5มุมมองทำไมพลเมืองดิจิทัล Gen-Y ไม่มีความสุข

5มุมมองทำไมพลเมืองดิจิทัล Gen-Y ไม่มีความสุข

Gen-Y และความไม่มีความสุขในชีวิต ด้วยอิทธิพลจากวัฒนธรรมดิจิทัล เป็นประเด็นที่พูดถึงกันในวงกว้างในหลายเดือนที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นกระแสจากบทความ The ME ME ME Generation ใน Time Magazine

หรือล่าสุด Why Generation Y Yuppies Are Unhappy ในเว็บข่าวออนไลน์ชื่อดังอย่าง Huffington Post

Gen-Y ต่างออกมาออกความคิดเห็นโต้แย้งกันอย่างท่วมท้นในโซเชียล เน็ตเวิร์คต่อทัศนะที่ระบุว่า เป็น Generation ที่ขี้เกียจ ชินกับความสบาย มีความมุ่งหวังสูงเกินความเป็นจริงและความเป็นไปได้ และที่สำคัญไม่มีความสุขด้วยเพราะเปรียบเทียบความเป็นไปที่ดูเหมือนจะสมบูรณ์แบบของคนอื่นผ่านสื่อโซเชียล เพื่อเข้าใจมุมมองที่แตกต่างของ Generation มาดู 5ประเด็นที่คนที่ไม่ใช่ Gen-Y ควรคำนึงถึงก่อนตัดสิน

1.ชีวิตเปรียบเทียบได้ (Life Is For Comparing) โตมาพร้อมกับการเชื่อมต่อโลกอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงความหลากหลายในชีวิต จากต่างวัฒนธรรม จากทุกมุมโลก ทั้งวิถีคนธรรมดาหรือเซเลบ ถือเป็นเรื่องสามัญ ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดเผยตัวตนและการใช้ชีวิตผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นๆ เป็นเรื่องช่วยไม่ได้

2.การระบาดของความสมบูรณ์แบบและลุ่มหลงในตัวเอง (Narcissism Epidemic) ต่อเนื่องจากกระแสโซเชียลมีเดียที่ผลักดันการแชร์ โพสต์ และเรียลลิตี้โชว์ที่ออกแนวสร้างภาพ ก่อให้เกิดนิสัย ออกสื่อ ในความหมายที่ว่าต้องดูดีตลอดเวลา ไม่ป่าวประกาศเรื่องธรรมดาแต่ถ่ายทอดเฉพาะภาพลักษณ์การประสบความสำเร็จ เผื่อถูกตอบรับทางบวกด้วยการได้ Like ทำให้หลายๆมิติในชีวิตกลายเป็นเรื่องของปัจจัยภายนอกมากกว่าความจริงภายในโดยอัตโนมัติ ถือเป็นอันตรายใหม่ในยุคโซเชียลที่ผลักดันความปลอม ทำให้ผู้คนขาดความภูมิใจและพอใจในตัวเอง มุ่งหวังจะเทียบ สวย รวย เก๋ กับคนอื่น เข้าลักษณะ โชว์สำคัญกว่าเป็น

3.ใช้ชีวิตอิงการขายฝัน (Impossible Is Impossible) เกิดมาในยุคที่กระแส New Age มาแรง หลายๆสื่อรวมไปถึงการถูกเลี้ยงดู เน้นการพัฒนาตัวเอง ผลักดันตามใจฝัน ทำสิ่งที่ใจรักสำคัญมากกว่าการก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อได้มาซึ่งเงินประทังชีวิต ประกอบไปกับกระแสวัฒนธรรมออนไลน์และการเติบโตของเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมใหม่ไม่เว้นในแต่ละวัน นิยามความเป็นไปไม่ได้จึงแทบจะไม่อยู่ในสารระบบของพลเมืองดิจิทัล กลุ่มGen-Y ความคาดหวังสูงขึ้น ความคิดบวกเป็นค่านิยมสมัยใหม่ ในขณะที่ความจริงยังเป็นความจริงเหมือนเดิม

4.ความจริงตัดตอนความฝัน (Living A Dangerous Lie) อาจเป็นเพราะเราเคยชิน คนรุ่นใหม่ต้องทำได้ดีกว่าคนรุ่นโบราณ หากแต่ไม่มีใครทันคิดว่า กระแสบริโภคนิยมจากคนรุ่นก่อนๆ จะทำให้เกิดกระแสความไม่มั่นคงถดถอยทางการเงินอย่างทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่ขาดโอกาส ความเบื่อหน่ายทำให้ถูกเข้าใจว่าเกียจคร้านไม่เอาการเอางาน การพบกับความจริงของชีวิตที่ไม่มีใครอยู่เฉยๆแล้วใช้ไลฟ์สไตล์ร่ำรวยเหมือนเซเลบในทีวีโชว์ และเงินไม่ใช่หากันง่ายๆ ยิ่งทำให้ Gen-Y หดหู่กันเข้าไปอีก

5.เชื่อในพลังมวลชนเปลี่ยนแปลงโลก (Fight To Change) ด้วยความเชื่อมั่นในพลังมวลชนในโลกออนไลน์ สปิริตที่ดีของ Gen-Y คือความเชื่อว่าคนธรรมดาสามารถรวมตัวสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีได้และใส่ใจในอิทธิพลของตนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสูงกว่าคนยุคก่อน บางคนอาจว่ามองหวังสูง ในขณะที่บางคนมองความไม่มีความสุขจะผลักดันให้ Gen-Y ฮึดสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงความจริงของยุค

จริงๆ แล้วคงจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะไปมอง Gen-Y ในมุมมองแบบลบๆ เข้าใจว่า ความยากของการใช้ชีวิตของ Generation ในยุคนี้ ผสมทั้งทัศนคติใหม่ๆที่เกิดในโลกดิจิทัล กระแสเศรษฐกิจขาลงที่ทำให้โอกาสเป็นสิ่งที่ขาดแคลน ความจริงของค่าใช้จ่ายที่สูงทำให้จินตนาการกับความเป็นจริงกลายเป็นเรื่องสวนทางอย่างเลี่ยงไม่ได้ในมุมมองแบบเอาใจเขา มาใส่ใจเรา

นิยามความสุขของ Gen-Y นี้อาจเป็นเพียงแค่แตกต่างจากคนยุคก่อน ยังมีให้พิสูจน์กันอีกมากว่า Gen-Y จะนำข้อครหาต่างๆนี้มาสร้างสรรนวัตกรรมอะไรใหม่ๆให้กับโลกนี้