รักษ์ป่า ไม่ใช่แค่ต้านเขื่อน.. เมื่อขบวนเดินเท้าถึงประตูน้ำพระอินทร์

รักษ์ป่า ไม่ใช่แค่ต้านเขื่อน.. เมื่อขบวนเดินเท้าถึงประตูน้ำพระอินทร์

ใครก็ตามที่เคยลงสนามต่อสู้เรื่องเขื่อนตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ด้วยชีวิตจริง ของชาวนา ชื่อ ทองปาน ผู้สูญเสียที่นาถึง 2 ครั้งจากการสร้างเขื่อนผามอง

กั้นน้ำโขง ชายแดนไทย-ลาว ก็อย่าได้น้อยอกน้อยใจไปเลย ที่ไม่ได้กระแสตอบรับแม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของขบวนเดินเท้าเรื่องป่าแม่วงก์ แถมคณะผู้สร้างต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุนหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา หนังสารคดีขาวดำเรื่องนี้ได้รับหลายรางวัลในต่างประเทศ น่าจะนำมาฉายกันอีกครั้งในโรงหนังใหญ่ให้สมกับยุคประชาธิปไตยเบิกบาน

หรือใครก็ตามที่เคยได้กระโจนลงสนามต่อสู้เขื่อนน้ำโจน แก่งเสือเต้น ฯลฯ ตลอดจนเขื่อนน้ำมูล เขื่อนราษีไศลที่ปัญหายังไม่จบมาจนถึงทุกวันนี้

ก่อนจะมีจำนวนเป็นพันเมื่อเริ่มเข้ารังสิต และได้กลายมาเป็นมากกว่าหมื่นคนวันอาทิตย์ที่ 22 กันยา เมื่อถึงหน้าหอศิลปกรุงเทพมหานคร ในบ่ายวันที่ 20 กันยา ที่ประตูน้ำพระอินทร์ ขบวนเดินเท้าจากแม่วงก์เพิ่งจะมีประมาณ 200 กว่าคนจากที่เริ่มต้นมีคนเดียว คือ คุณศศิน เฉลิมลาภ เดินออกมาจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เมื่อ 10 กันยา ผ่านจังหวัดต่างๆ เข้าสู่กรุงเทพมหานครใช้เวลาทั้งหมด 13 วัน 388 กิโลเมตร

โซเชียลมีเดีย เป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ไม่ใช่ว่าใครหรือเรื่องอะไรก็สามารถจะ “เรียกแขก” ออกมาได้ราวกับกดปุ่ม การรักษาป่า รักษาสมดุลชีวิตธรรมชาติและชีวิตของสัตว์โลกทั้งที่พูดได้และพูดไม่ได้ ตลอดจนที่พูดได้แต่เสียงดังไม่เท่ากัน มีความหมายทางนิเวศในปัจจุบันที่กินลึกกว้างไกลเรื่องสร้างเขื่อนหรือไม่สร้างเขื่อน

ตั้งแต่เริ่มออกเดินจนถึงเป้าหมาย เขามีเพียง สื่อสังคม เป็นเพื่อน คุณศศินรู้ตัวดีว่าตั้งแต่ออกเดินเท้ามา สื่อกระแสหลักไม่ได้มาติดตามเลย แม้แต่วงวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม วนศาสตร์ นอกจากไม่ค่อยมาสนับสนุน ยังไปร่วมทำรายงานการศึกษาผลกระทบฉบับ “แกล้งโง่” อีกด้วย

วันที่ 20 กันยา คืน พักแรม ณ พิพิธภัณฑ์เกษตร ขณะเย็นย่ำวิทยากรสามคนสลับกันพูด ค่ำนั้นมีกลุ่มคนงาน ในโรงงานแถบนั้นมาร่วมด้วยมากเป็นพิเศษเพราะอยู่ในพื้นที่ อีกทั้งวงดนตรีโฮปขวัญใจของกรรมาชนกรรมาชีพ ได้มาร่วมแสดงดนตรีเป็นกำลังใจ กระนั้น เท้าสองร้อยกว่าคู่ต่อหน้าเราวันพรุ่งก็จะเดินต่อไปในความเงียบๆ

ในมุมหนึ่งของผู้เดินมาแล้วหลายๆ วัน นั่งข้างหน้าเราตั้งใจฟังวิทยากรอยู่ คือ รตยา จันเทียร วัย 82 ปี ผู้เดินเท้าร่วมขบวนมาด้วย ใกล้ๆ กันมี สุนีย์ ไชยรส ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน วัย 60 ปี เชื่อว่าผู้ร่วมเดินวัยเกิน 60 ปี มีอยู่ไม่น้อยจากที่ซักถามและประเมินด้วยตาเปล่า ส่วนใหญ่เป็น วัย 30 ต้นๆ ขึ้นไป วัยหนุ่มสาว และเด็กที่มากับพ่อแม่ เรามีความหวังกับคนหนุ่มคนสาว ย่อมดีกว่าจะไปพยายามชักชวนล้างสมองคนแก่

ต้องยอมรับว่า การเดินเท้าของคุณศศินที่ว่ามาคนเดียว แต่เมื่อมีคนมากขึ้นเรื่อยๆ เข้ามาร่วม ทุกอย่างก็ค่อยๆ จัดการตัวมันเอง คุณศศินเองกล่าวว่า นับจากนั้น “...แค่รับแขกอย่างเดียว วันๆ หนึ่งก็หมดเวลาแล้ว” การจัดการขบวนทั้งในยามเดิน ยามพัก ยามเข้าห้องน้ำตามที่แวะจุดต่างๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน ยามหิวน้ำ หิวข้าว หิวขนม หรือยามหิวส้มตำมะละกอ มะเขือเทศ อินทรีย์ ออแกนิค 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกอย่างทำได้และได้ทำหมดอย่างสะดวกสบาย แสดงว่า นอกจากกลุ่มคนที่มาเดินเท้าได้ ยังมีกลุ่มคนที่ไม่ได้มาเดิน และ กลุ่มคนที่มาเดินด้วยไม่ได้ จะเพราะสาเหตุอะไรก็ตาม พวกเขาได้มา “ร่วม” เดินด้วยการบริหารจัดการส่งน้ำส่งอาหาร จัดที่แวะที่พักให้ตลอดเส้นทางที่เราเห็น จากประตูน้ำพระอินทร์ ถึง พิพิธภัณฑ์เกษตร

มีคำถามหนึ่ง ที่เราผู้ฟังแสนจะกระทบใจ วิทยากรคนหนึ่งปรารภว่า “...หรือเรากำลังชกลม... ก็เดินไปสิ ก็พูดไปสิ ไม่มีใครตอบ...”

และแล้ว ที่หน้าหอศิลปกรุงเทพมหานคร เมื่อคนจำนวนเกินหมื่นพร้อมใจกันออกมาร่วมรับรองเจตจำนงของคุณศศิน เพิ่มลาภ สายลมจึงได้เริ่มพาคำตอบมาให้ในอีก 3 วันต่อมา

แต่คำตอบช่างไม่ตรงคำถาม คือ รัฐบาลจะเรียก เอ็นจีโอ ที่ต่อต้านเขื่อนมาคุย

ประการที่ 1 ทั้งโดยตัวบุคคลและองค์กรที่มีตัวแทนมาเดินเท้าร่วมขบวน เป็นการแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนร่วมกันเท่านั้น ขบวนเดินเท้าครั้งนี้ไม่มีบุคคลใด หรือ องค์กรเอ็นจีโอใดที่จะมีหน้าที่ไปคุยแทนคนทั้งหมดในขบวนได้ สาระสำคัญมีทั้งพิมพ์เป็นเอกสาร ทั้งอ่านให้ฟัง ทั้งนำจดหมายไปยื่น รัฐบาลมีหน้าที่รับไปอ่านและศึกษา สามารถที่จะไปทบทวนศึกษาขั้นตอนต่างๆ ที่ถูกทักท้วง และระงับการเดินหน้าเรื่องการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไปก่อน จนกว่าจะสามารถแสดงรายงานการศึกษาและการตัดสินใจที่แน่นอนอีกครั้ง

หากมีใครหรือองค์กรใดบ้าจี้ ไปร่วมคุยกับรัฐบาลในฐานะตัวแทน ก็จงคิดให้ดีว่าจะมีอนาคตอยู่ต่อไปอีกหรือไม่ในสถานภาพเดิมที่เคยเป็นมา

ประการที่ 2 เป้าแห่งการคัดค้านมิใช่ วิธีบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเขื่อนเป็นเพียงวิธีหนึ่ง ประเด็นคือการรักษาป่า (แม่วงก์) ที่ต้องไม่ถูกนำไปรับใช้รายงานฉบับมั่ว ที่คนฉลาดแกล้งโง่ ทำกันขึ้นมา หมายความว่า วิธีบริหารจัดการน้ำใดๆ แผนใดๆ ที่ตกอยู่ในลักษณะอาการเดียวกับเขื่อนแม่วงก์ รัฐบาลควรจะ “กินปูนร้อนท้อง” อย่างยิ่ง และจัดการระงับเสีย เช่น 1.3 พันล้านงบประมาณสร้างเขื่อนแม่วงก์ และอีก 5 เขื่อนในตะกร้าใบเดียวกันนี้

รัฐบาลต้องให้คำตอบตรงคำถามทุกคำถามที่มีความชอบธรรม แม้จะมีคนถามคนเดียว ไม่ต้องรอให้เท้าน้อยๆ มาพร้อมกันเป็นหมื่นๆ