ปลอดภัย มั่นคง เพียงใดหรือ ข้าวจำนำ

ปลอดภัย มั่นคง เพียงใดหรือ ข้าวจำนำ

ความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) และ ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) สัมพันธ์กันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้

มีข้าวกิน ไม่ปลอดภัย กินแล้วเกิดโรค ก็ไม่รู้จะกินไปทำไม

เราเคยตื่นตกใจมาแล้วเรื่องโรคที่มาจากอาหารเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัวป่วยโรค Anthrax เรื่องไข้หวัดนกสัตว์ปีกทั้งหลาย แต่มาบัดนี้ อุตสาหกรรมการผลิตพืชผักผลไม้ก็เอากับเขาด้วยเหมือนกัน คือ โรคอันเกิดจากผักผลไม้และพืชปนเปื้อน เพิ่มจากอัตรา 2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 1990 มาเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2007 (Hanning et al. 2009) จึงต้องขยายผลการเฝ้าติดตามระวังอาหารพืชผักผลไม้ให้มากขึ้น

อาหารที่เรากินทุกวันนี้ มีสิ่งที่ทำให้เกิดโรค (pathogenic) มากขึ้น ทั้งถึงตายทันที และค่อยๆ ตาย มีอยู่ในอาหารมาตั้งแต่เป็นวัตถุดิบ ตั้งแต่ยังไม่ได้นำมาปรุงกิน ทั้งในการผลิตอาหารพืชและสัตว์ โดยที่เราไม่รู้ ทั้งเพราะไม่สนใจจะรู้ และเพราะถูกปิดบังข้อมูล ในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การผลิต การเก็บรักษาและการจำหน่าย การปรุงเป็นอาหาร เพราะว่าเป็น “ความลับทางการค้า” ของพ่อค้าแม่ขายและบริษัทผลิตอาหาร ซึ่งถ้าเป็นผู้ฉวยโอกาสแอบบรรจุน้ำดื่ม ทำอมยิ้ม มะม่วงดอง ในบ้านเล็กๆ ผิดสุขอนามัย ก็พอเข้าไปตรวจจับทะลายได้ แต่ถ้า “ขาใหญ่” ขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งไปขอดูและเข้าไปทะลายได้ยาก ถึงขั้นกลายเป็น “ความลับทางการค้า” ของประเทศไหนเพราะรัฐบาลทำการค้าอาหารนั้นๆ เสียเอง อันนี้จะยิ่งยากเพราะมันกลายเป็น “ความลับระดับชาติ” ไปแล้ว

แค่มีคนพูดเรื่อง ข้าวรมยา ก็จะถูกเอาตายกันเดี๋ยวนั้น

ทั้งๆ ที่ในวันนี้ เดินเข้าร้านขายข้าวสารที่รักใคร่ชอบพอกัน เขาจะเปิดถุงข้าวสารต่างๆ ในร้านและสอนให้เราหัดดม แม้จมูกไร้ประสบการณ์เลย ข้าวจากบางถุงพลาสติก (ที่โลโกข้างถุงเกี่ยวกับการส่งไปแอฟริกา) ดมแล้วแทบ -ขอประทานโทษ- อาเจียน มีคำแนะนำว่า ถ้าหวั่นใจเรื่องรมยา รู้จักที่ไหนไม่อยู่ในโครงการจำนำข้าวก็ไปขอเอามากินเถิด แต่ไหนแต่ไรพ่อแม่สอนว่า อย่ากิน “ข้าวเก่าสองปี” คือ เก็บนานเป็นข้าวเปลือกยุ้งเกินสองรอบปีการผลิต เพราะข้าวเสื่อมคุณภาพไปเองแน่นอน ยกเว้นสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น สงคราม เกิดความแห้งแล้ง น้ำท่วม ฯ แต่นี่ตั้งแต่จำนำข้าว รัฐบาลบ่มเก็บข้าวเปลือก ราวกับเป็นเหล้าไวน์

ถึงเวลาแล้วจริงๆ ที่วิวาทะเรื่องนโยบายจำนำข้าวต้องออกจากกรอบเรื่องตัวเลขการขาดทุน-กำไร ใช้ภาษี มีการคอร์รัปชัน มีตัวละครแบบ "เสี่ยเปี๋ยง" หรือไม่ เงินจำนำข้าวไปถึงชาวนาเท่าไร ไม่ถึงเท่าไร เอ็ม โอ ยู และจีทูจี กับจีนหรือทำกันจริงหรือไม่ มีผลหรือไม่มีผลผูกพัน หรือว่าไล่จับตัวเลขว่ามันปีละกี่ล้านตันกันแน่ เล่นเอาเถิดเอาล่อระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านไม่รู้จบ

อาหารที่เรากิน ต้องมีความมั่นคง คือ มีให้กินตลอด สม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอ ไม่เกิดภาวะขาดแคลน เหมาะตามวิถีชีวิตวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมด้วย เราเป็นชาวโลกประเภทกินข้าว ก็ควรต้องจัดระบบให้เราได้กินข้าว ไม่ใช่ว่าก็แป้งเหมือนกัน กินข้าวสาลีขนมปังหรือสปาเกตตีแทนก็ได้ และอาหารที่เรากินก็ต้องปลอดภัย ด้วย คือ อยู่ในสภาพถูกสุขภาวะ ไม่หมดอายุ ไม่เสีย ไม่ปลอมปน ตั้งแต่การเป็นวัตถุดิบมาจนกระทั่งถึงการเก็บรักษา การขนส่ง การจำหน่ายและการปรุง ต้องปลอดสิ่งปลอมปน และการใช้สารเคมีที่เป็นพิษทั้งออกฤทธิ์ทันทีและสะสม ส่งผลในระดับไมโครเซลล์ ใช้ตาเปล่ามองไม่เห็น

การปลอมปนนี้ไม่ใช่สารเคมีอย่างเดียว เศษแก้ว กระดูกหนู ผงโลหะ ฯ ก็เป็นเหตุให้ตายได้ อันนี้ต้องไปดูสาเหตุการตายในสหรัฐอเมริกา เพราะมีการศึกษาวิจัย

ส่วนการปนเปื้อนก็คือ แทนที่อาหารจะเป็นยา กลายเป็นยาพิษ เสียนี่ อยู่ในอาหารและมากับอาหารที่เรากินเลย เป็นพิษในระดับไมโครเซลล์ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น

ขอให้มาแลดูข้อมูลนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรของไทยในปี 2555 บ้าง เฉพาะสารกำจัดวัชพืชมีนำเข้ากว่า 100 ล้านกิโลกรัม มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท จนมีคำเปรียบเปรยเชิงเยาะเย้ยผืนนาไทยว่า ในน้ำมียา ในนามีหนี้ นาผืนนี้มีแต่หนี้กับยา ซึ่งส่งผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเกษตรกรอย่างลึกซึ้งระดับไมโครเซลล์

เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ คุณจุฬาพร คำรัตน์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงผลตรวจเลือดเกษตรกร จ.อุบลราชธานี เพื่อหาความเสี่ยงจากสารเคมีทางการเกษตร ในปี 2554 จำนวน 35,087 ราย พบว่ามีความเสี่ยงไม่ปลอดภัยสูงถึงร้อยละ 29.45

เด็กหญิงวัย 4 ขวบ อ.สว่างวีระวงศ์ ป่วยโดยมีแผลเป็นตุ่มขนาดใหญ่เต็มขาและเท้า หลังวิ่งเล่นที่ท้องนาโดยพื้นที่ข้างเคียงปลูกยางพาราแปลงใหญ่กว่า 3,000 ไร่ และฉีดยาฆ่าหญ้าในไร่ยางพาราด้วย เป็นต้น

เรื่องข้าวหายที่โรงสีในพิจิตร ตามสภาพถุงและกระสอบเปิดเผยในหน้าหนังสือพิมพ์ มันต้องมีสิ่งปลอมปนที่เห็นด้วยตา เช่น รา และเป็นพิษระดับไมโคเซลล์แน่ๆ ใครรับประกันได้ว่าข้าวเปลือกตรงนี้จะไม่ถูก “จับใส่ตะกร้าล้างน้ำ” บรรจุถุงออกมาขายหรือกำนัลแก่ใคร

ยังมีอีก ยังมีอีก ล่าสุดพบว่านอกจากเรื่องเร่งปลูก เร่งปุ๋ยเคมี เร่งโต เร่งเก็บเกี่ยว แล้ว ชาวนาในภาคเหนือตอนบน เชียงราย พะเยา ได้เร่งรื้อยุ้งฉางขายเป็นไม้เก่า เพราะรีบเร่งจำนำทุกเมล็ดข้าวเปลือกเอาเม็ดเงินราคาตอนนี้ ไม่เอาแล้วเรื่องอาหารมั่นคงเก็บไว้ใกล้ครัวเรือน

อนิจจัง อนิจจา รื้อแล้วจะมีปัญญาสร้างยุ้งฉางได้ใหม่เหมือนที่นักการเมืองมาสร้างง่ายๆ จ่อถึงในหมู่บ้านละหรือ