คุณยิ่งลักษณ์กับปม ร่าง ก.ม. นิรโทษกรรม

คุณยิ่งลักษณ์กับปม ร่าง ก.ม. นิรโทษกรรม

ไม่ทราบเหมือนกันว่า อะไรทำให้ ส.ส. พรรคเพื่อไทยมี ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่แตกต่างกัน 2 ฉบับ ?

ฉบับแรกของคุณวรชัย เหมะ เป็นฉบับที่ไม่นิรโทษ “ผู้มีอำนาจสั่งการ” ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคำว่า “ผู้มีอำนาจสั่งการ” นี้ จะกินความแคบหรือกว้างแค่ไหน ? ฉบับของคุณวรชัยเป็นฉบับที่เรียกได้ว่า “ไปไม่สุดซอย” ส่วนอีกฉบับหนึ่งเป็นของคุณประยุทธ์ ศิริพานิชย์ เป็นฉบับที่นิรโทษแบบ “เหมาเข่ง-สุดซอย” คือ พ้นผิดกันหมดและเข้าใจว่าย้อนหลังไปถึงปี 2547 เลยทีเดียว ฉบับคุณวรชัยก็ใช่ธรรมดา เพราะคำว่า “ผู้มีอำนาจสั่งการ” อาจหมายความเพียง “ผู้มีอำนาจสั่งการตามกฎหมาย” ไม่รวมบรรดาแกนนำทุกสีทุกฝ่าย เพราะเมื่อเทียบแกนนำกับรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แกนนำการชุมนุมย่อมไม่มีอำนาจในการสั่งการเท่าผู้กุมอำนาจรัฐ แต่การตีความก็อาจตีความอย่างกว้างก็ได้ คือ รวมการสั่งการของแกนนำด้วย มิฉะนั้นแล้ว การชุมนุมในอนาคตอาจเกิดความเสียหายร้ายแรงได้อีก หากการสั่งการของแกนนำไม่ถือว่าเป็น “ผู้มีอำนาจในการสั่งการให้กระทำการณ์ที่ผิดกฎหมายเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง” เพราะผู้ก่อการร้ายทั่วโลกก็มักจะกล่าวอ้างจุดมุ่งหมายทางการเมืองเสมอ เช่นเดียวกับการนิรโทษแบบสุดซอย บ้านเมืองก็อาจจะเกิดเหตุแบบเดิมๆ ซ้ำๆ วนเวียนแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของนักการเมือง หรือการทำรัฐประหารก็ตาม

เห็นได้ว่า การนิรโทษแบบสุดซอย ผู้ที่จะได้รับประโยชน์คือคุณทักษิณ ชินวัตร คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ หรืออาจจะรวมถึงนายทหารทั้งระดับสูงและผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติการตามคำสั่ง แต่ผู้ที่จะเป็นฝ่ายเสียคือ ผู้ที่บาดเจ็บล้มตาย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทุกฝ่ายที่เข้าร่วมชุมนุมต่อสู้หรือเจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกสังหารโดยยังไม่ทราบว่าเป็นฝีมือใครฝ่ายไหน แต่น่าสังเกตว่า ฝ่ายคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพยืนยันไม่ยอมรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแบบนี้มาโดยตลอด ทั้งๆ ที่พวกเขาจะได้รับประโยชน์หลุดจากข้อกล่าวหาคดีความ

ดังนั้น ในขณะที่ขณะนี้เรายังไม่รู้ว่าแน่ชัดว่าใครผิดบ้างในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 แต่การที่จู่ๆ ฝ่ายเพื่อไทยเกิดจะพยายามเสนอนิรโทษแบบสุดซอยขึ้นมา ทำให้โน้มเอียงทางตรรกะเหตุผลที่จะคิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดตั้งแต่ปี 52-53 เป็นไปเพื่อจะทำให้เราทั้งสังคมมาถึงจุดนี้ นั่นคือ จุดที่ทำให้นิรโทษคุณทักษิณได้ ทำให้คิดไปได้อีกว่า ชายชุดดำมาจากใคร และมาเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร ? เพราะตอนแรกเพื่อไทยยืนยันที่จะเอาผิดกับคุณอภิสิทธิ์-คุณสุเทพให้ถึงที่สุด แต่มากลับลำตอนนี้เฉยๆ ??!!

อีกทั้งพี่น้องเสื้อแดงที่ผู้เขียนลงไปสัมภาษณ์ต่างก็ยืนยันตรงกันว่า ไม่เอานิรโทษกรรมแบบสุดซอย รวมทั้งไม่ต้องการนิรโทษคุณอภิสิทธิ์-สุเทพ แม้ว่าจะสามารถช่วยคุณทักษิณให้พ้นผิดได้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ถ้ากระแสต่อต้านนิรโทษสุดซอยมาแรง มันก็จะทำให้มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้นายกรัฐมนตรียุบสภา หากมีความขัดแย้งกันในสภา โดยเฉพาะการขัดแย้งกันเองในฝ่ายเสียงข้างมากซึ่งเป็นเสียงที่ทำให้คุณยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น หากหาข้อยุติไม่ได้ ก็แปลว่า เสียงข้างมากไม่ได้มากเหมือนเดิม ส่งผลต่อสถานะความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการได้รับฉันทานุมติจากเสียงข้างมากในสภาที่สะท้อนเสียงข้างมากของผลการเลือกตั้งของประชาชน นายกรัฐมนตรีจึงควรยุบสภาเพื่อกลับไปให้ประชาชนตัดสิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อที่จะตัดสินว่า การนิรโทษแบบไหนกันแน่ ที่ควรจะเป็นการนิรโทษที่พรรคเพื่อไทยควรจะผลักดัน

หรือหากนายกรัฐมนตรีไม่ต้องการยุบสภา นายกรัฐมนตรีในฐานะที่ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากเสียงข้างมากในสภา สามารถใช้ความไว้วางใจนี้สยบปัญหาดังกล่าวนี้ในฝ่ายเสียงข้างมากในสภาได้ โดยการยืนยันว่า ตนต้องการนิรโทษแบบไหน แต่จะมาบอกว่าเป็นเรื่องของสภาอีกต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะเมื่อเสียงข้างมากในสภามีปัญหา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ที่มีอิทธิพลบารมีต่อเสียงข้างมากในสภาจะต้องเข้ามามีบทบาทในการแก้ไข โดยการเลือกเข้าข้างคุณวรชัยหรือคุณประยุทธ์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และหากอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับ นายกรัฐมนตรีก็สามารถขู่ว่าจะยุบสภาหรือยุบสภาไปเลยก็ได้ เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับ ก็แปลว่า นายกรัฐมนตรีสูญเสียเสียงจำนวนหนึ่งในเสียงข้างมากในสภาไปแล้ว

แต่ถ้าเสียงข้างมากของเพื่อไทยไม่แตกกัน นั่นคือ ตกลงกันได้ว่าจะสุดซอย ปัญหาก็คงจะไม่อยู่ในสภาเท่ากับกระแสประท้วงนอกสภา ซึ่งถ้ากระแสไม่แรง ร่าง ก.ม. นิรโทษฉบับสุดซอยนี้ก็จะเดินหน้าสุดซอย ซึ่งอาจจะไปตกอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญอีก พร้อมๆ กับร่าง ก.ม. สำคัญอีกหลายฉบับที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องแบกภาระอันหนักหน่วงในการตัดสิน และก็ย่อมตกเป็นเป้าหมายของพี่น้องเสื้อแดงที่อยู่ภายใต้กรอบคิดที่มององค์กรอิสระว่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายอำมาตย์ และหากมีการเข็นคนออกมาชุมนุมกดดันหน้าศาล ก็เชื่อได้ว่า จะต้องมีอีกกลุ่มหนึ่งออกมาเช่นกัน

หรือไม่นายกรัฐมนตรีก็จะต้องขอให้ทุกฝ่ายชะลอการพิจารณาร่าง ก.ม. นิรโทษกรรมไปก่อน เพราะหากเดินหน้าต่อไป อาจจะนำมาซึ่งเสียงแตกในเสียงข้างมาก หรือหากเสียงไม่แตก แต่ประชาชนต่อต้านกันมากจนส่งผลกระทบต่อการบริหารบ้านเมืองของนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีก็อาจจะเลือกที่จะให้ชะลอแทนการยุบสภา โดยให้รอไปจนกว่าจะสามารถสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจตรงกับเสียงข้างมากในสภา หรือรอไปจนรัฐบาลทำงานจนครบวาระแล้วก็ยุบสภาตามกติกา แล้วค่อยนำประเด็นดังกล่าวนี้ไปถามประชาชนว่าจะนิรโทษหรือไม่ อย่างไร ? หรือยังอยากได้นายกรัฐมนตรีชื่อยิ่งลักษณ์อีกสมัยหรือไม่ ?