เปิดเสรีค้าปลีกอินเดีย : ยังไม่มีอะไรในกอไผ่

เปิดเสรีค้าปลีกอินเดีย : ยังไม่มีอะไรในกอไผ่

ขอพูดถึงอีกครั้งเกี่ยวกับเรื่องอินเดียเปิดเสรีค้าปลีกสำหรับบริษัทต่างชาติ ซึ่งผมเคยเขียนลงในคอลัมน์นี้มาครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

หลังจากที่รัฐบาลอินเดียประกาศเปิดเสรีค้าปลีกสำหรับบริษัทต่างชาติโดยอนุญาตให้บริษัทค้าปลีกต่างชาติสามารถเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจค้าปลีกประเภท Single Brand ในอินเดียได้ถึง 100% จากที่เคยอนุญาตให้เข้าไปถือหุ้นได้ไม่เกิน 51% และต่อมายังใจดีอนุญาตให้บริษัทค้าปลีกต่างชาติสามารถเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจค้าปลีกประเภท Multi Brand ในอินเดียได้อีกถึง 51% จากที่ไม่เคยอนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจค้าปลีกประเภทนี้มาก่อนเลย

ก็ขอเรียนตามตรงว่าตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจการค้าปลีกของอินเดียซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงถึงปีละประมาณ 450 พันล้านดอลลาร์ เพราะร้านค้าปลีกในอินเดียส่วนใหญ่ 92-93% จะเป็นร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า Kirana เป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็กตั้งแต่เป็นซุ้มหรือเพิงอยู่ข้างถนนไปจนถึงร้านในตึกแถวขนาดเล็กกระจายทั่วไป ที่เหลืออีกเล็กน้อยจะเป็นร้านค้าปลีกแบบสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรดที่บ้านเราคุ้นเคยเป็นพิเศษเพราะเป็นร้านที่เรามักจะเรียกกันติดปากว่า “ร้านสะดวกซื้อ” ร้านค้าปลีกเหล่านี้ยังมีอยู่ไม่มากนักในอินเดีย เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรและขนาดของประเทศ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือร้านค้าปลีกสมัยใหม่เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นของบริษัทอินเดียและบริหารโดยผู้บริหารอินเดียซึ่งยังขาดความรู้และประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เป็นอย่างมากอันเป็นผลมาจากการปกป้องตนเองมากจนเกินไป ทำให้การเข้าไปซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกสมัยใหม่แบบอินเดียจึงยังไม่ค่อยมีความสะดวกและความหฤหรรษ์เท่าใดนัก ทั้งๆ ที่การประกาศนโยบายเปิดเสรีค้าปลีกในครั้งนั้น ทำให้เกิดความหวังว่าอะไรๆ ในภาคธุรกิจค้าปลีกของอินเดียน่าจะดีขึ้น

แต่หลังจากผ่านพ้นไป 1 ปี พบว่ายังไม่มีอะไรเกิดขึ้นในกอไผ่สำหรับภาคธุรกิจค้าปลีกของอินเดียอย่างที่เคยหวังว่าจะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ค้าปลีกต่างชาติเข้าไปลงทุนในอินเดียและจะนำเอาความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่เข้าไปพัฒนาธุรกิจค้าปลีกของอินเดียให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศ ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าการเปิดเสรีค้าปลีกของอินเดียยังเป็นการเปิดแบบกล้าๆ กลัวๆ หรือจะพูดกันแบบตรงๆ เลยก็คือ เปิดแบบปิดๆ หมายถึงว่าประกาศนโยบายเปิดเสรีออกมาแต่ก็มีกฎเกณฑ์ข้อจำกัดในการเข้าไปลงทุนด้านค้าปลีกของบริษัทต่างชาติตามมาอีกเป็นโขยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อกำหนดให้บริษัทค้าปลีกต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีกประเภท Single Brand โดยถือหุ้นตั้งแต่ 51% ขึ้นไปจนถึง 100% จะต้องจัดซื้อสินค้าที่จะจำหน่ายจากผู้ผลิตขนาดย่อม ขนาดเล็กและขนาดกลางในอินเดียที่มีเงินทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ส หรือประมาณ 31 ล้านบาท ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 30% ของมูลค่าการจัดซื้อทั้งหมด

แค่ข้อกำหนดนี้ข้อเดียวก็ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับบริษัทค้าปลีกต่างชาติที่จะเข้าไปลงทุนในอินเดียทันที เพราะข้อกำหนดดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน ทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย อย่างเช่นบริษัท IKEA ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในบ้านและของตกแต่งบ้านจากสวีเดนที่มีความสนใจเป็นอย่างมากที่จะเข้าตลาดอินเดียมาตั้งแต่ปีที่แล้วด้วยเงินลงทุนประมาณ 105,000 ล้านรูปีหรือประมาณ 52,500 ล้านบาท ก็ชะงักงันด้วยคำถามว่าสัดส่วนการจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตขนาดย่อม ขนาดเล็กและขนาดกลางของอินเดีย 30% จะคำนวณจากช่วงระยะเวลาใด และการจัดซื้อของบริษัท IKEA เป็นการจัดซื้อมูลค่ามหาศาล การจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตอินเดียดังกล่าวไม่นาน ก็จะทำให้ผู้ผลิตดังกล่าวกลายสภาพเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งจะอยู่นอกขอบข่ายของข้อกำหนด ถ้าเป็นแบบนี้ IKEA จะยังคงซื้อจากรายดังกล่าวต่อไปได้หรือไม่ หรือว่าจะต้องไปแสวงหาแหล่งผลิตสินค้ารายเล็กต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นภาระและเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนดำเนินงานของบริษัทฯ ต่อไปในอนาคต

ล่าสุดมียักษ์ใหญ่ด้านสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่นชื่อดังจากสวีเดนอีกหนึ่งรายที่ให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีกประเภท Single Brand ในอินเดีย นั่นก็คือ บริษัท H & M หรือ Hennes & Mauritz ที่มองเห็นโอกาสและศักยภาพตลาดของอินเดียที่มีประชากรวัยหนุ่มสาวที่หิวกระหายแฟชั่นสมัยใหม่อยู่เป็นจำนวนมาก โดย H & M ได้ยื่นขออนุญาตเพื่อเข้าไปดำเนินธุรกิจค้าปลีกประเภท Single Brand ต่อรัฐบาลอินเดียในวงเงิน 100 ล้านยูโร หรือประมาณ 4,200 ล้านซึ่งบริษัท H & M Hennes & Mauritz GBC AB ได้เป็นบริษัทที่ยื่นขออนุญาตต่อกรมนโยบายและส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดียโดยยอมรับเงื่อนไขว่า “H & M จะจัดซื้อสินค้าจากผู้ผลิตขนาดย่อม ขนาดเล็กและขนาดกลางในอินเดียคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 30% ของมูลค่าการจัดซื้อสินค้าทั้งหมด (ไม่รวมภาษีอากรต่างๆ) โดยบริษัทที่จะเป็นผู้ทำการจัดซื้อ คือ บริษัท H & M Retail India ซึ่งเป็นบริษัทของ H & M ที่จะเปิดดำเนินการในอินเดีย โดยสินค้าที่จัดซื้อจากอินเดียตามข้อกำหนดสัดส่วน 30% ดังกล่าว จะถูกส่งออกไปยังต่างประเทศและวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกของ H & M ในอินเดีย”

หลังจากยื่นขออนุญาตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าเกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นมาทันที เนื่องจากตามข้อกำหนดการเปิดเสรีค้าปลีกประเภท Single Brand ได้ระบุว่าการเข้าไปดำเนินการหรือประกอบธุรกิจด้านการค้าปลีกของบริษัทต่างชาติในอินเดีย จะอนุญาตให้บริษัทต่างชาติเพียงบริษัทเดียวหรือบริษัทที่เป็นเจ้าของ Brand บริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการหรือประกอบธุรกิจด้านค้าปลีกเท่านั้น ในกรณีของบริษัท H & M เจ้าหน้าที่ผู้พิจารณามีความสับสนและเกรงว่าจะเป็นการขัดกับข้อบังคับดังกล่าว เนื่องจากบริษัท H & M Hennes & Mauritz GBC AB เป็นผู้ยื่นใบสมัคร แต่มีชื่อบริษัท Hennes & Mauritz AB เป็นเจ้าของ Brand ในที่สุด H & M ก็แก้ไขปัญหาไปได้ด้วยการจัดการให้บริษัท Hennes & Mauritz AB ซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของ Brand ทำการมอบอำนาจให้บริษัท H & M Hennes & Mauritz GBC AB เป็นผู้ยื่นใบสมัครให้เป็นบริษัทที่ดำเนินการและประกอบธุรกิจค้าปลีกในการจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าแฟชั่น H & M ในตลาดอินเดียแทน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของอินเดียก็ออกมาแถลงว่า กรณีของ H & M ขณะนี้ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ก็คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่า เสร็จจากขั้นตอนนี้แล้วยังจะต้องไปผจญกับอะไรต่อไปอีกหรือไม่ แม้ว่าจะมีการยืนยันจากรัฐบาลว่าไม่ประสงค์จะสร้างอุปสรรคใดๆ ให้เกิดแก่นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ประสงค์จะลงทุนในธุรกิจค้าปลีกประเภท Single Brand ก็ตาม

เห็นอาการแบบนี้แล้ว คิดว่าสำหรับธุรกิจค้าปลีกประเภท Single Brand ยังพอมองเห็นอนาคตว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีบริษัทค้าปลีกต่างชาติประสบความสำเร็จเข้าไปเปิดตลาดในอินเดียในอนาคตได้ อย่างน้อยก็มียักษ์ใหญ่ค้าปลีกจากสวีเดนสองราย คือ IKEA กับ H & M นี่แหละ แต่สำหรับธุรกิจค้าปลีกประเภท Multi Brand จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นวี่แววความเคลื่อนไหวใดๆ เพราะภาครัฐยังเกรงว่าถ้าเปิดเสรีค้าปลีกประเภท Multi Brand เมื่อไร จะทำให้ร้านค้าปลีกดั้งเดิมหรือ Kirana ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากได้รับผลกระทบรุนแรงจนไม่สามารถแข่งขันได้และอาจจะล้มตายไปในที่สุด

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าการปกป้องคุ้มครองร้านค้าปลีกรายเล็กก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็ไม่ควรจะมองข้ามเรื่องโอกาสในการรับการถ่ายทอดประสบการณ์และทักษะในการบริหารจัดการด้านการค้าปลีกที่เป็นผลพวงด้านบวกที่จะได้รับมาจากการเปิดเสรีเหมือนกัน ถ้าหากยังปกป้องกันอย่างสุดขั้วแบบนี้ ผู้บริโภคในอินเดียคงจะไม่มีโอกาสได้สัมผัส “ร้านสะดวกซื้อ” เหมือนผู้บริโภคในประเทศอื่น แต่จะต้องผจญกับ “ร้านสะดวกขาย” ที่ผู้ขายเป็นใหญ่กันต่อไปอีกนานแสนนาน

...เฮ้อ แค่คิดนี่ก็เหนื่อยแทนแล้วนะจ๊ะ นายจ๋า