ลุ้น"วุฒิ"ตัวช่วยรัฐบาล-พท. ก้าวข้าม"เส้นตาย"สุเทพ

ลุ้น"วุฒิ"ตัวช่วยรัฐบาล-พท. ก้าวข้าม"เส้นตาย"สุเทพ

“ล่ม”ไม่เป็นท่ากับการประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 8 พ.ย.

โดยมีส.ว.ลงชื่อร่วมประชุมเพียง 69 คน ขณะที่กลุ่ม 40 ส.ว.และส.ว.สรรหา ประท้วงไม่เข้าร่วมประชุม จนทำ นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ต้องนัดประชุมใหม่อีกครั้งวันที่ 11 พ.ย.นี้

"การเร่งรัด" ดำเนินการดังกล่าว นั่นเป็นเพราะรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย มีเป้าหมายที่จะเร่งให้ขั้นตอนคว่ำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แล้วเสร็จในการประชุมวุฒิสภาวันศุกร์ที่ 8 พ.ย. และจะนำมาเป็นเหตุผลในการแยกกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกจากกลุ่มที่ต่อต้านหรือจ้องล้มรัฐบาล

เพราะจากการประเมินของฝ่ายข่าวรัฐบาล มองว่าเสาร์-อาทิตย์ กลุ่มต้านร่างพ.ร.บ.จะเพิ่มมากขึ้น ผนวกกับวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.ศาลโลกจะมีคำวินิจฉัยกรณีปราสาทพระวิหาร ที่สำคัญคือการขีด "เส้นตาย" ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำหลักการชุมนุมคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในเวลา 18.00 น.วันที่ 11 พ.ย. เป็นการ "สุ่มเสี่ยง" และทำให้สถานการณ์จะบานปลายออกไป

ขณะที่กลุ่มส.ว.สรรหา และ 40 ส.ว.อ้างเหตุที่ไปตั้ง "วอร์รูม" ที่อาคารรัฐสภา และไม่เข้าร่วมประชุมว่า การเรียกประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ เป็น "ใบสั่ง" จากฝ่ายการเมือง และเตรียมเดินเกมให้รับหลักร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งแก้ไขเนื้อหากลับไปเป็นแบบร่างของนายวรชัย เหมะ ส.ส.เพื่อไทย โดยครอบคลุมเฉพาะประชาชน และให้ผ่าน 3 รวด โดยจะนำเข้าสภาเพื่อขอความเห็นชอบวันที่ 11 พ.ย. พร้อมยังมีข้อมูลเชิงลึกอีกว่า หากการดำเนินการในการประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ ในวันศุกร์ที่ 8 พ.ย.แล้วเสร็จ อาจเป็นเหตุให้รัฐบาลใช้ในการสลายการชุมนุมกลุ่มต่อต้าน ซึ่งอาจจะเป็นช่วงเสาร์-อาทิตย์นี้

ดังนั้น การเลื่อนการประชุมเป็นวันที่ 11 พ.ย.จึงเป็นไปตามความต้องการของกลุ่ม 40 ส.ว.และส.ว.สรรหา ขณะเดียวกันยังเป็นการ "ปิดทาง" ในการให้วุฒิสภา รับหลักการพิจารณา 3 วาระรวดในร่างพ.ร.บ.อีกด้วย เนื่องจากดำเนินการไม่ทันตามเส้นตาย ที่ สุเทพ กำหนด จึงทำให้ขั้นตอนในการดำเนินการของวุฒิสภา เหลือเพียงแนวทางเดียวคือ ไม่รับหลักการ พร้อมส่งกลับสภา โดยมีเงื่อนเวลา 180 วันเข้ามาเกี่ยวข้อง

ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นไปตามข้อตกลงที่นายนิคม เอ่ยปาก "ขอโทษ" และ "เคลียร์" กับ กลุ่ม 40 ส.ว.และส.ว.สรรหา พร้อมทั้งยืนยันว่าในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 11 พ.ย.จะเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายอย่างเต็มที่ โดยให้ถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 อีกด้วย

สำหรับท่าทีการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 11 พ.ย.นั้น นฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ระบุว่า ไม่สมควรรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาเป็นภาระ ควรใช้วุฒิสภาหยุดความสับสนนอกสภา ด้วยการทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ เป็นกลางที่สุด โดยคำนึงถึงประโยชน์ประเทศไทย และคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นตัวตั้ง ก็น่าจะทำได้ หากจะปล่อยให้เข้าไปถึงจนสุดซอย ควรจะปิดได้ตั้งแต่ปากซอยมันก็น่าจะเสียหายน้อยที่สุด เงื่อนไขที่จะเรียกร้องให้ออกมาชุมนุมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายต่างๆ ก็จะลดลงได้ ถ้ามีการหยุดในวุฒิสภาในวาระแรก

ขณะที่ รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. จากกลุ่ม 40 ส.ว. ย้ำว่า ในการประชุมวันที่ 8 พ.ย. ที่ประธานวุฒิสภา ใช้วิธีหักดิบย้ายวันประชุมจากที่กำหนดไว้เดิม 11 พ.ย. ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการรับออเดอร์จากรัฐบาล ขณะที่วุฒิสภาต้องทำงานอย่างเป็นอิสระโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติใคร ถ้าวุฒิสภาถูกสั่งซ้ายหันขวาหันได้เหมือนสภาผู้แทนราษฎร คงไม่สามารถช่วยตรวจสอบ ถ่วงดุลได้ ก็จะเหมือนส.ส ที่ประชุมรวดเดียว 19 ชั่วโมง และลงมติวาระ 3 ผ่านร่างนิรโทษสุดซอยแต่พอประชาชนทุกภาคส่วนทั่วประเทศลุกขึ้นคัดค้านเท่านั้น รัฐบาลก็รู้ว่ามาผิดซอยถึงกับถอยสุดซอยแบบไม่เป็นกระบวน

"ตอนนี้จะอาศัยวุฒิสภาเป็นผนังให้อิง เพื่อจะหยัดยืนขึ้นมาตอบโต้กลุ่มชุมนุมของประชาชนใช่หรือไม่ และมองว่าเหตุผลแท้จริงของการเปลี่ยนวันประชุมวุฒิสภา อาจเพื่อนำไปสู่การเปิดโอกาสให้รัฐบาลมีความชอบธรรมในการปราบปรามประชาชน"รสนาระบุ

ด้าน คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา จากกลุ่ม 40 ส.ว. ชี้แจงว่า การทำหน้าที่ของ ส.ว.ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวกับการขีดเส้นตายของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขีดเส้นตายว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะต้องชัดเจนภายในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 11 พ.ย. เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีใครมาสั่งได้

ดังนั้นคงต้อง "จับตา" รอดูการประชุมวุฒิสภาวันที่ 11 พ.ย.ว่า จะมีการวางหมากหรือเดินเกม เหมือนการประชุมครั้งที่ผ่านมาอีกหรือไม่ เพราะงานนี้ประธานวุฒิสภาให้ "จัดเต็ม" พร้อมขยายเวลา หากการประชุมไม่แล้วเสร็จอาจจะต่อถึงวันที่ 12 พ.ย.อีก

แต่อย่าลืม...ว่าสถานภาพของ กลุ่ม 40 ส.ว. กับประธาน "นิคม" เหมือน"น้ำ" กับ "น้ำมัน” มานานแล้ว ถึงแม้ในครั้งนี้...จะมีการเคลียร์ใจไปแล้วก็ตาม

ก็คงต้องรอ "ลุ้น" ว่า วุฒิสภาจะสามารถผนึกกำลังช่วยรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ก้าวข้าม "เส้นตาย" ของ สุเทพ กับมวลชน ต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้หรือไม่