผูกพันตนเองเข้ากับผู้นำกลุ่มตนของทั้งสองฝ่ายในสถานะของสาวกจึงทำให้เสียงที่แสดงออกมาจึงเป็นเพียงเสียงแห่งการระดมพลเพื่อทำให้กลุ่มของตนรวมตัวกันเข้มแข็งเพื่อที่จะต่อสู้กับอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

น่าเสียดายที่ การเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้แก่กลุ่มที่รู้สึกว่าถูกนายใหญ่หักหลังได้ร่วมขบวนการส่งเสียงด้วย ไม่ว่าด้วยม่านอคติบังตาหรือรากฐานของกรอบคิดเดิมที่แยกฝ่ายไว้อย่างแน่นเหนียว มิหนำซ้ำ ประกาศยกระดับโดยหวังเพียงว่าจะได้การสนับสนุนจากชนชั้นกลางในสังคมและขาดความเข้าใจในอารมณ์ความรู้ของชนชั้นกลาง ก็ได้ทำให้โอกาสการรวมประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียวหลุดลอยไป

น่าเสียดายที่ กลุ่ม นปช. ได้หันกลับมาคืนดีกับพรรคการเมืองที่หักหลังกลุ่มตนมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่ในช่วงแรกประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าจะเป็นพลังอิสระทางการเมือง โดยกลับลำมาประกาศช่วยพรรคการเมือง (จอมหักหลังประชาชน) ในนามของการรักษาระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็ชี้ให้เห็นได้เพียงว่าเป็นความพยายามจะหาเหตุผลที่ดูสวยงามให้แก่การกลับหลังหันของกลุ่มตนเองเท่านั้น

แม้ว่าในโครงสร้างอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมไทยจะยังคงอยู่ในวิถีแห่งการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจนทำให้เกิดสภาวะ “น่าเสียดาย” ดังกล่าว แต่ความอ่อนแอของพรรคการเมือง/ชนชั้นนำทางการเมืองและวัฒนธรรมทั้งเก่าและใหม่ ก็ปรากฏชัดเจนมากขึ้น การปฏิเสธข้อเสนออารยะขัดขืนชี้ให้เห็นว่าการผลักดันประชาชนไปสุดอีกสุดขอบหนึ่งเป็นไปไม่ได้ การระดมคนของกลุ่มเสื้อแดงไม่เหนียวแน่นและเข้มข้นอย่างที่กลุ่มแกนนำคิด กลุ่มแดงอิสระได้แสดงตนอย่างเด่นชัดมากกว่าเดิม

ความอ่อนแอของกลุ่มชนชั้นนำทุกกลุ่มน่าจะเป็นโอกาสให้แก่การสร้างเครือข่ายประชาชนที่ก้าวข้ามมายาคติของสีเสื้อ ความจงรักภักดีต่อผู้นำที่สั่นคลอนในช่วงที่ผ่านมาน่าจะเปิดหูเปิดตาให้แก่มวลชนทั้งหลาย แต่นั้น ก็ต้องมีผู้ที่ทำให้เสียงของ “นกหวีด” กับ “แตร” ประสานเสียงกันให้มากกว่านี้

ปัญหาที่สำคัญ คือ ใครจะเป็นกลุ่มคนที่น่าจะทำให้เกิดการประสานเสียงระหว่าง “นกหวีด” กับ “แตร” ?

ปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญ เพราะความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้ผู้นำทางปัญญาของสังคมไทยบอบช้ำกันทั่วหน้า จนกล่าวได้ว่าในฐานะตัวบุคคลแล้ว สังคมไทยไม่เหลือใครสักคนที่พูดแล้วสังคมพอจะรับฟังบ้างเลย

ดังนั้น เราจึงไม่มีทางแสวงหาทางออกจากปัญญาชนปัจเจกบุคคลไม่ได้ ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้ ได้แก่ การสร้างพื้นที่กลางๆ ให้แก่การวิวาทะระหว่างคนต่างสีเสื้อที่พอคุยกันได้ และการพูดคุยนั้นก็ขอให้เกิดข้อตกลงร่วมกันในพื้นฐานขั้นต่ำสุดของการพูดคุยที่ทุกฝ่ายจะพอรับกันได้ ประเด็นใดที่สุดโต่งไปในอีกทัศนะหนึ่งก็ขอให้พักเอาไว้ก่อน (ประเด็นนี้ ผมได้ความคิดมาจากอาจารย์วีระ สมบูรณ รัฐศาสตร์ จุฬาฯครับ)

หากสามารถขยายวงคุยในระดับพื้นฐานที่พอรับกันได้เช่นนี้ในวงกว้างมากขึ้น สังคมไทยก็น่าจะพอจูนเครื่องให้เห็นพ้องกันได้มากประเด็นมากขึ้น บางประเด็นที่คนจำนวนหนึ่งคิดว่าถูกห้ามพูด ก็จะเห็นได้ว่าเป็น “ความเงียบที่เซ็งแซ่” บางประเด็นอาจจะทำให้เกิดการมองมุมใหม่ที่เอื้อแก่การปรับตัวของสังคม

การนำเสนอการเปิดเวทีกลางๆ เช่นนี้ อาจจะเป็นความพยายามมองโลกในแง่ดีสักหน่อย เพราะเมื่อสักครู่รับจดหมายอิเลคโทรนิคจากอาจารย์ที่ผมเคารพบอกว่า ท่ามกลางเสียงอึกทึก หวีด ฯลฯ เสียงอะไรจะได้ยินกันครับ คำตอบไม่มีครับ เพียงแต่หวังว่าท่ามกลางเสียงอึกทึกทั้งหลาย จะมีกลุ่มคนที่เดินออกจากพื้นที่อึกทึกแล้วมาสร้างพื้นที่ร่วมกันใหม่ในสังคมครับ

เราต้องพยายามเปลี่ยนเสียง “นกหวีด” และ “แตร” ที่แยกกันอยู่ในขณะนี้ ให้กลายมาร่วมกันประสานเสียงให้เป็นบทเพลงประชาธิปไตยของเสรีภาพ เสมอภาค และยุติธรรม เราทั้งหมดต้องหลุดออกจากการเป็น “สาวก” ของผู้นำให้ได้ในระดับหนึ่งในเร็ววัน ไม่อย่างนั้น สังคมไทยก็ตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ไปอีกนาน