Leader as a Coach : ภารกิจของผู้นำ "คนนำทางที่ดี"

Leader as a Coach : ภารกิจของผู้นำ "คนนำทางที่ดี"

ตามความทรงจำของพวกเราในอดีตนั้น ภาพของผู้นำมักจะเป็นบุคคลที่มีอำนาจสูงในการควบคุมสั่งการ มีความคิดอ่านสามารถมองภาพของธุรกิจในอนาคต

ตระเตรียมแผนการต่างๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง จากนั้นก็สั่งซ้ายหันขวาหันให้ทีมงานขับเคลื่อนองค์กรไปสู่จุดที่ตัวเองต้องการ ผู้นำคนใดที่ทำแล้วประสบความสำเร็จก็จะถูกยกย่องเป็นแบบอย่างของผู้นำหรือ “Super Boss” ในยุคสมัยนั้นๆ ความเป็นความตายขององค์กรขึ้นอยู่กับผู้นำอย่างเดียว

นั่นเป็นโมเดลที่ใช้ได้ผลในสมัยหนึ่ง แต่เมื่อสภาพของธุรกิจเปลี่ยนไป การทำธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น องค์กรมีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายของบุคลากรมากขึ้น หากความอยู่รอดขององค์กรยังต้องขึ้นอยู่กับผู้นำเพียงคนเดียวย่อมถือว่าเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก ในวันหนึ่งหากผู้นำท่านนั้นวางมือหรือมีเหตุให้ไม่สามารถตัดสินใจสั่งการ ธุรกิจขององค์กรอาจสะดุดขั้นรุนแรง ผมเชื่อว่าทุกท่านคงเคยเห็นประวัติศาสตร์ของหลายๆ องค์กรที่ถึงขั้นตกต่ำหรือล่มสลายเพียงเพราะการจากไปของผู้บริหารไม่กี่คน

จะดีกว่าหรือไม่ หากองค์กรของเราจะมีผู้บริหารเก่งๆ จำนวนมากและสามารถ “สร้าง” คนรุ่นใหม่ในองค์กรให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารที่ดีในวันข้างหน้า หากทำได้แบบนี้ความอยู่รอดและรุ่งเรืองขององค์กรในระยะยาวย่อมสดใส เพราะที่สุดแล้วองค์กรจะไปได้ไกลหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพของคนในนั้น หากอยากสร้างองค์กรให้ก้าวหน้าย่อมต้องสร้างคนให้แข็งแกร่งเสียก่อน

ภารกิจของผู้นำในวันนี้จึงไม่ใช่การฉายเดี่ยวชี้นำผู้อื่นอีกต่อไป แต่กลับเป็นการสร้างคนภายในให้มีความสามารถ เพื่อขึ้นมาแทนที่ตัวเองในอนาคต ผู้นำยุคใหม่ต้องไม่หวงวิชาและไม่ปิดตัวเอง ยิ่งพัฒนาคนขึ้นมาได้มากเท่าไหร่ยิ่งแสดงว่าผู้นำคนนั้นเก่งมากเท่านั้น เช่นเดียวกับการเป็น “Coach” ที่ปั้นคนรุ่นใหม่ๆ ออกมา

เพื่อสร้างให้ผู้บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ได้ตระหนักถึงบทบาทของตัวเองในฐานะ Coach ผู้สร้างคน เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาธนาคารฯจึงได้จัด The Coach Forum ขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Leader as a Coach ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในการสร้างค่านิยมองค์กรใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ iSCB (Innovation, Social Responsibility, Customer Focus, Building our People) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างให้เกิด High-Performing Family Culture ในธนาคารอันจะทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรและการเจริญเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยมีแขกรับเชิญสำคัญมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์มากมายจากทั้งวงการการศึกษา การกีฬาและบันเทิง รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของธนาคารที่ประสบความสำเร็จในการสร้างทีม ได้แก่ Professor Dave Ulrich กูรูด้านการพัฒนาคนระดับโลก คุณกมล ตันกิมหงษ์ หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมตะกร้อชายทีมชาติไทย คุณเจนนิเฟอร์ คิ้ม ผู้ฝึกสอนการร้องเพลงที่มีผลงานมากมาย คุณวศิน ไสยวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สาย Financial Market และคุณพรรณพร คงยิ่งยง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายเครือข่ายสาขา ซึ่งใจความสำคัญของการแลกเปลี่ยนนั้นคือภารกิจของผู้บริหารในฐานะผู้สร้างคนเพื่อที่คนจะได้สร้างองค์กรต่อไป ผู้นำจะต้องศึกษาจุดแข็งจุดอ่อนของสมาชิกแต่ละคนให้ทะลุปรุโปร่ง และดึงเอาจุดแข็งของทีมงานออกมาใช้ตามลักษณะงานต่างๆ ที่ส่งเสริมกัน และที่สำคัญที่สุดคือความไว้วางใจต่อกันเพื่อที่จะก้าวข้ามจากภาวะ Winning Leader เป็น Winning Team

หลายคนมักคิดว่าการเป็นผู้นำที่ดีจะต้องเป็นผู้ที่มีความแม่นยำชำนาญการที่สุดในสายงานนั้นๆ แต่ผมกลับเห็นว่าความเก่งงานสามารถช่วยให้เราทำงานได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อไรก็ตามที่เราก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหาร ทักษะด้านการทำงานเฉพาะทางจะค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยทักษะด้านการบริหารคน ผู้นำไม่สามารถลงมือทำทุกเรื่องด้วยตัวเองได้อีกต่อไปแต่ต้องทำโดยอาศัยทีมงานช่วยกัน อีกทั้งการเป็นผู้บริหารไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องมีคำตอบที่ดีที่สุดในการทำงานทุกสถานการณ์เสมอ หลายครั้งที่กุญแจไขสู่ทางออกไม่ได้เกิดจากผู้นำคิด แต่เกิดจากการที่ผู้นำกระตุ้นให้สมาชิกในทีมได้คิด ดังนั้น ผู้ที่เข้าใจคนและสามารถดึงศักยภาพของทีมออกมาได้ ทั้งยังสามารถพัฒนาคนในทีมที่ยังมองไม่เห็นความสามารถของตัวเองให้พัฒนาจนบรรลุเต็มศักยภาพได้ ผมถือว่านั่นคือสุดยอดผู้นำอย่างแท้จริง

ก่อนจากกันในวันนี้ ผมขอฝากข้อคิดที่ได้จาก Professor Dave Ulrich ในการเป็น Coach ที่ดีนั้น “Bosses who can questions rather than jump to answers, who seek to understand before giving direction, and who work to build trust before taking action can become excellent coaches.” การเป็น Coach ที่ดีนั้น ต้องถามมากกว่าให้คำตอบ ต้องเข้าใจก่อนให้คำแนะนำ และที่สำคัญต้องสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกันก่อนที่จะลงมือทำงานร่วมกัน สำหรับฉบับหน้าผมจะมาเล่าให้ฟังถึงแนวทางการพัฒนาภาวะผู้นำที่ Professor Dave Ulrich ได้มาแบ่งปันให้กับผู้บริหารของธนาคารไว้อย่างน่าสนใจครับ