วิชาที่ฮิตที่สุดในฮาร์วาร์ด

วิชาที่ฮิตที่สุดในฮาร์วาร์ด

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และปรัชญาจีนโบราณ สามอย่างนี้มีอะไรเหมือนกัน?

คำตอบก็คือ นี่เป็นชื่อของสามวิชาที่มีจำนวนนิสิตลงทะเบียนเรียนมากที่สุดในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งเปิดโอกาสให้นิสิตสามารถเลือกลงวิชาอะไรก็ได้ตามใจชอบด้วยปรัชญาการศึกษาที่ไม่ต้องการผลิต “วัตถุดิบ” ป้อนตลาดแรงงาน แต่ต้องการผลิต “ปัญญาชน” ที่แสวงหาความรู้ด้วยความกระหายวิชาอย่างแท้จริง

แต่โลกทุกวันนี้ แม้กระทั่งที่ฮาร์วาร์ดเอง ผู้คนต่างแปรรูปเป็นเสมือน “วัตถุดิบ” หรือ “สินค้า” ในตลาดเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่คือ “ความเป็นสมัยใหม่” “ความมีเหตุมีผลในการคิดวิเคราะห์” ตามที่คนสมัยใหม่ภาคภูมิใจสาเหตุที่วิชาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น และวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มีคนลงเรียนเป็นจำนวนมาก ก็เพราะเป็นวิชาที่ทำเงินได้มากที่สุด ตอบสนองตลาดแรงงานมากที่สุด นิสิตในฐานะสัตว์เศรษฐกิจที่มีเหตุผล ก็ต้องบวกลบคูณหาร แล้วตัดสินใจไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด

ก็แล้ว “วิชาปรัชญาจีนโบราณ” ดันสร้างกระแสฮอตฮิตในหมู่ “สัตว์เศรษฐกิจ” ได้อย่างไร? เทอมนี้เทอมเดียวมีนิสิตลงทะเบียนเรียนวิชานี้มากกว่า 700 คน!! จนต้องเปิดหอประชุมมหาวิทยาลัยเป็นห้องเรียน เรียกว่ามาแรงแซงหน้าสถิติความฮิตของวิชา “ความยุติธรรม” ของ Professor Michael Sandel (ซึ่งเพิ่งมาบรรยายในประเทศไทยเมื่อไม่นานนี้) ในขณะที่วิชา “ความยุติธรรม” สอนปรัชญาตะวันตกอันเป็นพื้นฐานความคิดของ “โลกสมัยใหม่” วิชาปรัชญาจีนโบราณกลับเสนอแนวความคิดของสังคมอีกซีกโลกหนึ่งเมื่อ 4,000 ปีก่อน ที่ใครต่อใครคิดว่า “หมดยุค” ไปแล้ว

แม้กระทั่งในเมืองจีนเองก็ยังไม่ค่อยมีปรัชญาจีนเหลือมากสักเท่าไร ปัจจุบัน นิสิตในมหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน ต้องเรียนและอ่านหนังสือ “ความยุติธรรม” ของ Professor Sandel ในฐานะวิชาบังคับ (ใช้ชื่อวิชาว่าทักษะการคิดวิเคราะห์ทางศีลธรรม มีอาจารย์ชาวจีนสอนศีลธรรมตะวันตก) แต่ ณ อีกซีกโลกหนึ่งในวันเดียวกัน นิสิตฮาร์วาร์ดกลับกำลังนั่งอ่านบทสนทนาโบราณระหว่างขงจื๊อและลูกศิษย์ รวมทั้งเรื่องราวของเมิ่งจื๊อ สวินจื๊อ เล่าจื๊อ จวงจื๊อ และหานเฟยจื๊อ

Professor Michael Puett เจ้าของวิชาผู้เชี่ยวชาญปรัชญาจีนโบราณ เป็นอาจารย์ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ขงจื๊อ” แห่งยุคสมัยใหม่ วาทะเด็ดของขงจื๊อยุคโบราณก็คือ “จงอ่านของเก่า เพื่อพบสิ่งใหม่” วาทะเด็ดของ Professor Puett ก็คล้ายๆ กัน ท่านบอกว่า บางที “new idea” ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาของโลกสมัยใหม่ อาจจะมาจาก “old idea” ในอีกโลกหนึ่งที่เราไม่คุ้นเคยเลยก็ได้

Professor Puett ไม่ได้เอาตำราขงจื๊อมายืนอ่านให้นิสิตฟัง แต่เขาชักชวนให้ทุกคน “อ่านของเก่าเพื่อพบสิ่งใหม่” เขากระตุ้นให้นิสิตคิดทบทวนความเชื่อแบบคนสมัยใหม่ทั้งในระดับโลกและระดับส่วนตัว

ในระดับโลก Professor Puett ชี้ให้เห็นว่าความคิดตะวันตกซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีเหตุผล (rational actor) นั้นคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงขณะที่ปรัชญาจีนโบราณเชื่อว่า ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความประณีตและละเอียดอ่อนทางอารมณ์และพฤติกรรม

เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกตั้งอยู่บนพื้นฐานของสมมติฐานที่ผิดพลาด คนตะวันตกจึงทึกทักไปเองว่า ประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี เป็นคำตอบสุดท้ายที่ถูกต้องในตัวของมันเอง โดยไม่มีจุดอ่อนให้ต้องปรับปรุงแก้ไข

Professor Puett เล่าบรรดานิทานของปราชญ์จีนโบราณ พวกเขาเหล่านั้นให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ด้วยประสบการณ์จริง ซึ่งตรงกับกระแสความคิดใหม่ๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในวงวิชาการตะวันตก ดังที่ในปัจจุบัน ในวงเศรษฐศาสตร์ เริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ที่ตั้งคำถามต่อสมมติฐานว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีเหตุผล (จะมีเหตุผลได้อย่างไร เมื่อตลาดเสรีสุดโต่งทำเศรษฐกิจล่มไม่เป็นท่า) ในวงรัฐศาสตร์ จึงเกิดรัฐศาสตร์ทดลองเพื่อดูว่าทฤษฎีใช้ได้จริงหรือไม่ในสังคม (ทำไมประชาธิปไตย ที่ประชาชนควรเป็นใหญ่ จึงกลายเป็น “ธนบัตร” เป็นใหญ่ในเกือบทุกประเทศ) ในวงการนิติศาสตร์ จึงเกิดแนวคิดสังคมวิทยากฎหมาย ด้วยความเข้าใจว่ากฎหมายไม่ใช่ตัวบทเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงพฤติกรรมการปฏิบัติที่แท้จริงของคนในสังคมด้วย (ทำไมรัฐธรรมนูญฉบับที่แย่งกันร่างแย่งกันแก้ไข ถึงเป็นคนละเรื่องกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม)

Professor Puett เอง นอกจากสอนวิชาปรัชญาจีนโบราณแล้ว ท่านยังเป็นผู้สอนร่วมในวิชานิติปรัชญาแนววิพากษ์ ร่วมกับ Professor Roberto Unger ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่อช่วยเปิดมุมมองใหม่ (ที่เก่า 4,000 ปี) ให้กับนักเรียนกฎหมายด้วย

ในระดับส่วนตัว Professor Puett สอนให้นิสิตเลิกคิดแบบบวกลบคูณหาร เลิกคิดว่าตัวเองเป็นเพียง “วัตถุดิบ” หรือ “สินค้า” ในตลาดเศรษฐกิจ เลิกคิดแบบมี “เหตุผล” อย่างคนสมัยใหม่ เลิกคิดว่าจะต้องทำงานอะไรจึงจะได้เงินเดือนเยอะที่สุด เรียนวิชาอะไรจะทำเงินได้เยอะที่สุด จะวางแผนอย่างไรตั้งแต่ตอนนี้เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ต้องการในอีกยี่สิบปีข้างหน้า ฯลฯ ในเมื่อจวงจื๊อบอกว่า ใครจะไปรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นพรุ่งนี้หรือในอีกยี่สิบปี เราไปกำหนดตัวเอง ไปผูกมัดตัวเองเพื่ออะไรกัน

ปรัชญาจีนเตือนสติเราสามข้อ ซึ่งตรงข้ามกับวิธีคิดแบบบวกลบคูณหารของตะวันตก

ข้อแรก คือ สอนให้เรา “เปิดใจ” รับโอกาสใหม่ๆ ที่เข้ามาทุกขณะ ไม่จำเป็นต้องวางแผนระยะยาว ไม่จำเป็นต้องบวกลบคูณหารคุ้มทุนหรือขาดทุนเมื่อเราเปิดใจให้กว้าง เราอาจพบโอกาสหลายอย่างที่เราไม่ทันคาดคิดเราอาจรู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเราชอบอะไร รู้สึกสดชื่นมีพลังเมื่อทำอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราคอยสังเกตตัวเอง

ข้อสอง คือ เราทุกคนสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ เราเกิดมาพร้อมพรสวรรค์บางอย่างก็จริง แต่เราอาจไม่ได้รู้สึกมีความสุขแค่ตรงนั้น เราอาจรู้สึกสดชื่นเปี่ยมพลังเมื่อได้ลองทำอะไรใหม่ๆ เพียงแต่เราต้องให้โอกาสตัวเอง และคอยสังเกตว่าเรารู้สึกอย่างไรเมื่อใด เราไม่จำเป็นต้องเดินตามเส้นทางบางเส้นเพียงเพราะมันดูมี “เหตุผล” (เช่น จบฮาร์วาร์ดต้องทำวอลล์สตรีท) เราควรเลือกสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสดชื่นเปี่ยมพลัง และถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดูสมเหตุสมผลที่สุดกับความสามารถเดิมที่เรามี ก็ไม่เป็นไร ค่อยๆ เริ่มฝึกฝนพัฒนาตนเอง เพราะการฝึกฝนพัฒนาตนเองนี่แหละที่เป็นแก่นคำสอนของขงจื๊อและเมิ่งจื๊อ

ข้อสาม คือ ทุกๆ การกระทำส่งผลต่อความรู้สึกของตัวเราและคนรอบข้าง เพราะฉะนั้นปราชญ์จีนจึงสอนให้มีสติและกระทำทุกขณะด้วยความเมตตา เพียงเรายิ้ม เราก็จะมีความสุขขึ้นในทันที และเมื่อคนอื่นเห็นรอยยิ้มของเรา เขาเองก็มีความสุขขึ้นในทันทีเช่นเดียวกัน

วิชานี้ จึงไม่ได้เน้นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 4,000 ปี ที่แล้วในประเทศจีน เท่ากับเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกๆ วัน พร้อมกับเสนอวิธีคิดเก่าๆ อีกแบบหนึ่ง ซึ่งอาจช่วยให้ชีวิตของคนสมัยใหม่ดีขึ้นกว่าเดิม