เมื่อรัฐมนตรีคลังพูดว่า.. อย่าเก็บภาษีเกินเป้า

เมื่อรัฐมนตรีคลังพูดว่า.. อย่าเก็บภาษีเกินเป้า

เมื่อวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง

กล่าวระหว่างประชุมหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณว่า ที่ผ่านมา มีความเข้าใจที่คาดเคลื่อน เกี่ยวกับงานจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลังว่า หากจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย จะทำให้คะแนนชี้วัดในการทำงานสูงขึ้นตามไปด้วย

กิตติรัตน์บอกว่า หากมองในมุมของการดูแลเศรษฐกิจ การจัดเก็บรายได้ที่เกินกว่าเป้าหมายนั้น จะกระทบต่อการปรับลดจีดีพี เพราะเม็ดเงินภาษีทุกบาทที่รัฐบาลเก็บเข้ามาในกระเป๋านั้น ย่อมกระทบต่อการหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจ ยกตัวอย่าง หากรัฐบาลจัดเก็บภาษีเกินเป้าหมาย 6 หมื่นล้านบาทต่อปี เงินที่จะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะหายไปคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีประมาณ 0.5% หากเก็บภาษีได้มากกว่านั้น ก็จะกระทบจีดีพีลดลงในสัดส่วนที่มากขึ้น

เมื่อรัฐมนตรีคลังส่งสัญญาณในลักษณะนี้ คิดได้ในเบื้องต้นว่า ต่อไปนี้ หน่วยงานด้านการจัดเก็บรายได้ ไม่ว่าจะเป็น กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และ รัฐวิสาหกิจ ไม่จำเป็นต้องทำงานเกินหน้าที่ เพื่อสร้างรายได้เข้าคลังหลวงให้เกินเป้า ทั้งๆ ที่ เป้าหมายในการจัดเก็บในแต่ละปีก็มักจะต่ำกว่าศักยภาพ ฉะนั้น ขอแค่ทำงานตามเนื้อผ้าก็พอ เพราะประสิทธิภาพในการจัดเก็บที่มากเกินจำเป็น จะฉุดให้จีดีพีประเทศขยายตัวได้น้อยลง ถือเป็นรัฐมนตรีคลังคนแรกที่กล่าวในลักษณะนี้

สัญญาณนี้ จะยิ่งเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับสถานะหนี้ของประเทศ เพราะความสามารถในการหารายได้ อาจไม่ทันกับภาระหนี้ โดยเฉพาะกรณีที่รัฐบาลมีแผนจะกู้เงินจำนวนมหาศาลหรือ 2.35 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนระบบน้ำและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึง การรับภาระผลขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกัน รัฐบาลตั้งเป้าหมายจัดงบประมาณแบบสมดุลในปี 2560 รายได้ที่จัดเก็บจะต้องเพียงพอต่อรายจ่ายประจำและการลงทุนด้านอื่นๆ

ที่จริงแล้ว รัฐมนตรีคลังอาจมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนไปว่า ผู้มีรายได้ทุกคนจะเต็มใจ 100% ต่อการเสียภาษีให้รัฐบาล และไม่จำเป็นที่หน่วยงานจัดเก็บต้องหารายได้มากกว่าเป้า เพราะไม่เช่นนั้น กรมสรรพากรก็คงจะไม่ประกาศนโยบายเข้มข้นที่จะเอาผิดกับผู้เลี่ยงภาษี โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม เพราะแม้รัฐบาลจะปรับลดอัตราจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 20% แต่ฐานภาษีไม่ได้ขยายตามที่คาดไว้ โดยยอดจัดเก็บรายได้ปี 56 ต่ำเป้า 9 พันล้านบาท เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี

อดีตอธิบดีกรมสรรพากรรายหนึ่งเคยเล่าว่า หากเขามองไปที่จุดใด หรือ ธุรกิจใด สามารถเห็นโครงสร้างของภาษีที่จะจัดเก็บและภาพของรายได้ที่จะเกิดขึ้น ขณะที่ ปัจจุบันยังพบผู้มีรายได้พยายามหาช่องทางในการหลีกเลี่ยงภาษีอยู่ต่อเนื่อง ล่าสุดได้เกิดคดีโกงภาษีมูลค่าเพื่มมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท กรณีนี้พบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้น หากบุคคลากรไม่เร่งเพิ่มประสิทธิภาพ แน่นอนว่า จะเกิดปัญหาต่อรายได้รัฐบาล ทั้งนี้ ปัจจุบัน การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีสัดส่วนเพียง 15% ต่อจีดีพี เพราะผู้มีรายได้ยังไม่มีการเสียภาษีที่สอดคล้องกับรายได้

เมื่อผู้นำระดับสูงของรัฐบาลคิดได้ดังนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรเกี่ยวกับความมั่นคงทางการคลังในอนาคตของประเทศ และ คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง เพราะหน้าที่สำคัญของรัฐบาล คือ การเก็บภาษีเพื่อจัดสรรรายได้อย่างทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ใช่ปล่อยให้เงินภาษีที่รัฐควรจัดเก็บได้ไปตกอยู่กับผู้เสียภาษีเพียงบางกลุ่ม