เขื่อนในมุมมองอสังหาริมทรัพย์

เขื่อนในมุมมองอสังหาริมทรัพย์

มีบางคนเห็นผมแสดงความเห็นต่างจากเหล่า NGOs ที่ค้านเขื่อนแม่วงก์ จึงเสนอให้ผมไปประเมินมูลค่าเขื่อนแม่วงก์ที่กำลังดังอยู่ในขณะนี้

ผมก็อยากช่วยชาติเหมือนกัน แต่การประเมินนี้ต้องใช้เงินมหาศาล อยู่ดีๆ จะให้ตัวเลขส่งเดชคงไม่ได้ เราจึงลองมาดูเขื่อนในต่างประเทศเพื่อสะท้อนมองไทยบ้าง

ท่านทราบไหม เขื่อนฮูเวอร์นั้นจะมีอายุขัยกี่ปี ขอบอกใบให้ว่าปกติบ้านคอนกรีตเสริมเหล็กหลังหนึ่ง มีอายุขัยทางเศรษฐกิจ 50 ปี แต่อายุทางกายภาพอยู่ได้เป็นร้อยปี ยิ่งถ้าเป็นอาคารที่ก่อสร้างด้วยหินเป็นแท่งๆ อย่างในยุโรปด้วยแล้ว อยู่มา 200-300 ปียังนับว่าสบายๆ อาจต้องเปลี่ยนพื้นไม้ และรื้อทิ้งงานสถาปัตยกรรมบางส่วนและงานระบบทั้งหมดออกเป็นระยะๆ

สำหรับเขื่อนฮูเวอร์นั้นอายุทางกายภาพอยู่ได้ตลอดชั่วกัลปาวสาน! เพราะก่อสร้างแข็งแรงพอๆ กับหินหุบเขา (Canyon) ที่ตั้งอยู่โดยรอบ {1} สำหรับอายุการใช้งานก็คาดการณ์ว่าจะใช้ได้อีกนานเท่านานเช่นกัน อย่างไรก็ตามเขื่อนต่างๆ ก็มีอายุขัยทางเศรษฐกิจ อย่างบางเขื่อนมีอายุราว 100 ปีก็ทุบทิ้งไป เช่น เขื่อนเอลวา (Elwha) อย่างไรก็ตามพวกนักต้านเขื่อนก็อ้างว่าเขื่อนมีอายุเพียง 50 ปี {3} ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้เพราะขนาดบ้านยังมีอายุอยู่ได้นับร้อยปี

สมมติให้ค่าก่อสร้างเขื่อนเอลวาเป็นเงิน 100 และเมื่อสร้างเสร็จ มีรายได้สุทธิต่อปีเป็น 8% ของราคาเขื่อนตอนแรก โดยไม่มีการเพิ่มขึ้นของรายได้สุทธิเลย (แต่ในความเป็นจริงควรมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น) และให้คิดย้อนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ ณ อัตราเงินเฟ้อที่ 4% โดยประมาณ จะพบว่าเขื่อนนั้นๆ จะคุ้มทุนในปีที่ 18 ถ้าแต่ละช่วงของเวลามีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ก็จะยิ่งสร้างมูลค่าอีกมหาศาล อย่างไรก็ตามเมื่อครบกำหนด 100 ปีแล้ว เขื่อนนี้ก็ถูกรื้อถอนไป ส่วนหนึ่งก็เพื่อคืนสภาพแวดล้อมเดิมให้กับท้องถิ่น แต่เหตุผลสำคัญก็คือความไม่คุ้มที่จะปรับปรุงต่อไป

ยกตัวอย่าง อสังหาริมทรัพย์ใกล้ตัวในไทยก็เช่น ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ประมาณการว่าสร้างในปี พ.ศ.2521 ด้วยเงินเพียง 1,000 ล้านบาทสำหรับสิทธิการเช่า 30 ปี แต่เมื่อครบ 30 ปีแล้ว ต่อมา ปี พ.ศ.2554 การรถไฟฯ ยังสามารถให้ศูนย์การค้าแห่งนี้เช่าต่อไปอีก 20 ปี เป็นเงินปัจจุบันอีกราว 21,300 ล้านบาท {4} ทั้งๆ ที่ เงิน 1,000 ล้าน ณ ปี พ.ศ.2521 จะเพิ่มค่าเป็น 12,676 ล้านบาท หากคิดจากรายได้สุทธิ 8% ต่อปีเป็นเวลา 33 ปี ฉันใดก็ฉันนั้น กรณีของเขื่อนที่สร้างรายได้และทำคุณมานับร้อยปี ย่อมเกินความคุ้มค่าไปมากมายแล้ว

ปกติแล้วเขื่อนมีไว้เพื่อการชลประทาน แต่อีกการหน้าที่หนึ่งก็คือ การผลิตไฟฟ้า จากตารางที่แสดงจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำได้ถึง 10.9% ซึ่งถือว่าสูง โดยแต่เดิมคงสูงกว่านี้ แต่ด้วยความต้องการไฟฟ้ามากขึ้น จึงผลิตจากน้ำมันมากเป็นพิเศษถึง 88.9% อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันนั้นเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และสูญเสียเงินมาก หากเปรียบเทียบจะได้ความดังนี้

1. จีนไฟฟ้าจากแก๊สและน้ำมัน ในสัดส่วนที่น้อยกว่าไทย คือเพียง 69.55 แต่จีนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าได้ถึง 21.8%

2. สหรัฐอเมริกาใช้พลังงานจากน้ำมันและแก๊สมากเพราะมีปริมาณสำรองสูงมาก แต่ก็ใช้พลังงานจากนิวเคลียร์ถึง 10.1% ซึ่งไทยไม่มีนิวเคลียร์

3. ฝรั่งเศสใช้พลังงานจากนิวเคลียร์สูงมาก โดยฝรั่งเศสสูงถึง 55% และยังได้พลังงานจากเขื่อนถึง 18.3%

4. เยอรมนีซึ่งรวยกว่าแต่ก็ใช้น้ำมันน้อยกว่าไทย แต่มีพลังงานนิวเคลียร์ถึง 24.5%

5. ประเทศที่จะมีประชากรเบาบางกว่า เช่น นอร์เวย์และลาว ใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนแทบทั้งหมด ลาวจึงสร้างเขื่อนได้มาก นี่ถ้าลาวมี NGOs ค้านเขื่อนเสียงดังเช่นไทย ก็อาจไม่มีพลังงานใช้

6. มาเลเซียซึ่งคล้ายแต่เจริญกว่าไทย ใช้แก๊สและน้ำมันที่ 91.7% เป็นแหล่งพลังงาน แต่ประเทศนี้รวยกว่าไทย และมีน้ำมันและแก๊สมากมาโดยตลอด จึงไม่มีปัญหา

ด้วยเหตุนี้ เขื่อนจึงมีความจำเป็นด้านความมั่นคงของพลังงาน นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นด้านการชลประทาน การป้องกันน้ำท่วม และการระบายน้ำไล่น้ำเค็ม ฯลฯ ผลพลอยได้จากเขื่อนยังมีผลต่อการท่องเที่ยว การขยายพันธุ์ของพืชและสัตว์ การเพิ่มขึ้นและเพิ่มความหนาแน่นของป่าไม้เพราะการมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างย่อมมีทั้งคุณและโทษ จะให้ดีหมดจดย่อมไม่ได้ คณะกรรมการชลประทานและระบายน้ำนานาชาติ (International Commission on Irrigation and Drainage) จึงได้กำหนดรายการตรวจสอบหรือ Check List เพื่อประเมินความคุ้มค่าของเขื่อน 8 ด้านได้แก่ ด้านการผลิตไฟฟ้า การสร้างมลภาวะ ดิน การตกตะกอน นิเวศวิทยา สังคมและเศรษฐกิจ สุขภาวะ และการเสียสมดุล รวมทั้งหมด 53 รายการย่อย {5}

ประเด็นหนึ่งที่ยากจะประเมินก็คือ ความสูญเสียทางรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการย้ายถิ่นฐาน เช่น กรณีเขื่อน Myitsone ในเมียนมาร์ที่ต้องย้ายอาคารทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย แต่หากมองในระยะยาว กรณีก็พอจะหาคำตอบได้ เช่น กรณีวัด ต้นไม้ขนาดใหญ่และชุมชนเก่า โผล่พ้นน้ำจากการที่เขื่อนสิริกิติ์น้ำลดลงต่ำสุดในระยะ 45 ปี {7} จะเห็นได้ว่าแม้ชุมชนย้ายไปแล้ว ก็สามารถสืบทอดรากเหง้าทางวัฒนธรรมในสถานที่ใหม่ได้ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือที่บ้านกะทูน ซึ่งซุงและโคลนไหลถล่มหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ.2531 บัดนี้ก็กลายเป็นท้องเขื่อนไปแล้ว เพราะสภาพไม่เหมาะสมที่จะอยู่อาศัย {8} การย้ายถิ่นฐานจึงอาจจำเป็น

การใดก็ตามที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์โดยรวม ก็ควรดำเนินการ แต่ทั้งนี้ต้องชั่งผลดี ผลเสียให้ดี เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์

อ้างอิง

{1} โปรดดู http://zidbits.com/2013/05/how-long-will-the-hoover-dam-last/

{2} โปรดดู http://en.wikipedia.org/wiki/Elwha_Dam

{3} โปรดดู http://web.mit.edu/12.000/www/m2012/finalwebsite/problem/dams.shtml

{4} ข่าว “ลุ้นสัญญาเช่าไม่โมฆะ เปิดเซ็นทรัลโฉมใหม่” หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,646 23-25 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ณ http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=72067:2011-06-22-02-35-46&catid=85:2009-02-08-11-22-45&Itemid=417

{5} โปรดดู http://www.icid.org/dam_pdf.pdf

{6} โปรดดู http://en.wikipedia.org/wiki/Myitsone_Dam

{7} ชาวบ้านก้มกราบ! หมู่บ้าน/วัด โผล่พ้นน้ำ หลังจมบาดาล กว่า 45 ปี www.youtube.com/watch?v=nQ6JmfyPEvM

{8} โปรดดู www.oknation.net/blog/Chaoying/2010/02/04/entry-1