มองอนาคต : การขับเคลื่อนประเทศไทยให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (1)

มองอนาคต : การขับเคลื่อนประเทศไทยให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (1)

ในบทความชุดที่แล้ว เราได้พูดถึงกับดักรายได้ปานกลางที่นักเศรษฐศาสตร์คิดว่าประเทศไทยเรากำลังติดอยู่

และเวลาที่จะก้าวพ้นกับดักและผงาดขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วขึ้นอยู่กับการปรับโครงสร้างพื้นฐานและการปฏิรูปนโยบายสาธารณะต่างๆ ในคราวนี้ เราจะมาดูกันว่าศักยภาพของปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาเป็นอย่างไร

จากการประเมินของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งเป็นการศึกษาที่ทำให้สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะพบว่ามิติทางด้านปริมาณ มีสามปัจจัยที่ไทยมีช่องว่างในการพัฒนาที่ค่อนข้างสูง ประกอบไปด้วย ระดับโครงสร้างพื้นฐานระดับการวิจัยและพัฒนา และการศึกษาส่วนมิติทางด้านคุณภาพ ไทยมีช่องว่างสูงในปัจจัยการเจริญเติบโตของประชากร คุณภาพของการศึกษา การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ และการเปิดประเทศ (ตารางที่ 1)

ลองมาดูศักยภาพของปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยทางด้านการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาของไทยโดยอาศัยการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างประเทศไทยกับประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (BRICS) และกับกลุ่มของประเทศที่พัฒนาแล้วตามลำดับ ผลการเปรียบเทียบพบว่าประเทศไทยมีระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เทียบเท่ากับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยเหตุนี้เอง ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยผลักดันประเทศไทยให้พัฒนามาได้จนถึงปัจจุบัน แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานก็ยังปัจจัยที่ประเทศไทยยังมีช่องว่างในการพัฒนาอยู่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นเรื่องจำเป็น ด้วยเหตุนี้นักเศรษฐศาสตร์จึงไม่ใคร่แอนตี้โครงการ 2.2 ล้านล้านบาท หากจะกังวลก็แต่เรื่องกระบวนการใช้เงินว่าทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เต็มเม็ดเต็มหน่วย

แต่เมื่อพิจารณาถึงในแง่มุมของคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานก็จะรู้สึกหนักใจอยู่โดยเฉพาะเมื่อ พิจารณาถึงคุณภาพของปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานโดยอาศัยดัชนีชี้วัด Corruption ของประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการใช้จ่ายของภาครัฐจะพบว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับการ Corruption อยู่ในอันดับที่ 80 ความไม่ไว้วางใจรัฐในโครงการนี้อยู่ที่ประเด็นคอร์รัปชันมากกว่า

สำหรับปัจจัยทางด้านการลงทุนวิจัยและพัฒนาพบว่าไทยมีการพัฒนาอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยเป็นประเทศที่สองในอาเซียนที่มีระดับการวิจัยและพัฒนาที่ต่ำที่สุด (ประเทศที่ต่ำที่สุดคือฟิลิปปินส์ซึ่งมีระดับการพัฒนาประเทศที่ด้อยกว่าไทยอยู่มาก) และมีช่องว่างที่กว้างมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยช่องว่างระหว่างประเทศไทยกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อยู่ที่ 8.29 เท่า ในปัจจุบันเราลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเพียงร้อยละ 0.2 ของจีดีพี นับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับมาเลเซีย

อีกปัจจัยที่สำคัญมากๆ ก็คือ การศึกษา เราควรต้องตอกย้ำอีกครั้งไหมถึงผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทยได้เริ่มลงทุนอย่างมหาศาลในด้านการศึกษามาระยะหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถยกระดับความสามารถของนักเรียน ครู และโรงเรียนได้ คุณภาพการศึกษาของไทยน่าเป็นห่วงและมีความไม่เท่าเทียมสูง จากข้อมูลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) (องค์กรมหาชน) โดยประเมินคุณภาพโรงเรียนประถม มัธยม ทั่วประเทศในรอบสอง (พ.ศ. 2549-2553) พบว่า ช่วง 3 ปีแรกที่ประเมิน (พ.ศ. 2549-2551) มีโรงเรียน ร้อยละ 20 ไม่ผ่านมาตรฐาน โดยโรงเรียนกว่า 4,000 แห่งมีมาตรฐานขั้นต่ำและส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ส่งผลถึงคุณภาพนักเรียนที่แตกต่างกันและโอกาสที่สามารถจะเรียนต่อแตกต่างกันดังกล่าวข้างต้นคุณภาพโรงเรียนที่เป็นปัญหาและไม่เท่าเทียมนี้ ยังรวมถึงคุณภาพครูที่รับรู้กันว่าเป็นปัญหา ส่งผลโดยตรงถึงคุณภาพนักเรียนที่น่าเป็นห่วงและไม่เท่าเทียมด้วย เห็นได้จากคะแนน PISA (Programme for International Student Assessment) ของเด็กไทย ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทักษะการอ่านที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมีแนวโน้มลดลง ล่าสุดการจัดลำดับของ World Economic Forum พบว่า ในด้านคุณภาพและโอกาสเข้าถึงการศึกษา เราตกจากอันดับที่ 82 เป็น 86 และในเรื่องคุณภาพการศึกษาวิทย์ คณิต ในโรงเรียนกลับหล่นตุ้บจากอันดับที่ 61 เป็นอันดับที่ 80 ทั้งๆ ที่รัฐได้ทุ่มทุนด้านงบประมาณให้การศึกษาใกล้เคียงประเทศพัฒนาแล้ว และแถมยังแจกแท็บเล็ตให้เด็กๆ กันอีกไม่ใช่แค่ระดับประถมและมัธยมศึกษาเท่านั้นที่น่าเป็นห่วง ระดับอุดมศึกษาก็เริ่มถดถอยลงเพราะมหาวิทยาลัยเร่งปั๊มปริญญาออกมาขายเพื่อสร้างรายได้

เมื่อรู้จุดอ่อนแล้ว การแก้ไขก็คงเป็นการกำจัดจุดอ่อนนั่นเอง ทำได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือรัฐบาลแล้ว

ดาวน์โหลดเอกสารฟรีเรื่อง อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้กับดักประเทศรายได้ปานกลาง ได้ที่ www.tuhpp.net