ปฏิรูปจริงๆ ที่ต่างจากละครการเมือง ควรจะเป็นอย่างไร

ปฏิรูปจริงๆ ที่ต่างจากละครการเมือง ควรจะเป็นอย่างไร

ข้อเสนอแนะในเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ชุดคุณอานันท์ ปัณยารชุน และอาจารย์ประเวศ วะสี

ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า รัฐบาลควรเป็นผู้ลงมือทำ ซึ่งถ้ามองสภาพความเป็นจริงทางการเมืองไทย พรรคใหญ่ 2 พรรค ที่ผลัดกันมาเป็นรัฐบาล ต่างไม่มีความคิด สติปัญญา ความตั้งใจที่จะปฏิรูปประเทศไทยอย่างจริงจังด้วยกันทั้งคู่ สภาปฏิรูปอันใหม่ที่รัฐบาลเพื่อไทยตั้งขึ้นมาก็เป็นเพียงการหาเสียง สร้างภาพลักษณ์ และกลายเป็นเพียงเวทีสัมมนาเวทีหนึ่งเท่านั้น

การปฏิรูป หมายถึง ต้องเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม และยั่งยืนเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงต้องหาทางจัดองค์กรการบริหารประเทศแบบใหม่ที่จะทำให้มีการคัดสรรคนที่มีความรู้ความสามารถ มีจิตสำนึกเพื่อสังคมจากทุกวงการมาช่วยบริหารจัดการประเทศใหม่ แทนวิธีการเดิม ที่ได้คณะรัฐมนตรีมาจาก สส. คนที่มีอำนาจต่อรองในพรรค ไม่ได้คัดคนเก่ง ดี เหมาะสม เหมือนในประเทศอื่น เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจน ขาดความรู้ข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ นิยมเลือกนักการเมืองประเภทที่พวกเขาคิดว่าช่วยเหลือพวกเขาโดยตรงในระยะสั้นแบบผู้อุปถัมภ์มากกว่าที่จะเลือกคนดีมีความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศ การที่ประชาชนยังมีคุณภาพต่ำ ทำให้เราได้รัฐบาล และ ส.ส. ที่มีคุณภาพต่ำตามไปด้วย

การจะทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศ (เปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ด้านระบบโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง) ได้จริง ต้องกล้าคิดแบบนอกกรอบ ด้วยการลดอำนาจนักการเมืองรัฐบาลกลางลงมา และกระจายอำนาจ งบประมาณให้ท้องถิ่น ภาคสังคมประชาและภาคธุรกิจเอกชน และองค์กรกึ่งรัฐที่เป็นอิสระ ให้เข้าไปมีบทบาทบริหารจัดการชุมชน องค์กร งานต่างๆ ได้อย่างมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของภาคประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างของรัฐบาลท้องถิ่นหลายจังหวัดในเวียดนามที่ตัดสินใจระงับการสร้างเขื่อนราว 13 แห่งได้สะท้อนว่าการมีรัฐบาลท้องถิ่นที่เข้มแข็งและดูแลทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของประชาชน เป็นตัวอย่างที่ดี การกระจายอำนาจไปสู่รัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มขึ้น แก้ปัญหาและพัฒนาประเทศได้ดีกว่าการมีรัฐบาลกลางรวมศูนย์อำนาจมากไป แม้ปัจจุบันผู้บริหารท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังเป็นนักการเมืองแบบซื้อเสียงและเจ้าพ่ออุปถัมภ์อยู่ แต่อย่างน้อยประชาชนในท้องถิ่นจะเห็นผลงานนักบริหารท้องถิ่นได้ใกล้ชิดกว่า มีโอกาสได้เรียนรู้ ตรวจสอบ และพัฒนาองค์การปกครองท้องถิ่นได้ดีกว่า นักการเมืองระดับชาติที่อยู่ห่างไกลออกไป รวมทั้งทุจริตฉ้อฉลระดับใหญ่มาก สิ่งที่ควรทำคือการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น เช่น ลดอำนาจมหาดไทย ตำรวจ กระทรวงศึกษาและข้าราชการส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ลดลง ส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความรู้ ข้อมูลข่าวสาร การจัดตั้งองค์กรที่จะตรวจสอบฝ่ายบริหารท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

การปฏิรูปการศึกษาในประเทศอื่นที่ประสบความสำเร็จมากกว่าไทย ใช้วิธีลดอำนาจส่วนกลาง กระจายอำนาจการบริหารจัดการและงบประมาณไปสู่ท้องถิ่นหรือไปที่ตัวสถาบันการศึกษาโดยตรงของไทยเอง การสาธารณสุขก็มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการและงบประมาณไปที่โรงพยาบาลจังหวัดต่างๆ ได้ดีกว่างานของทุกกระทรวง มีการจัดตั้งองค์กรกึ่งรัฐที่มีภาคสังคมประชาเข้ามามีส่วนร่วมที่ทำให้การทำงานในเรื่องสุขภาวะคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบราชการรวมศูนย์ และทำให้นักการเมืองครอบงำ แทรกแซงองค์กรเหล่านี้ได้ยากด้วย ถ้าใช้แนวทางการปฏิรูปแบบกระจายอำนาจของกระทรวงสาธารณสุขเป็นโมเดลในการปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตร และอื่นๆ เราจะปฏิรูประบบการบริหารราชการทั่วทั้งประเทศได้ดีขึ้น

การที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ ทั้งๆ ที่เรามีรัฐบาลที่ไม่เก่งและไม่สุจริตโปร่งใส เพราะนักธุรกิจและนักบริหารมืออาชีพในธุรกิจเอกชนที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการค่อนข้างดีกว่าพวกนักการเมืองและข้าราชการประจำ เราน่าจะหาทางส่งเสริมให้คนเหล่านี้เข้ามามีส่วนช่วยแก้ปัญหาและการบริหารบ้านเมืองเพิ่มขึ้น สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาคือ คนที่เป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นกิจการสนใจแต่หากำไรของนักธุรกิจของตนมากเกินไป ขณะที่นักบริหารมืออาชีพก็ได้เงินเดือนสูง มีสภาพการทำงานที่น่าพอใจมากกว่าที่จะสนใจไปทำอาชีพการเมืองหรือข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทางออกของประเทศคือ ต้องปฏิรูประบบการเมืองและราชการทำให้ระบบบริหารการเมืองและภาครัฐเปิดกว้าง ยืดหยุ่น ให้ค่าตอบแทนผู้บริหารมืออาชีพสูงขึ้น ผู้บริหารสามารถทำอะไรได้อย่างเป็นอิสระ รับผิดชอบด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น จะดึงดูดให้คนมีฝีมือเข้ามาช่วยบริหารภาครัฐและองค์กรกึ่งรัฐเพิ่มขึ้น

ในแง่ขององค์กร สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภานายธนาคาร ควรสร้างหน่วยวิจัย หน่วยวิชาการรวมทั้งสถาบันการศึกษาอบรมของตนเอง เพื่อมีส่วนร่วม ผลักดัน พัฒนาประเทศได้อย่างมีหลักวิชาการเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องนโยบายจำนำข้าว ที่นักเศรษฐศาสตร์ทุกสำนัก ทุกกลุ่มล้วนเห็นว่าผิดพลาด เสียหายร้ายแรง นักธุรกิจที่เป็นผู้นำกลุ่มต่างๆ ควรช่วยกันเคลื่อนไหวผลักดันเสนอแนะทางเลือกที่ดีกว่านโยบายที่รัฐจำนำข้าวและนโยบายอื่นๆ รัฐบาลทำอยู่ รวมทั้งควรช่วยพัฒนาการศึกษา ดูแลให้นักเรียน นักศึกษา เข้ามาฝึกงานในธุรกิจต่างๆ อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นการจัดองค์กรรูปแบบหนึ่งที่ช่วยตรวจสอบ ถ่วงดุลคานอำนาจนักการเมืองและข้าราชการประจำ เพื่อประโยชน์ของส่วน โดยหลักการแล้วช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย แต่ในทางปฏิบัติการเมืองคนเข้าไปทำงานองค์กรอิสระยังมีข้อจำกัดคือ 1. การเลือกตั้งขึ้นอยู่กับพวกผู้พิพากษาและนักการเมือง คนบางคนอาจจะเป็นฝักฝ่ายหรืออาจถูกฝ่ายนักการเมืองแทรกแซง ซื้อตัว ลอบบี้ได้ 2. คนที่เข้าไปมักเป็นข้าราชการเก่า ผู้พิพากษาเก่าที่ค่อนข้างจารีตนิยม ตีความตามตัวอักษร มีความรู้ความเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง ในระดับมหภาคน้อย องค์กรอิสระยังเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับประเทศไทยที่นักการเมืองมีอำนาจมากเกินไป ประชาชนอ่อนแอเกินไป เราต้องช่วยกันวิเคราะห์ทั้งจุดแข็งจุดอ่อนขององค์กรอิสระที่ผ่านมา และหาทางกำจัดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งขององค์กรอิสระเพื่อช่วยให้องค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น

สรุปคือ การจะปฏิรูปประเทศได้ ต้องออกนอกกรอบ ด้วยการลดอำนาจส่วนกลาง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สู่ผู้ปฏิบัติงานและภาคสังคมประชาในระดับพื้นที่ เปิดช่องทางให้ผู้บริหารภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาร่วมการบริหารจัดการภาคสาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น และปฏิรูปเศรษฐกิจการเมือง การศึกษา ให้ประชาชนมีรายได้และการศึกษา เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ รู้จักการจัดตั้งองค์การภาคประชาชนเพิ่มขึ้น

(หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของผมชื่อ ธรรมบท หนทางหลุดพ้นจากบ่วงทุกข์ พุทธวจนะฉบับคัดสรร งานสรุปปรัชญาพุทธ ที่เข้าถึงแก่นและไพเราะกินใจมากที่สุด พิมพ์โดยสำนักแสงดาว www.seangdao.com)