ความมั่นคงด้านพลังงานกับสัมปทานปิโตรเลียม (4)

ความมั่นคงด้านพลังงานกับสัมปทานปิโตรเลียม (4)

ผมได้พูดถึงเรื่องของสัมปทานปิโตรเลียมไปเมื่อตอนที่ผ่านมาว่าในประเทศไทยนั้นมีอยู่สองแบบคือสัมปทานภายใต้เงื่อนไขของ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ.2514

หรือที่เรียกว่า Thailand I และสัมปทานภายใต้เงื่อนไขของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 หรือที่เรียกว่า Thailand III โดยทั้งสองแบบนั้นรัฐก็ได้มีการพิจารณาถึงผลประโยชน์ต่อรัฐและต่อประชาชน รวมถึงแรงจูงใจต่อผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกัน โดย Thailand I นั้นอยู่ในช่วงที่เราเริ่มพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ขณะที่ Thailand III นั้นก็ได้มีการปรับปรุงจาก Thailand I ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการยืดหยุ่นสำหรับรัฐและผู้รับสัมปทานมากขึ้นและยังทำให้เกิดความต่อเนื่องของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อไปด้วย

คราวนี้อยากให้ท่านผู้อ่านลองนึกย้อนกลับไปว่าหากเราไม่มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ได้เลย ประเทศไทยเราจะเป็นอย่างไร การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยเรานั้นจะเป็นอย่างทุกวันนี้หรือไม่ ซึ่งอย่างที่ผมได้เคยพูดถึงไปแล้วว่าเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้นั้น ส่วนใหญ่ก็จะถูกนำไปผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้า หากเราไม่มีก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เองในประเทศ ลองนึกดูว่าที่ผ่านมาเราจะใช้เชื้อเพลิงอะไรในการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับกับเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การผลิตไฟฟ้าจากน้ำก็ไม่ต้องพูดถึง ต้องสร้างกันอีกเท่าไร ถึงจะพอ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ จะเป็นอย่างไร หรืออาจจะเป็นการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ทั้งในรูปของน้ำมันเตาหรือน้ำมันดีเซล ซึ่งก็มีราคาที่สูงและผันผวน และยังมีเรื่องของการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากการเผาไหม้น้ำมันเตาอีก ซึ่งก็จะมีผลทำให้เราในฐานะของผู้ใช้ไฟฟ้านั้นต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูง และก็ยังทำให้ต้นทุนของการผลิตในประเทศนั้นสูงขึ้นด้วย ขณะที่หากใช้ถ่านหินซึ่งถึงแม้ว่าจะราคาถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ แต่เรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นก็ยังเป็นที่กังวลในสังคมในวงกว้าง (ถึงแม้ว่ามีเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมากก็ตาม) หรือถ้าจะมองในแง่ที่แย่ที่สุดก็คือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมานั้นอาจจะต่ำกว่าที่เป็นมาก็ได้เนื่องจากการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ต้องหันไปพึ่งเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ที่มีต้นทุนที่สูงกว่าหรือมีอุปสรรคต่อการพัฒนามากกว่าตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น การที่เราสามารถพัฒนาปิโตรเลียม โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้เองได้นั้นจึงถือว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยเลยทีเดียว

ก๊าซธรรมชาตินั้นนอกจากจะนำไปเป็นเชื้อเพลิงแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของเรานั้นสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นจำนวนมหาศาล ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากคุณสมบัติของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เราเรียกกันว่าเป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) หรือก๊าซที่มีของเหลวเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้จะมีองค์ประกอบที่สามารถนำไปแยกออกเพื่อทำประโยชน์อย่างอื่นได้แทนที่จะถูกนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว ซึ่งในที่นี้ผมจะไม่ไปพูดในเชิงเทคนิคว่าก๊าซมีองค์ประกอบทางเคมีอย่างไร แต่จะขออธิบายง่ายๆ ว่าก๊าซธรรมชาติที่มาจากอ่าวไทยซึ่งเป็น Wet Gas นั้นจะถูกนำไปผ่านกระบวนการแยกก๊าซในโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อนำก๊าซในส่วนที่มีความชื้นสูงออกไป ส่วนที่ถูกนำความชื้นออกไปแล้วจะมีสถานะเป็นไอ หรือเป็นก๊าซแห้ง ซึ่งในที่นี้ก็คือก๊าซมีเทน ก็จะถูกนำไปใช้ในการเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิง แต่ส่วนที่มีสถานะเป็นของเหลวนั้นก็จะถูกแยกออกมาโดยจะมีตั้งแต่ก๊าซที่มีสถานะที่มีความเป็นของเหลวน้อยที่สุดก็คืออีเทน แล้วก็ไล่ขึ้นมาเป็นก๊าซโพรเพน ก๊าซบิวเทน ซึ่งสองตัวนี้เมื่อนำมาผสมกันแล้วก็จะเป็นก๊าซที่เราๆ ใช้กันอยู่ทุกวันคือก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือก๊าซ LPG นั่นเอง นอกจากนั้นก็ยังมี NGL อีกตัวหนึ่งที่เราสามารถแยกออกมาได้ในกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาตินี้

นอกจากเรื่องของการผลิตไฟฟ้าแล้ว หากเราไม่สามารถพัฒนาปิโตรเลียมของเราขึ้นมาได้ สิ่งที่จะขาดหายไปและจะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราในปัจจุบันอีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนสิ่งแรกนั้นก็คือก๊าซ LPG นั่นเอง โดยปัจจุบัน ประมาณร้อยละ 50 ของก๊าซ LPG ที่ใช้ในประเทศไทยนั้นมาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ อีกประมาณร้อยละ 25 ผลิตออกมาจากโรงกลั่นน้ำมันและอีกร้อยละ 25 มาจากการนำเข้า ทั้งนี้หากเราไม่ได้มีการพัฒนาปิโตรเลียมของเราขึ้นมาได้เอง ภาพของการใช้ก๊าซ LPG ในภาคต่างๆ อาจไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ ทั้งนี้เนื่องจากการที่มีก๊าซ LPG ที่ได้ผลิตได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันเพียงอย่างเดียว และการใช้ก๊าซ LPG ในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการผลิตของโรงกลั่น ก็จะต้องมาจากการนำเข้าเท่านั้น ความมั่นคงด้านพลังงานก็จะลดลง

ประโยชน์ที่ได้จากก๊าซธรรมชาติยังมีอีกมากมายซึ่งนอกเหนือจากที่ใช้ในภาคครัวเรือน ภาคการขนส่ง หรือแม้กระทั่งภาคอุตสาหกรรมที่เราได้รับทราบกัน โดยองค์ประกอบอื่นๆ ที่ผ่านกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติยังสามารถที่จะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งผลผลิตปลายทางที่ได้ก็คือของใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเรานั่นเอง เช่น วัสดุที่เป็นพลาสติกทั้งหลาย ถุงพลาสติก ภาชนะเมลามีน ขวดพีอีที (PET = polyethylene terephthalate) ที่ใช้บรรจุน้ำมันพืชและน้ำอัดลม ขวดเอชดีพีอีที่ใช้บรรจุน้ำดื่ม เส้นใยไนลอน แผ่นซีดี ส่วนประกอบของรถยนต์ ยางรถยนต์ ผ้าใบ กล่องฉนวนกันความร้อน ตู้โทรทัศน์และวิทยุ เสื้อโพลีเอสเตอร์ รวมไปถึงผงซักฟอก แชมพู น้ำยาขัดผิวโลหะ ปุ๋ย และกาว เป็นต้น ซึ่งผลผลิตที่ได้จากก๊าซธรรมชาติทั้งหลายเหล่านี้นั้นก็เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมเกือบทุกภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งจะเห็นว่าประโยชน์ที่ได้จากก๊าซธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาตินั้นก็นับเป็นการช่วยเศรษฐกิจของประเทศอย่างกว้างขวาง ทั้งในรูปของการจ้างงาน การพัฒนา และการสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมหาศาล

เมื่อเราได้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาปิโตรเลียมของประเทศไทยแล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือแล้วเราจะทำอย่างไรให้การพัฒนาปิโตรเลียมของเรานี้มีความต่อเนื่องและคงอยู่ได้ต่อไปในระยะยาว ดังจะเห็นได้จากก๊าซธรรมชาติของประเทศที่กำลังจะเริ่มลดลงเรื่อยทั้งจากปริมาณสำรองที่ลดลงรวมถึงสัญญาสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุลงภายในอีกไม่กี่ปี ดังนั้น หากเราไม่มีการดำเนินการเพื่อให้มีการพัฒนาปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องแล้วเช่นการขยายสัญญาสัมปทานที่ดูแล้วยังมีศักยภาพ หรือการเปิดสัมปทานรอบใหม่เพื่อให้การพัฒนาปิโตรเลียมเป็นไปอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็จะเกิดผลกระทบต่อการพัฒนาของประเทศในวงกว้างดังที่ได้กล่าวมาในตอนต้นครับ