อำนาจตีความและวินิจฉัยกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา

อำนาจตีความและวินิจฉัยกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกามีการปกครองแบบสหพันธรัฐ ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งแบ่งแยกอำนาจการปกครองไว้

คือ มาตรา 1 บัญญัติว่าอำนาจนิติบัญญัติเป็นของสภาครองเกรส ซึ่งประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 2 บัญญัติว่าอำนาจบริหารเป็นของประธานาธิบดี มาตรา 3 บัญญัติว่า อำนาจตุลาการเป็นของศาลสูงสุดหนึ่งศาล และศาลระดับรองที่สภาครองเกรสจะจัดตั้งขึ้น

ในส่วนของเขตอำนาจศาล ตามอนุมาตรา 2 ของมาตรา 3 ได้บัญญัติให้ขยายถึงคดีทั้งปวงตามหลักกฎหมายและหลักของความยุติธรรม อันเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ และตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา และสนธิสัญญาที่ได้ทำ หรือจะทำขึ้นภายใต้อำนาจของสหรัฐอเมริกา ขยายถึงคดีทั้งปวงที่มีผลต่อเอกอัครราชทูต อัครราชทูต และกงสุล ขยายถึงคดีทั้งปวงที่เกี่ยวกับกองทัพเรือและเขตอำนาจทางทะเล ขยายถึงข้อขัดแย้งทั้งปวงที่สหรัฐอเมริกาจะต้องเป็นคู่ความ ขยายถึงข้อขัดแย้งระหว่างรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไป หรือระหว่างรัฐกับพลเมืองของรัฐอื่น หรือระหว่างพลเมืองต่างรัฐ หรือระหว่างพลเมืองในรัฐเดียวกันที่อ้างสิทธิเหนือที่ดินที่ได้รับในรัฐอื่น หรือระหว่างรัฐหรือพลเมืองกับรัฐต่างประเทศ หรือกับพลเมืองต่างประเทศหรือกับคนในบังคับของต่างประเทศ

รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ไม่ได้บัญญัติให้มีศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ และก็ไม่มีบทบัญญัติที่ชัดแจ้งให้ศาลสูงสุดมีอำนาจพิจารณาว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญและการตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่ปัญหาการวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญและการตีความรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาไม่เคยเกิดเป็นประเด็นขึ้นในศาลสูงสุด จวบจนถึงปี ค.ศ. 1803 เมื่อมีคดีคดีหนึ่งที่เรียกว่าคดี Marbury และ Madison เข้าสู่การพิจารณาของศาลสูงสุด

คดี Marbury และ Madison (1803) มีข้อเท็จจริงโดยสรุปคือ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1800 ประธานาธิบดี John Adam แห่งพรรค Federalist ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง แพ้การเลือกตั้งต่อ นาย Thomas Jefferson แห่งพรรค รีพับลีกัน นอกจากนี้พรรค Federalist ยังสูญเสียเสียงข้างมากในสภาครองเกรสด้วย ระหว่างเวลาที่ประธานาธิบดีคนใหม่และสมาชิกสภาครองเกรสชุดใหม่ยังไม่ได้เข้ารับหน้าที่ ประธานาธิบดี John Adam ได้จูงใจให้สภาครองเกรสผ่านร่างกฎหมายตุลาการฉบับใหม่ ซึ่งให้อำนาจประธานาธิบดี John Adam ในการแต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่ได้หลายตำแหน่ง จุดประสงค์เพื่อแต่งตั้งคนของฝ่ายของตนเข้าเป็นผู้พิพากษาไว้ยับยั้งนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลพรรครีพับลิกัน

ประธานาธิบดี John Adam สามารถทำตามที่ประสงค์ โดยได้แต่งตั้งผู้พิพากษาคนใหม่ทั้งหมด 39 คน และจะมีผลสมบูรณ์ เมื่อผู้ได้รับการแต่งตั้งได้รับหนังสือการแต่งตั้งที่ลงนามโดยประธานาธิบดี จากกระทรวงการต่างประเทศ (ในช่วงนั้นทำหน้าที่เป็นกระทรวงมหาดไทยด้วย) แล้ว แต่กระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลของประธานาธิบดี John Adam ส่งหนังสือแต่งตั้งให้ผู้พิพากษาคนใหม่ได้ไม่ครบ ขาดอีก 3 คน ประธานาธิบดีคนใหม่ก็เข้ารับหน้าที่ หนึ่งในผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาคนใหม่ที่ยังไม่ได้รับหนังสือคือ นาย William Marbury เมื่อประธานราธิบดี Thomas Jefferson เข้ารับหน้าที่ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1801 และเมื่อทราบเรื่องราวจึงสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศระงับการส่งหนังสือแต่งตั้งให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับหนังสือส่วนที่เหลือ นาย William Marbury จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลสูงสุดให้สั่งให้กระทรวงการต่างประเทศส่งหนังสือแต่งตั้งให้ ทั้งนี้ กฎหมายตุลาการ ค.ศ. 1789 ให้อำนาจศาลสูงสุดที่จะมีคำสั่งตามฟ้องได้

ผลการตัดสิน ศาลสูงสุดโดยมติเอกฉันท์ มีคำพิพากษาซึ่งมีความตอนหนึ่ง ระบุว่า ตามความเป็นจริง นาย Marbury มีสิทธิที่จะได้รับหนังสือแต่งตั้ง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ กฎหมายตุลาการ ค.ศ.1789 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยผู้พิพากษา Marshall ให้ความเห็นว่าสภาครองเกรสไม่สามารถออกกฎหมายให้อำนาจศาลสูงสุดออกคำสั่งเช่นนี้ได้ จะกระทำได้ก็โดยแต่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เท่านั้น แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บัญญัติให้ศาลสูงสุดมีอำนาจออกคำสั่งเช่นนี้ไว้ ดังนั้น ศาลสูงสุดไม่สามารถออกคำสั่งบังคับประธานาธิบดี Thomas Jefferson และ นาย Madison รัฐมนตรีต่างประเทศให้ส่งหนังสือแต่งตั้งให้นาย Marbury เป็นผู้พิพากษาได้ เพราะศาลไม่มีอำนาจออกคำสั่งเช่นนี้

ผลของคำพิพากษาศาลสูงสุดในคดี Marbury และ Madison ทำให้เกิดบรรทัดฐานต่อมาว่า ศาลสูงสุดมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ตราออกมาโดยสภาครองเกรส และลงนามโดยประธานาธิบดีชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าหากศาลสูงสุดเห็นว่ากฎหมายที่ตราออกมาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็มีอำนาจลบล้างกฎหมายนั้นได้ รวมทั้งมีอำนาจตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายรวมถึงการวินิจฉัยว่าการปฏิบัติหน้าที่ของประธานาธิบดีชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย ทั้งนี้ ผู้พิพากษา Marshall ให้ความเห็นไว้ตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ หากมีปัญหาที่ต้องตีความ ผลที่สุดต้องเป็นอำนาจที่ศาลสูงสุดผู้ใช้อำนาจตุลาการ จะเป็นผู้ตีความว่ารัฐธรรมนูญมีความหมายเช่นใด ซึ่งอยู่ในขอบเขตเดียวกันกับที่ศาลเป็นผู้ตีความกฎหมาย

ข้อสังเกต ในเวลาต่อมา มีหลายฝ่ายได้แสดงความเห็นต่อคำพิพากษาคดี Marbury และ Madison อย่างหลากหลาย ที่น่าสนใจคือ ความเห็นที่ว่า จากคำวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญย่อมเป็นโมฆะ ของผู้พิพากษา Marshall ทำให้เกิดหลักการที่เป็นบรรทัดฐานว่าศาลสูงสุดมีอำนาจวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย และการตีความรัฐธรรมนูญ แม้รัฐธรรมนูญจะไม่มีบทบัญญัติระบุให้อำนาจศาลสูงสุดไว้โดยชัดแจ้ง แต่เกิดขึ้นจากความสำคัญของหลักการการถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากเกิน โดยผู้พิพากษา Marshall เห็นว่าอำนาจตุลาการควรมีบทบาทไม่น้อยกว่าอำนาจอีกสองฝ่าย เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจตรากฎหมาย ถอดถอนประธานาธิบดีรวมทั้งผู้พิพากษาศาลสูงด้วย ส่วนประธานาธิบดีผู้ใช้อำนาจบริหาร มีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่ผ่านสภาครองเกรสและยับยั้งการแต่งตั้งตุลาการในศาลสูงสุด

ดังนั้น เมื่อมีปัญหาต้องวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราโดยสภาครองเกรส และปัญหาการปฏิบัติงานของประธานาธิบดีว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ชอบ ที่ฝ่ายตุลาการจะเป็นผู้วินิจฉัย อันสอดคล้องกับหลักการการแบ่งแยกอำนาจและการถ่วงดุลอำนาจ