ไพ่อาเซียน

ไพ่อาเซียน

ทุกวันนี้กล่าวขวัญกันมากเรื่องการรวมตัวของสิบประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งเดียวที่เรียกว่า ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)

ซึ่งตกลงกันว่าจะประกอบด้วยความร่วมมือในสามด้านหรือสามเสาหลัก คือประชาคมเศรษฐกิจ (ASEAN Economic Community) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community) และประชาคมการเมืองและความมั่นคง (ASEAN Political-Security Community) เพราะฉะนั้นที่หลายคนเรียกประชาคมอาเซียนว่า AEC ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะเป็นเพียงหนึ่งในสามของประชาคมเท่านั้นเอง อีกประการหนึ่ง การขับเคลื่อนประชาคมอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นอีกประมาณสองปีข้างหน้า คือปลายเดือนธันวาคมของค.ศ. 2015 หรือพ.ศ. 2558 ไม่ใช่ต้นปีค.ศ. 2015 อย่างที่เข้าใจกัน

หากจะถามหาความแตกต่างระหว่างการรวมหรือไม่รวมอาเซียน ณ วันนี้ คำตอบคงไม่ชัดนัก เพราะนอกเหนือจากการลดเลิกภาษีการค้าระหว่างกันเพื่อหลีกเลี่ยงจากการกีดกันทางการค้า โดยมีข้อตกลงการค้าเสรีอาฟตา (ASEAN Free Trade Area : AFTA) แล้ว ทัศนคติในความร่วมมือด้านต่างๆ ยังมีกลิ่นอายของการรักษาผลประโยชน์ของประเทศมากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศหรือของภูมิภาค แม้ว่าอาเซียนจะมีคณะทำงานมากมายหลายด้าน และมีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ตอบลำบากว่าความร่วมมือดังกล่าวยืนอยู่บนฐานความคิดของภูมิภาคสักเท่าใด และผลของความร่วมมือทั้งหลายมีประสิทธิภาพและความคุ้มค่าเพียงใดเมื่อเทียบกับทรัพยากรและเวลาที่ลงไปในแต่ละเรื่อง

ในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอาเซียนก็มีความกังวลดังกล่าวไม่น้อย ในแต่ละปีคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Committee on Science and Technology : ASEAN-COST) มีการประชุมระดับรัฐมนตรีหนึ่งครั้ง และสองครั้งในระดับปลัดกระทรวงซึ่งถือเป็นประธาน COST ของประเทศ นอกจากนั้นก็ยังมีการประชุมอนุกรรมการด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ อาหาร เทคโนโลยีสารสนเทศ วัสดุ พลังงาน ไปจนถึงเทคโนโลยีอวกาศ ระยะต่อมาก็มีความร่วมมือเฉพาะหน้าที่ต้องพึ่งเทคโนโลยี เช่น การบริหารจัดการภัยธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นต้น หากนับค่าใช้จ่ายที่ต่างคนต่างออกก็คงหลายสตางค์อยู่ แต่ความก้าวหน้าในความร่วมมือก็ยังเป็นปัญหาอยู่มากเมื่อความตั้งใจและเป้าหมายระดับภูมิภาคและงบประมาณในการผลักดันโครงการยังมีข้อจำกัดอยู่ตลอดเวลา

อาเซียนยังทำงานร่วมกับประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partners) จำนวนมาก ในอดีตก็อาศัยคู่เจรจามีสตางค์ทั้งหลายเป็นผู้สนับสนุนโครงการด้วยการให้เงินทุนมาทำงาน สถานการณ์ในทศวรรษที่ผ่านมาเปลี่ยนไปมาก หลายประเทศที่เคยร่ำรวยก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจ หลายประเทศเริ่มต้องการประโยชน์จากการสนับสนุน รวมทั้งประเทศในอาเซียนเองหลายประเทศที่เริ่มไม่เข้าข่ายที่จะรับการสนับสนุนเพราะถือว่าไม่จนแล้ว ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นเพราะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง คู่เจรจาใหญู่ๆ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ในระยะหลังรัสเซีย อินเดีย ก็เริ่มมาคุย ท่านอาจจะประหลาดใจว่าเดี๋ยวนี้อินเดียเองเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ในวงวิทยาศาสตร์อาเซียนปัจจุบัน อินเดียตั้งกองทุนสนับสนุนอาเซียนกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กิจกรรมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจามีความหลากหลาย นับตั้งแต่การสนับสนุนในการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ การทำโครงการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกัน การให้ใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ การจัดทำฐานข้อมูล การวิจัยด้านสาธารณสุขในโรคที่เกิดในภูมิภาค ไปจนถึงการพัฒนานาโนเทคโนโลยี และการพัฒนาชายฝั่งทะเล หลายโครงการค่อนข้างจะเป็นวิชาการ แต่บางโครงการเข้าใจได้ว่าเป็นความประสงค์ของคู่เจรจาที่ต้องการวางพื้นฐานทางการเมืองระหว่างประเทศหรือเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าในอนาคต บ่อยครั้งที่อาเซียนเองกลับไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน ยังเป็นฝ่ายรับข้อเสนอและสนองอยู่เนืองๆ อย่างไรก็ตาม หลายโครงการก็เป็นประโยชน์ต่อประเทศในอาเซียน

ล่าสุด ญี่ปุ่นก็ได้มีข้อเสนอดีๆ ที่จะให้ทุนแก่เยาวชนรวมทั้งเยาวชนของอาเซียนไปเรียนรู้ระยะสั้นราว 10 วันในญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จะจัดพิเศษให้กลุ่มหนึ่งไปดูงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนจำนวน 1,800 ทุน หากหารเฉลี่ยสิบประเทศก็หมายถึง 180 ทุนสำหรับเด็กไทย จะมีโอกาสไปเรียนรู้หลายด้าน รวมถึงวิทยาการด้านหุ่นยนต์ อวกาศ การแพทย์ ผังเมือง สิ่งแวดล้อม สถาปัตยกรรม เกษตรและอาหาร รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างแรงบันดาลใจด้วยทุนประเภทนี้น่าจะคุ้มค่า ทั้งการสร้างบุคลากรในอนาคต และความเข้าใจในขีดความสามารถของญี่ปุ่น คำถามคือประเทศอาเซียนเองคิดถึงการเชิญเยาวชนชาติอื่นมาเยี่ยมเยือนบ้างหรือไม่ แม้ประเทศจะไม่ไฮเทคเท่า แต่ก็คงมีหลายสิ่งหลายอย่างที่อยากให้เยาวชนจากที่อื่นได้มาเรียนรู้และเข้าใจ เพื่อการสร้างเพื่อนในอนาคตที่มีทัศนคติที่ดี

เกาหลีเองก็เริ่มเข้ามามีบทบาทต่ออาเซียนมากขึ้น ล่าสุดได้เริ่มเสนอความร่วมมือในภารกิจสามด้านสำคัญคือ การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาด้านอาหาร และการพัฒนาเทคโนโลยีเขียว พร้อมๆ กับค้นพบจุดอ่อนของอาเซียนว่าเป็นประเทศที่พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศ และขาดกำลังคนที่มีคุณภาพ การที่เกาหลีอยู่ในกลุ่มประเทศโออีซีดี (Organization for Economic Cooperation and Development) ทำให้การใช้เงื่อนไขของการให้ความช่วยเหลือต่อการพัฒนาประเทศอื่น (Official Development Assistance : ODA) สามารถที่จะหันมาอาเซียนได้ และจะเป็นประโยชน์หากประเทศในกลุ่มอาเซียนเองรู้ว่าจะรองรับความช่วยเหลือเหล่านี้จากประเทศที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงทางเศรษฐกิจของโลกได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้เป็นจุดเปลี่ยนเชิงบวกในการพัฒนาได้ทั้งกับอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียน หากอาเซียนถือไพ่ที่ชาญฉลาดกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้